เหตุใดจึงต้องสนับสนุนเพศวิถีในเชิงบวกและรอบด้าน

แนวทางการดำเนินงานด้านเพศวิถี (sexuality) มีอยู่หลากหลายด้วยกัน แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุดนั้นเป็นแนวทางที่อยู่บนฐานของมุมมองด้าน “สุขภาพ” และ “การป้องกันความรุนแรง” อันเป็นจุดเริ่มต้นที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการปฏิบัติงานด้านเพศวิถี ซึ่งเป็นเรื่องที่ถกเถียงขัดแย้งในสังคมอนุรักษ์นิยมหลายแห่ง ทว่าวิธีคิด และมุมมองทั้งสองนั้นมีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง (เพื่อเสริมสร้างสุขภาพ หรือเพื่อป้องกันความรุนแรง) จึงมีข้อจำกัด และไม่สามารถนำมาใช้กับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศวิถีได้ทั้งหมด ดังนั้น เราจึงต้องการวิธีคิดที่เน้น และสนับสนุน (affirm) เพศวิถีในเชิงบวก และรอบด้าน

ทำไมแนวทางการทำงานที่เน้นด้านสุขภาพและการป้องกันความรุนแรงจึงมีข้อจำกัด

แนวทางการทำงานที่อยู่บนฐานเรื่องสุขภาพมีแนวโน้มที่จะลดทอนเรื่องเพศวิถีให้เหลือเพียงมิติทางชีววิทยา เนื่องจาก แนวคิดดังกล่าวนั้นให้ความสนใจที่ตัวสุขภาพเป็นหลัก จึงละเลยมิติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องทางชีววิทยาหรือทางกาย และละเลยแง่มุมอื่น ๆ ของเพศวิถีอย่างความปรารถนาและจินตนาการ รวมไปถึงเพศภาวะ (gender) และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ควบคุมการแสดงออกทางเพศ และทางเพศภาวะ การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้แปลว่า ร่างกายนั้นไม่สำคัญ แต่ต้องการที่จะนำเสนอให้เห็นว่า “เพศวิถี” เป็นอะไรที่มากกว่าเพียงเรื่องเพศ (sex) เท่านั้น

สำหรับแนวทางการทำงานบนฐานเรื่องการป้องกันความรุนแรงนั้นเน้นพิจารณาด้านลบของเพศวิถีและอาจจะกลายเป็นแนวทางที่ปกป้องผู้หญิงมากเกินไป แทนที่จะเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง แนวทางนี้มักจะลงเอยด้วยการปกป้องคุ้มกันผู้หญิง และปฏิบัติต่อผู้หญิงราวกับว่า พวกเธอไม่มีอำนาจของตนเอง กระนั้นก็ตาม เราต้องยอมรับว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในหลายประเทศได้เริ่มทำงานด้านเพศวิถีในประเด็นต่าง ๆ ด้วยงานด้านการป้องกันความรุนแรงต่อผู้หญิง

แล้วอะไรคือทางเลือก กรอบแนวคิดรับรอง/สนับสนุนแบบรอบด้าน (affirmative framework) เรื่องเพศวิถีจะมีมุมมองต่อเรื่องเพศวิถีในด้านบวก ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สามารถให้ความสนุกสนานตื่นเต้น ความสุขการผ่อนคลาย ก่อให้เกิดความสนิทสนม และความสุขทุกรูปแบบที่เพศวิถีให้ได้ แต่เนื่องจาก เพศวิถีก็มีด้านมืด ดังนั้น กรอบแนวคิดดังกล่าวจึงพยายามที่จะป้องกัน และจัดการกับปัญหาต่าง ๆ เช่น การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรง อันเป็นสภาพที่พบได้จริงในชีวิตทางเพศของใครหลาย ๆ คน อาทิเช่น คนที่ไม่ปฏิบัติตามจารีตธรรมเนียมทางเพศภาวะ และเพศวิถี ผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ และผู้ชายบริการทางเพศ ผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ และผู้ขายบริการทางเพศ แนวทางซึ่งมองว่า เพศวิถีเป็นส่วนหนึ่ง และมีคุณค่าต่อชีวิตมนุษย์นี้ได้นำไปสู่การเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน โดยมองว่า ในเมื่อสิทธิของผู้หญิง และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์นั้นเป็นสิทธิมนุษยชน สิทธิทางเพศ (sexual rights) ก็ควรจะถูกถือว่า เป็นสิทธิมนุษยชนเช่นกัน ลักษณะเช่นนี้ได้สะท้อนให้เห็นผ่านการแสดงออกทางด้านสิทธิทางเพศที่กำลังมีพัฒนาการขึ้นมา อันรวมถึงสิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกบังคับขู่เข็ญ และถูกกระทำความรุนแรงและสิทธิที่อยู่บนพื้นฐานของหลักจริยธรรมเชิงบวก เช่น เรื่องบูรณภาพทางร่างกาย (bodily integrity) ที่ถือว่า ร่างกายเป็นของฉัน (my body is mine) ความเป็นบุคคล (personhood) ซึ่งถือว่า ทุกคนมีสิทธิในการตัดสินใจเลือกโดยตัวเอง ความเท่าเทียมกันระหว่างและในกลุ่มของผู้ชาย – ผู้หญิง – และคนข้ามเพศ (transgender) รวมทั้งการเคารพในความหลากหลาย (อันเนื่องจาก บริบททางวัฒนธรรม โดยที่หลักการสามประการแรกจะต้องไม่ถูกละเมิด)

กรอบแนวคิดเชิงบวก และรอบด้านได้ใช้หลักการเรื่องการยินยอม (principle of consent) ในการตัดสินว่า พฤติกรรมทางเพศที่ยอมรับได้เป็นอย่างไร มากกว่าที่จะอิงกับเรื่องของการแต่งงาน หรือให้กำเนิดบุตร กล่าวโดยง่าย ๆ การยินยอม หมายถึง การยอมรับที่จะเข้าร่วมกิจกรรมหนึ่ง ๆ ด้วยความเต็มใจโดยมีอิสระในการเลือกด้วยตัวเอง และรู้ถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจเลือกหรือจากการกระทำนั้นอย่างเพียงพอ กรอบแนวคิดนี้ยังมีมุมมองว่า คนเราแต่ละคนนั้นต่างมีการให้ความหมายของตัวเองต่อกิจกรรมทางเพศต่าง ๆ บางคนอาจมองว่า เป็นเรื่องของความสุนทรียะทางเพศ แต่บางคนอาจมองว่า เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจเหลือหลาย ซึ่งหมายความว่า ทัศนคติแบบตัดสินผิดถูกต่อเพศภาวะ และการแสดงออกทางเพศที่เป็นการปฏิบัติด้วยความสมัครใจนั้นเป็นความรุนแรงในตัวของมันเอง และตัวมันเองก็เป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง

นอกจากนี้ เนื่องจาก มุมมองนี้เห็นว่า ความยินยอมเห็นชอบ และทางเลือกเป็นของทุกคนไม่ใช่เพียงแค่คนไม่กี่คน มันจึงกระตุ้นให้มีการทำงานกับกลุ่มคนต่าง ๆ ที่เดิมถูกละเลย เช่น หากเรายอมรับว่า ผู้ทุพพลภาพนั้นก็มีความรู้สึกทางเพศ เราก็รวมพวกเขาเข้ามาในโครงการจัดการศึกษาเรื่องเพศวิถี และโครงการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และสุขภาวะทางเพศได้ และหากเราสามารถเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างการขายบริการทางเพศกับการค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และเชื่อว่า การขายบริการทางเพศนั้นเป็นเรื่องของอาชีพหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของ การแสวงหาผลประโยชฯเสมอไป เราก็คงไม่สละพลังงานไปกับความพยายามที่จะ “ช่วยเหลือ” หรือ “ฟื้นฟู” พวกเขาด้วยวิธีการที่ไร้ความหมาย และหยามเกียรติแทนที่จะทำสิ่งเหล่านี้ เราจะทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ และถ้าหากเราใช้เรื่องความยินยอมเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า สิ่งใดเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เราก็จะสามารถทำงานกับ และทำงานเพื่อบุคคลที่ชอบเพศเดียวกัน ผู้หญิงที่แต่งงาน และถูกข่มขืนโดยคู่สมรสของตนก็สามารถหยิบประเด็นนี้ไปทำงานได้ ส่วนคนที่เลือกที่จะเป็นโสดก็สามารถเลือกวิถีทางเพศของตนเองได้ รวมถึงการนำแนวทางนี้ไปใช้กับกลุ่มอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

เราจะนำกรอบแนวคิดเชิงบวกและรอบด้านมาใช้ในงานวิจัยการกำหนดนโยบาย การให้บริการ และการดำเนินโครงการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้อย่างไร

ตัวแปรต่าง ๆ เช่น การแสดงออกทางเพศภาวะ สถานภาพ สมรส รสนิยมทางเพส อายุ สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ความยากจน ชนชั้น และศาสนา ต่างเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการมีอภิสิทธิ์ และการเลือกปฏิบัติ ตัวแปรดังกล่าวไม่เพียงแต่จะมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน หากยังสัมพันธ์กับเรื่องเพศวิถีด้วย ในกรอบแนวคิดแบบรับรอง/สนับสนุนเรื่องเพศวิถีแบบรอบด้านนั้น เราต้องมองว่า คนคนหนึ่งมีชีวิตในหลายมิติด้วยกัน เช่น ในด้านหนึ่งเขาอาจมีอภิสิทธิ์ แต่ในด้านอื่น ๆ เขาอาจถูกเอารัดเอาเปรียบ อาทิเช่น เยาวชนที่เป็นหญิงรักหญิงซึ่งนับถือศาสนาที่เป็นคนกลุ่มน้อยนั้น อาจจะเป็นคนด้อยโอกาสเนื่องมาจาก ปัจจัยด้านอายุ รสนิยมทางเพศ เพศภาวะ สถานภาพสมรส และศาสนาของตน และอาจไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาวะทางเพศแบบเดียวกับกลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และนับถือศาสนาของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แนวทางการทำงานเชิงบวกและรอบด้านนั้นอยู่บนฐานของหลักการเรื่องบูรณภาพทางร่างกาย ความเป็นบุคคล ความเสมอภาค และการเคารพความหลากหลาย แนวทางนี้ ตระหนักว่า การแสดงออกทางเพศ และเพศภาวะมีหลากหลายรูปแบบ จึงเป็นแนวทางที่ครอบคลุมถึงคนทุกคน ในภูมิภาคของเรามีวิธีการแสดงออกถึงเพศภาวะ และอัตลักษณ์ทางเพศในลักษณะที่น่าตื่นตา และหลากหลายอย่างยิ่ง เป็นวิธีการแสดงออกที่ท้าทายการแบ่งคนออกอย่างง่าย ๆ เป็นเพียงเพศชาย – เพศหญิง หรือคนรักเพศเดียวกัน – คนรักต่างเพศอย่างที่เป็นอยู่ โดยจะเห็นได้จากคำว่า “warias” ในอินโดนีเซีย “metis” ในเนปาล “kothis” “aravanis” หรือ “hijras” ในอินเดีย “baklas” ในฟิลิปปินส์ และ “mak nyahs” ในมาเลเซีย และอัตลักษณ์ความเป็นทอม – ดี้ที่หยั่งรากลึกมานานในกลุ่มผู้หญิงที่มีความปรารถนาเพศเดียวกันในประเทศจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ประเด็นด้านอายุ ซึ่งในกรอบแนวคิดเชิงบวก และรอบด้านนั้น จะมองว่า ไม่เพียงเฉพาะคนในวัยเจริญพันธุ์เท่านั้นที่ควรมีโอกาสเข้าถึงบริการ การศึกษา และการผลักดันนโยบาย ด้านสุขภาวะทางเพศ ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยจะต้องมีวิธีการมองประเด็นเพศวิถีที่รอบด้านมากกว่าเรื่องความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติ (knowledge, attitude, practices – KAP) อย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ในโครงการวิจัยเรื่อง The Safe Passages to Adulthood (การเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่ที่ปลอดภัย) ซึ่งเป็นโครงการด้านสุขภาวะทางเพศของเยาวชนในประเทศยากจน ได้มีการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อสุขภาวะทางเพศของเยาวชน รวมถึงปัจจัยที่ถือได้ว่า เป็น “จุดแข็ง” ของเยาวชนด้วย

ในด้านนโยบายนั้น กรอบแนวคิดเชิงบวกและรอบด้าน จะช่วยทำให้เรามั่นใจได้ว่า นโยบายต่าง ๆ จะสามารถส่งเสริมสิทธิของประชาชนได้ ผู้กำหนดนโยบายจะต้องมีความอ่อนไหวต่อเรื่องการแสดงออกทางเพศ และเพศภาวะ ในประเทศอินเดียและประเทศอื่น ๆ อีกเจ็ดประเทศในภูมิภาคนั้นยังคงมีกฎหมายมาตรา 377 ซึ่งตกทอดมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ที่ถือว่า “การร่วมเพศแบบผิดธรรมชาติ” เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายนี้ทำให้ “hijras” และชายรักชายถูกคุกคามและกดขี่ เครือข่าย “Voices Against 377” (เสียงต้าน 377) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของกลุ่มต่าง ๆ ในกรุงเดลีกำลังเคลื่อนไหวกดดันให้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายนี้ ส่วนการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในระดับภูมิภาคที่พอจะเป็นความหวังได้นั้นเกิดขึ้นที่ฮ่องกง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 โดยการลดอายุของชายรักชายหรือหญิงรักหญิงที่กฎหมายอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์แบบยินยอมพร้อมใจได้ ในปี พ.ศ. 2548 William Leung ซึ่งเป็นชายรักชายในฮ่องกงได้ท้าทายกฎหมายที่กำหนดให้เพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น จากความยินยอมระหว่างชายกับชายอายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 21 ปีเป็นความผิด ในขณะที่อนุญาตให้คนรักต่างเพศอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปนั้นมีเพศสัมพันธ์ได้ กฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) ของฮ่องกงระบุว่า ประชาชนทุกคนต้องไปรับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันตามกฎหมาย และมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น ประเด็นจึงไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิของชายรักชาย หรือสิทธิที่จะมีเพศสัมพันธ์ หากยังเป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในความเท่าเทียม และความเป็นส่วนตัว

แล้วแนวคิดนี้มีความหมายอย่างไรต่องานให้บริการที่ทำกันอยู่ เราจะแปลงแนวคิดนี้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร มีโครงการด้านเพศวิถีที่ทำงานตามแนวทางการรับรองและสนับสนุนสิทธิในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากมาย เช่น โครงการ Aahung ในปากีสถาน มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ในประเทศไทย Likhaan และสมาคมละครเวทีเพื่อการศึกษาแห่งฟิลิปปินส์ (Philippines Educational Theatre Association) ในประเทศฟิลิปปินส์ The Pink Triangle Foundation และ Sisters in Islam ในประเทศมาเลเซีย องค์กรเหล่านี้ทำงานกับกลุ่มคนต่าง ๆ และดำเนินงานหลายด้านทั้งการดูแลสุขภาพ การตีความหลักคำสอนทางศาสนา การทำกิจกรรมกลุ่ม สื่อการศึกษา การประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมเชิงรุก

กระนั้น ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกหลายประการ เราต้องมีการบริการมากขึ้นให้แก่กลุ่มเยาวชนที่ถูกละเลย หญิงรักหญิง และกลุ่มคนที่ปรารถนาเพศเดียวกันอื่น ๆ ซึ่งอาจยังไม่มีชื่อเรียกกลุ่มตัวเอง ชนพื้นเมืองดั้งเดิมและผู้หญิงชนบท ผู้ทุพพลภาพ รวมทั้งคนรักต่างเพศทั่ว ๆ ไป ซึ่งมักถูกละเลยเพราะถูกมองว่า เป็น “คนปกติ” ให้นอกเหนือไปจากการตกเป็น “กลุ่มเป้าหมาย” ของการทำงานเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งไม่ได้ใส่ใจแง่มุมเรื่องความสุขด้านเพศวิถี เราจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ เพราะการรับรอง/สนับสนุนสิทธิเรื่องเพศวิถีนั้นเป็นการทำเพื่อทุกคนไม่ใช่แค่เพื่อบางคนที่ถูกเลือกมาเท่านั้น ผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งได้สรุปเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้อย่างสมบูรณ์ในงานประชุมใน The Regional Consultation on Affirming Sexuality” ซึ่งจัดขึ้นโดย ศูนย์ข้อมูลเรื่องเพศวิถีแห่งเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The South and Southeast Asia Resource Centre on Sexuality) ว่า “การรับรอง/สนับสนุนเรื่องเพศวิถี คือ การยืนยันการมีอยู่ของชีวิต”[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ โดย Radhika Chandiramani ผู้อำนวยการบริหารกลุ่มพูดคุยเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ จาก http://arrow.org.my/wp-content/uploads/2015/04/AFC-Vol.13-No.-2-2007_Affirmative-Sexuality_Thai.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *