ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเครียด และการจัดการความเครียดจากการเรียน

ความเครียด หมายถึง เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย จิตใจ ความคิด และพฤติกรรมของบุคคลที่มีต่อสิ่งเร้าทั้งภายในและภายนอกต่อความกดดันจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือกดดันมากเกินไป ทำให้เกิดความทุกข์ใจและไม่สบายใจ ทำให้บุคคลต้องมีการปรับตัว เพื่อรักษาสมดุลของตนเองไว้ และหากไม่สามารถต่อสู้กับความกดดันนั้นได้ หากเกิดความเครียดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ส่งผลให้เกิดความเสียสมดุลในการดำเนินชีวิตในสังคมได้

การจัดการความเครียด หมายถึง การกระทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เพื่อการผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้นจาก ความไม่สมดุลของสภาวะทางร่างกายและจิตใจ ที่เกิดผลกระทบจากสิ่งเร้าที่ไม่ต้องการ ทั้งจากภายใน และภายนอกร่างกาย

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเครียด และการจัดการความเครียดจากการเรียนของนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีหลายปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งทำให้เกิดความเครียดและส่งผลกระทบต่อการเรียน ประกอบด้วย ปัจจัย 8 ด้าน ดังนี้

  1. การปรับตัว เป็นกระบวนการที่บุคคลใช้ความพยายามในการปรับตนเอง เมื่อต้องเผชิญกับสภาพปัญหาความอึดอัดใจ ความคับข้องใจ ความทุกข์ใจ ความวิตกกังวลต่าง ๆ จนเป็นสภาพการณ์ที่บุคคลนั้น ๆ สามารถอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมหรือสภาพปัญหานั้น ๆ ได้ ถ้าบุคคลปรับตัวแล้วสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมได้อย่างมีความสุข ส่งผลให้บุคคลนั้นมีสุขภาพจิตดี แต่หากว่าบุคคลปรับตัวแล้วยังมีความทุกข์ใจ ว้าวุ่นใจ ไม่สบายใจ ความรู้สึกดังกล่าวย่อมจะทำให้บุคคลนั้น กลายเป็นบุคคลที่มีสุขภาพจิตไม่ดี
  2. ความคับข้องใจ เกิดจากความขัดแย้งภายในใจ และความกดดัน ทำให้บุคคลที่เกิดความคับข้องใจต้องตัดสินใจดำเนินการแก้ไข รวมถึงการไม่ได้การตอบสนองกับเป้าหมายที่ตนเองคาดหวังไว้
  3. ความวิตกกังวล เป็นลักษณะอาการทางอารมณ์ที่เกิดกับเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่คาดว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์อย่างนี้อย่างนั้นเกิดขึ้น อาจเกิดขึ้นเป็นจริงตามนั้นหรืออาจไม่เกิดตามที่คิดคาดฝันไว้ต่อได้
  4. ความกดดัน เป็นสภาวะของความรู้สึกทางจิตใจที่ถูกกดหรือถูกบีบบังคับ ทำให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างจากความรู้สึกปกติ โดยทั่วไป เป็นจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อตอบสนองความกดดันที่เกิดขึ้นนั้น
  5. ความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามกธรรมชาติระหว่างบุคคลที่มีความประสงค์และจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน เมื่อต้องทำการความสนใจที่จะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่ทางเลือกนั้นอาจจะเป็นด้วยการเต็มใจเลือกหรือจำใจเลือก และยังมีความขัดแย้งระหว่างบุคคลซึ่งเป็นสถานการณ์ที่การกระทำของฝ่ายหนึ่งไปขัดขวางสกัดกั้นการทำของอีกฝ่ายหนึ่งที่จะไม่ให้บรรลุเป้าหมาย
  6. ความเชื่อมั่น เป็นคุณลักษณะที่ช่วยให้คนเราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ ช่วยให้คนเรามีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิดกล้าแสดงออก ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความมั่นใจ ยอมรับผลที่เกิดขึ้นด้วยความพอใจและภาคภูมิใจสามารถเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ และแก้ปัญหาด้วยความรู้สึกที่มั่นคง
  7. ความคาดหวัง เป็นความรู้สึกนึกคิด หรือความคิดเห็นด้วยวิจารณญาณเกี่ยวกับการคาดคะเนหรือคาดการณ์ล่วงหน้าถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าควรจะมี ควรจะเป็นหรือควรจะเกิดตามความเป็นความเหมาะสมต่อสถานการณ์หรือการที่บุคคลรับรู้ถึงการปฏิบัติที่เหมาะสมตามบทบาทของตนเอง และรับรู้ถึงบทบาทของบุคคลอื่นและคาดหวังจะเป็นตัวบอกว่า บุคคลจะต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่ออยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ
  8. ขวัญและกำลังใจ สภาพจิตใจของบุคคลที่ก่อให้เกิดกำลังใจ ทัศนคติและความพึงพอใจ ซึ่งจะก่อให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานในความรับผิดชอบของคน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของกลุ่มที่วางไว้ ซึ่งมีทั้งในแง่บวกและแง่ลบ เราจะสังเกตสภาพของขวัญกำลังใจจากพฤติกรรมในการเรียน โดยถ้านักเรียนมีความมุ่งมั่นและตั้งใจเรียน มีสมาธิและการเรียน ย่อมมีผลการเรียนที่ดี แต่ถ้าผลการเรียนตกต่ำ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงสภาพขวัญและกำลังใจของนักเรียนไม่ดี จะต้องรีบแก้ไขปัญหาและอุปสรรคนั้นโดยเร่งด่วน

อาซาน ตนย่าหมัด และเกษตรชัย และหีม. (2556). ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเครียดและการจัดการความเครียดของนักเรียน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา. บทความวิจัย เสนอในการประชุมหาดใหญ่วิชาการครั้งที่ 4 วันที่ 10 พฤษภาคม 2556.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *