แนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้คุณค่าตราสินค้า และปัจจัยที่ส่งผลต่อการรับรู้คุณค่าตราสินค้า

นิยาม “ตราสินค้า”

ตราสินค้า ยี่ห้อ (Brand) หมายถึง ชื่อ สัญลักษณ์ และโลโก้ ของผู้ให้บริการ[i]

ตราสินค้า หมายถึง สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อทำให้สินค้ามีความโดดเด่น และต่างไปจากคู่แข่ง เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้บริโภคจะได้รับเมื่อซื้อสินค้าหรือบริการทั้งในด้านที่จับต้องได้ คือ คุณลักษณะและคุณสมบัติของตราสินค้าต่าง ๆ ทางกายภาพของสินค้า บรรจุภัณฑ์ และเครื่องหมายการค้า และสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงสินค้ากับผู้บริโภค เช่น การบอกถึงสถานภาพ และภาพลักษณ์ของผู้ใช้ รวมถึงผู้บริโภคสามารถรับรู้ถึงความน่าเชื่อถือของตัวสินค้านั้น ๆ ได้ และตราสินค้าสามารถสร้างคุณค่าเพิ่ม พร้อมทั้งทำการยกระดับให้กับตัวสินค้านอกเหนือจากคุณสมบัติทางกายภาพของตัวสินค้าเอง[ii]

นิยาม “คุณค่าตราสินค้า”

คุณค่าตราสินค้า (Brand equity) หมายถึง ประโยชน์ คุณสมบัติและเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นของตราสินค้าที่ผู้ใช้บริการตระหนักได้ ได้แก่ การตระหนักรู้ตราสินค้า คุณภาพที่ถูกรับรู้ และการเชื่อมโยงกับตราสินค้า[iii] และวิธีการวัดคุณค่าตราสินค้านั้นมีหลากหลายวิธีแตกต่างกันออกไป ซึ่งการตัดสินใจเลือกว่า จะใช้วิธีใดนั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการนำไปใช้ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้วิธีการนั้น[iv]

คุณค่าตราสินค้าในสายตาของผู้บริโภคทั้งในด้านการรับรู้ (Perception) เช่น การรู้จักในตราสินค้า (Brand Awareness) ความสัมพันธ์กับตราสินค้า (Brand Association) และคุณค่าที่ถูกรับรู้ (Perceived Quality) ตลอดจนในเรื่องของความภักดีต่อตราสินค้านั้น สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็นคุณค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีต่อตราสินค้า และเป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุดของแนวคิดเรื่องตราสินค้า เพราะคุณค่าที่แท้จริงของสินค้าเกิดจากความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีต่อตราสินค้า[v]

นิยาม “การรับรู้คุณค่าตราสินค้า”

การรับรู้คุณค่าตราสินค้า (Brand Equity) หมายถึง การรับรู้คุณค่าของผลิตภัณฑ์จากตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ที่แสดงว่า สินค้านั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สัญลักษณ์ที่เป็นออแกนิก เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น อันจะนำไปสู่การตัดสินใจให้ผู้บริโภคชื่นชอบนึกถึงและมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ จนนำไปสู่การตัดสินใจเลือกซื้อ[vi]

การรับรู้ตราสินค้า หมายถึง ผู้บริโภคสามารถจำแนกผลิตภัณฑ์นั้น ๆ จดจำคุณลักษณะของตราสินค้า และระลึกถึงตราสินค้าของผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ ในลำดับต้น ๆ เกิดเป็นความรู้สึกคุ้นเคย และความประทับใจต่อตราสินค้า[vii]

อาทิตยา ดาวประทีป (2559) กล่าวว่า การรับรู้ตราสินค้า คือ การที่ผู้บริโภคได้รู้จักตราสินค้าที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และสามารถแยกแยะจดจำตราสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ได้ว่า มีลักษณะคุณสมบัติอย่างไร และการที่ผู้บริโภคจดจำตราสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ได้ แสดงถึงว่า ตราสินค้านั้นได้รับการยอมรับ และมีความน่าเชื่อถือ มีคุณภาพที่ดีจนสามรถทำให้ผู้บริโภคจดจำและระลึกถึงตราสินค้านั้นได้เป็นอันดับต้น ๆ[viii]

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการรับรู้คุณค่าตราสินค้า

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการรับรู้คุณค่าตราสินค้า ขนิษฐา วังชุมทอง (2559) กล่าวว่า ควรให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการตลาดแบบบูรณาการและเน้นการจัดกิจกรรมทางการตลาด[ix] ดังต่อไปนี้

  1. กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด ด้านการขายโดยใช้พนักงาน ประกอบด้วย พนักงานขาย กิริยา ท่าทาง สุภาพเรียบร้อย มีการนำเสนอสินค้าน่าสนใจและให้คำแนะนำเกี่ยวกับสินค้าดี ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิพิเศษจากพนักงานขาย และได้รับความสะดวกจากพนักงานขาย
  2. กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด ด้านการจัดกิจกรรมทางการตลาด ได้แก่ การจัดอีเวนท์ การเปิดตัวสินค้าโดยใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง ทำการจัดกิจกรรมโดยให้ลูกค้ามีส่วนร่วม และการจัดให้มีการทดลองใช้สินค้า
  3. กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด ด้านการตลาดโดยตรง ซึ่งเกี่ยวกับการเลือกซื้อสินค้าผ่านทางโทรศัพท์ เว็บไซต์ แคตตาล็อก หรือนิตยสาร วารสารที่ร่วมรายการส่งเสริมการขาย
  4. ภาพลักษณ์ตราสินค้า ด้านบุคลิกภาพของตราสินค้า ได้แก่ ทำให้รู้สึกถึงความทันสมัย มีคุณภาพที่เกินราคา ความคุ้มค่า และความแปลกใหม่
  5. ภาพลักษณ์ตราสินค้า ด้านสินค้า ซึ่งสินค้านั้นมีการออกแบบอย่างสวยงาม มีความสะดวกในการใช้ มีความคงทน และผลิตจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพ
  6. ภาพลักษณ์ตราสินค้า ด้านประเทศผู้ผลิต ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นแหล่งผลิตสินค้าราคาถูก แหล่งผลิตสินค้ามีคุณภาพ ผลิตสินค้าลิขสิทธิ์ และผลิตสินค้าที่มีความทันสมัย

[i] มีนา อ่องบางน้อย. (2553). คุณค่าตราสินค้า ความไว้วางใจ และความพึงพอใจที่มีผลต่อความภักดีต่อตราสินค้า CAT CDMA (แคท ซีดีเอ็มเอ). ปริญญานิพนธ์ บธ.ม. (การตลาด). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

[ii] ฉันท์ชนก เรืองภักดี. (2557). คุณค่าตราสินค้า คุณภาพการบริการ และความไว้วางใจที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ Power Bank ของผู้บริโภคที่ใช้ Smartphone และ Tablet ในกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

[iii] มีนา อ่องบางน้อย. (2553). คุณค่าตราสินค้า ความไว้วางใจ และความพึงพอใจที่มีผลต่อความภักดีต่อตราสินค้า CAT CDMA (แคท ซีดีเอ็มเอ). ปริญญานิพนธ์ บธ.ม. (การตลาด). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

[iv] มีนา อ่องบางน้อย. (2553). คุณค่าตราสินค้า ความไว้วางใจ และความพึงพอใจที่มีผลต่อความภักดีต่อตราสินค้า CAT CDMA (แคท ซีดีเอ็มเอ). ปริญญานิพนธ์ บธ.ม. (การตลาด). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

[v]รัตนา กี่เอี่ยน. (2552). คุณค่าตราสินค้าและปัจจัยทางการตลาดที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ร้าน พัพฟ์ แอนด์ พาย. ภาคนิพนธ์ บธ.ม. (การตลาด). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

[vi] แสงตะวัน เพชรสุวรรณ. (2564). อิทธิพลของการรับรู้คุณค่าตราสินค้า และความไว้วางใจต่อความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

[vii] แสงตะวัน เพชรสุวรรณ. (2564). อิทธิพลของการรับรู้คุณค่าตราสินค้า และความไว้วางใจต่อความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

[viii] อาทิตยา ดาวประทีป. (2559). การรับรู้ตราสินค้าและผู้มีอิทธิพลต่อตราสินค้าบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอางเกาหลีของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร. การค้นคว้าปริญญาบริหารธุรกิจ, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

[ix] ขนิษฐา วังชุมทอง. (2559). ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณค่าในตราสินค้าของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยบูรพา.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *