แนวคิดปัจจัยด้านการรับรู้ และทัศนคติในการดูแลตัวเอง

1. การรับรู้ หรือช่องทางการรับข้อมูลข่าวสาร

  • วิชาญ ปาวัน และคณะ (2560)[i] ศึกษาเรื่อง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารความรู้ และพฤติกรรมการป้องกันโรค และภัยสุขภาพของประชาชนไทย ประจำปี 2559 กล่าวว่า ระบบบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมาก มีการเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทั้งในระดับส่วนกลางจนถึงระดับชุมชน ซึ่งมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ ช่วยดูแล และขับเคลื่อนให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ ในการมีพฤติกรรมป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด
  • บงกช โมระสกุล และพงศิริ พันธสี (2564)[ii] ศึกษาเรื่อง ความรู้และพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด – 19 ของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา และวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด – 19 ผ่านทางออนไลน์ อย่างไรก็ดี สถาบันการศึกษาก็มีการให้ความรู้ และเน้นการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคโควิด – 19 อย่างต่อเนื่อง
  • พรทิพย์ มธุรวาทิน (2564)[iii] กล่าวว่า การรับรู้ข่าวสารจากการประชุมสัมมนา และช่องทางออนไลน์ มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความรู้ความเข้าใจ อาจเป็นเพราะงานประชุมสัมมนานั้น ผู้จัดงานถ่ายทอดความรู้ถูกต้องเหมาะสม และผู้เข้าร่วมมีโอกาสได้สักถามในประเด็นที่ไม่เข้าใจ ในส่วนของช่องทางออนไลน์นั้น อาจเป็นเพราะสามารถสื่อสารข้อมูลได้รวดเร็วมีการอัพเดทอยู่เสมอ และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลได้จากหลายแหล่ง หากเกิดความไม่มั่นใจในความถูกต้อง
  • นักสิทธิ์ ศักดาพัฒน์ (2563 หน้า 40)[iv] ศึกษาเรื่อง ปัจจัยเชิงเหตุแบบบูรณาการทางจิตสังคมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาของนักศึกษาระดับปริญญาตรี กล่าวว่า นักศึกษามีการรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ และสนใจข้อมูลจากสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับการแพร่และป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันข้อมูล และอัพเดทข้อมูลแบบเรียลไทม์ การใช้เครือข่ายทางสังคมในอินเทอร์เน็ต (Social community) เช่น Facebook YouTube Podcasting Online Video Instagram Line Linked in และ Wikis เป็นต้น ทั้งนี้ ผลการศึกษา พบว่า การรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อออนไลน์ เป็นตัวแปรที่สำคัญที่สามารถทำนายพฤติกรรมได้สูงสุด รองลงมา ได้แก่ การเห็นแบบอย่างจากครอบครัว เป็นตัวแปรที่สามารถทำนายพฤติกรรมได้สูงสุดในกลุ่มรวม
  • ฐานิตา พึ่งฉิ่ง และคณะ (2562)[v] ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคติดต่อในนักเรียนจ่าอากาศ กล่าวว่า ปัจจุบันนักเรียนเกือบทุกคนมีสมาร์ทโฟน (Smartphone) แท็บแล็ต (Tablet) หรือคอมพิวเตอร์พกพา จึงสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ทางสุขภาพและมีการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยน ความรู้ ถามตอบในสิ่งที่สงสัยระหว่างกันทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือเครือข่ายทางสังคม (Social network) ผ่านทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น Facebook Line YouTube Twitter เป็นต้น

2. ด้านความรู้

  • ธวัชชัย ยืนยาว ไวยพร พรมวงศ์ และกัลป์ยารัตน์ คาดสนิท (2564)[vi] กล่าวว่า การได้รับการเรียนรู้ในด้านโรคต่าง ๆ ธรรมชาติของโรค อาการของโรค การแพร่กระจายโรค และการป้องกันโรค และมีการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ให้การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 ต้องเปลี่ยนแปลงทัศนะจากกระบวนทัศน์แบบดั้งเดิม (Tradition paradigm) ไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ (New paradigm) ที่ให้โลกของผู้เรียนและโลกความเป็นจริงเป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ที่ไปไกลกว่าการได้รับความรู้แบบง่าย ๆ ไปสู่การเน้นพัฒนาทักษะและทัศนคติ ทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะและค่านิยมทางเทคโนโลยี ทักษะองค์การ ทักษะการสื่อสาร ทัศนคติเชิงบวก นวัตกรรม ความสร้างสรรค์ ความเคารพตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง ความยืดหยุ่น การจูงใจตนเอง และความตระหนักในสภาพแวดล้อม ความสามารถใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งความรู้ (knowledge) เป็นการเรียนรู้ (learning) ซึ่งการเรียนรู้เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมอย่างถาวร และเป็นการเพิ่มพูนความรู้ทักษะความชำนาญ จะมีผลมาจากการฝึกอบรม และการพัฒนาหรือประสบการณ์ในการศึกษา เรื่องทัศนคติ (attitude) จึงเป็นการประเมินผลกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะได้พบเห็นว่า มีความรู้อย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น เช่น ชอบ ไม่ชอบ เฉย ๆ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกบางอย่าง ซึ่งอาจจะแสดงออกมาทั้งในทางบวก และทางลบ หรือเป็นกลางก็ได้ มนุษย์ย่อมมีทัศนคติต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น และจะส่งผลต่อพฤติกรรม โดยอาจกล่าวได้ว่า ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมมีความสัมพันธ์กันหลายแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม เชื่อว่า ทัศนคตดีที่ดีจะทำให้มีพฤติกรรมที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้ได้รับบริการมีความรู้สึก หรือทัศนคติที่ดีด้วยเช่นกัน
  • ณัฎฐวรรณ คำแสน (2564)[vii] กล่าวว่า ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 มีคะแนนเฉลี่ย 9.44 ซึ่งอยู่ในระดับมาก อาจเป็นผลมาจากการให้ข้อมูลข่าวสารจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศบค.) ที่ได้ให้ข้อมูลข่าวสารในทุกช่องทาง รวมถึงข้อมูลข่าวสารในชุมชน จาก อสม. ผู้นำชุมชน หรือนโยบายระดับชาติจากกระทรวงสาธารณสุข
  • กนกวรรณ ช.เจริญยิ่ง (2564)[viii] กล่าวว่า นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นอย่างดี ทำให้นักศึกษาสามารถป้องกันตัวเอง และคนใกล้ชิดให้ห่างไกล และปลอดภัยจากการติดเชื้อได้ รวมถึงสามารถนำความรู้ที่มีอยู่ไปถ่ายทอดให้กับคนที่ยังไม่รู้ และไม่เข้าใจวิธีการป้องกันที่ถูกต้อง
  • พรทิพย์ มธุรวาทิน (2564)[ix] กล่าวว่า คะแนนความรู้ความเข้าใจมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับพฤติกรรมการใช้หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจึงเป็นปัจจัยที่จะส่งเสริมให้มีพฤติกรรมการใช้หน้ากากอนามัยที่ดี และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
  • Azlan, Hamzah, Sern, Ayub, & Mohamand (2020)[x] ได้ศึกษาเรื่องความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ของประชาชนในประเทศมาเลเซีย พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 โรคอยู่ในระดับสูง โดยตอบคำถามได้ถูกต้องร้อยละ 80.50 และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อย ได้แก่ ผู้ที่ติดเชื้อโควิด – 19 ไม่สามารถจะส่งต่อเชื้อไวรัสให้คนอื่นเมื่อไม่มีอาการไข้ (M = .26) สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ตอนต้น ไม่จำเป็นที่ต้องวัดไข้เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 (M = .38) และอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม พบได้น้อยในผู้ที่ติดเชื้อโควิด – 19 ซึ่งอาการเหล่านี้ แตกต่างจากโรคไข้หวัด (M = .54) ซึ่งในข้อเหล่านี้ หากประชาชนยังไม่ทราบ อาจมีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 และก่อให้เกิดการแพร่ระบาดได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนจึงควรเน้นย้ำในประเด็นเหล่านี้ให้มากขึ้น
  • Zhong และคณะ (2020)[xi] ศึกษาเรื่อง ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ของชาวจีน จำนวน 6,910 คน ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด – 19 พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 90 ตอบคำถามเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้ถูกต้อง
  • Hussein, Naquid, Jacksi, and Abdi (2020)[xii] ศึกษาเรื่อง ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ของชาวอิรัก โดยการเก็บข้อมูลแบบสำรวจทางออนไลน์ (online survey) จำนวน 1,959 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75.80 มีความรู้เกี่ยวกับโควิด – 19 อยู่ในระดับดี ตอบถูกต้องประมาณร้อยละ 86.20 ต่ำที่สุด คือ ร้อยละ 67.70 และร้อยละ 69.80 มีความเห็นว่า หน่วยงานในพื้นที่จะควบคุมการติดเชื้อได้สำเร็จ

3. ด้านความรู้สึก (ทัศนคติ)

  • อรอนงค์ วิชัยคำ และคณะ (2561)[xiii] ได้ให้ความหมายว่า ความรู้สึก เป็นส่วนประกอบทางด้านอารมณ์ของบุคคล ซึ่งถูกเร้าขึ้นจากความรู้ ความเข้าใจหรือความคิด ความเชื่อต่อสิ่งต่าง ๆ เมื่อบุคคลมีความรู้ ความเข้าใจ มีความคิด ความเชื่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่อสิ่งนั้นตามความรู้ ความคิด ความเชื่อนั้น ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกที่ดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจต่อสิ่งนั้น เป็นความรู้สึกได้ทั้งทางบวกและทางลบ
  • ภัทรนุช วิทูรสกุล และคณะ (2564)[xiv] กล่าวว่า เมื่อครูหรือผู้ดูแลมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองในการป้องกันการติดเชื้อโควิด – 19 ทั้งในเรื่องการจัดพื้นที่และจัดหาอุปกรณ์สำหรับการตรวจคัดกรองการจัดการสิ่งแวดล้อมในศูนย์ให้เป็นพื้นที่ปลอดเชื้อโควิด – 19 การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด – 19 การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีในการป้องกันโควิด – 19 จึงส่งผลให้มีพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อโควิด – 19 ในศูนย์เด็กเล็กอยู่ในระดับมาก
  • กนกวรรณ ช.เจริญยิ่ง (2564)[xv] กล่าวว่า นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง ค่อนข้างมีความรู้สึกกลัวที่จะติดเชื้อจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งความกลัวเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาจากจิตใจสำนึกได้ อย่างไรก็ตาม การมีสติยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้ว่า จะมีความกลัวเกิดขึ้นในจิตใจมากเท่าใด หากยังมีสติคิดทบทวน ไม่ตื่นตระหนกไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น จะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้
  • Zhong และคณะ (2020)[xvi] ศึกษาเรื่อง ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ของชาวจีน จำนวน 6,910 คน ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด – 19 พบว่า ร้อยละ 97.10 มีความเชื่อมั่นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจะสามารถลดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้จากการปฏิบัติตามนโยบายป้องกันการติดเชื้อ                             
  • Hussein, Naquid, Jacksi, and Abdi (2020)[xvii] ศึกษาเรื่อง ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ของชาวอิรัก โดยการเก็บข้อมูลแบบสำรวจทางออนไลน์ (online survey) จำนวน 1,959 คน พบว่า ร้อยละ 86.70 แสดงความมั่นใจว่า รัฐบาลภูมิภาคเคอร์ดิสถานจะสามารถควบคุมการระบาดได้

[i] วิชาญ ปาวัน, กรัณฑรัตน์ บุญช่วยธนาสิทธิ์, จักรกฤษณ์ พลราชม และมาสริน ศุกลปักษ์. (2560). ศึกษาเรื่อง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารความรู้ และพฤติกรรมการป้องกันโรคและภัยสุขภาพของประชาชนไทย ประจำปี 2559. วารสารวิจัยทางวิทยาศาสตร์, 11(1), 70-9.

[ii] บงกช โมระสกุล และพงศิริ พันธสี. (2564). ความรู้และพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด – 19 ของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา และวิทยาลัยเซนต์หลุยส์. วารสารศูนย์อนามัยที่ 9, 15(37), 179-195.

[iii] พรทิพย์ มธุรวาทิน. (2565). ความรู้ความเข้าใจของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ในเรื่องการใช้หน้ากากอนามัยให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่.

[iv] นักสิทธิ์ ศักดาพัฒน์. (2563). ปัจจัยเชิงเหตุแบบบูรณาการทางจิตสังคมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาของนักศึกษาระดับปริญญาตรี. วารสารพฤติกรรมศาสตร์, 27(2), 39-62.

[v] ฐานิตา พึ่งฉิ่ง และพรศิริ พันธสี. (2562). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคติดต่อในนักเรียนจ่าอากาศ. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ.

[vi] ธวัชชัย ยืนยาว, ไวยพร พรมวงศ์ และกัลป์ยารัตน์ คาดสนิท. (2564). ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19). วารสารวงการแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี, 29(2), 204–213.

[vii] ณัฎฐวรรณ คำแสน. (2564). ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ของประชาชนในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี, 4(1), 33-48.

[viii] กนกวรรณ ช.เจริญยิ่ง. (2564). ทัศนคติต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง. (ภาคนิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง).

[ix] พรทิพย์ มธุรวาทิน. (2565). ความรู้ความเข้าใจของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ในเรื่องการใช้หน้ากากอนามัยให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่.

[x] Azlan, A. A., Hamzah, M. R., Sern, T. J., Ayub, S. H., & Mohamand, E. (2020). Public knowledge, attitudes, and practices towards COVID-19: A cross-sectional study in Malaysia. PLOS ONE, 15(5), e0233668. DOI: 10.1371/journal.pone.0233668.

[xi] Zhong, B. L., Luo, W., Li, H. M., Zhang, Q. Q., Liu, x. G., Li, W. T., & Li, Y. (2020). Knowledge, attitudes, and practices towards COVID-19 among Chinese residents during the rapid rise period of the COVID-19 outbreak: A quick online cross-sectional survey. International Journal of Biological Sciences, 16(10), 1745-1752. Doi: 10.7150/ijbs.45221.

[xii] Hussein, N. R., Naqid, I. A., Jacksi, K., & Abdi, B. A. (2020). Assessment of knowledge, attitudes, and practices toward COVID-19 virus among university students in Kurdistan region, Iraq: Online cross-sectional study. Journal of Family Medicine and Primary Care, 9(9), 4809-4814. Doi: 10.4103/jumps.jfmpc_870_20.

[xiii] อรอนงค์ วิชัยคำ, กุลวดี อภิชาตบุตร และอภิรดี นันท์ศุภวัฒน์. (2561). ทัศนคติของบุคลากรสุขภาพต่อการให้บริการสุขภาพแก่คนต่างด้าวและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[xiv] ภัทรนุช วิทูรสกุล, ชญาภา ชัยสุวรรณ และสมสิริ รุ่งอมรรัตน์. (2564). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อโควิด – 19 ของครูและผู้ดูแลในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก. วารสารพยาศาสตร์, 39(4), 41-54.

[xv] กนกวรรณ ช.เจริญยิ่ง. (2564). ทัศนคติต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง. (ภาคนิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง).

[xvi] Zhong, B. L., Luo, W., Li, H. M., Zhang, Q. Q., Liu, x. G., Li, W. T., & Li, Y. (2020). Knowledge, attitudes, and practices towards COVID-19 among Chinese residents during the rapid rise period of the COVID-19 outbreak: A quick online cross-sectional survey. International Journal of Biological Sciences, 16(10), 1745-1752. Doi: 10.7150/ijbs.45221.

[xvii] Hussein, N. R., Naqid, I. A., Jacksi, K., & Abdi, B. A. (2020). Assessment of knowledge, attitudes, and practices toward COVID-19 virus among university students in Kurdistan region, Iraq: Online cross-sectional study. Journal of Family Medicine and Primary Care, 9(9), 4809-4814. Doi: 10.4103/jumps.jfmpc_870_20.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *