เศรษฐกิจการค้าของประเทศอินเดีย

เดิมอินเดียใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่เน้นการพึ่งพาตนเอง โดยรัฐบาลกลางจะเป็นผู้ลงทุนในกิจการหลัก ๆ ของประเทศทั้งหมด ได้แก่ กิจการสาธารณูปโภคและสวัสดิการของประชาชน กิจการที่เป็นยุทธศาสตร์ และความมั่นคงของประเทศ และอุตสาหกรรมหนัก แต่ก็ให้ความสำคัญในการสนับสนุนกิจการขนาดเล็กของเอกชน

ในด้านการค้าอินเดียจำกัดและห้ามนำเข้าสินค้าด้วยมาตรการกฎหมายและกำแพงภาษี นอกจากนี้ ยังควบคุมการลงทุนอย่างเข้มงวด ต่อมาอินเดียเริ่มผ่อนคลายมาตรการข้อจำกัดลง เนื่องจาก ผลกระทบจากวิกฤติการณ์น้ำมัน และภาวะวิกฤตต่าง ๆ ซึ่งทำให้ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2534 ทำให้อินเดียต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตามเงื่อนไขการกู้เงินของ IMF โดยประกาศนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป และกำหนดมาตรการที่สำคัญ เช่น ลดการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐ ลดการอุดหนุนส่งออกและข้อจำกัดการนำเข้า และตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และระบบขนส่งให้ทันสมัยเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น

อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่การทำเกษตรแบบโบราณ การเกษตรสมัยใหม่ การหัตถกรรม อุตสาหกรรมยุคใหม่ไปจนถึงธุรกิจบริการ (ซอฟต์แวร์และการธนาคาร) ธุรกิจบริการเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้กับประเทศอินเดีย โดยมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตของประเทศ

สำหรับในด้านแรงงาน พบว่า ประมาณ 1 ใน 3 อยู่ในภาคบริการ ในขณะที่กว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานในประเทศอยู่ในภาคเกษตร เป็นผลให้รัฐบาลต้องเน้นนโยบายส่งเสริมพัฒนาชนบทในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชนบทที่ยากจน และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ห่างไกล

ปัจจุบันรัฐบาลได้ผ่อนคลายกฎระเบียบการค้าการลงทุนของต่างชาติลง พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนการเข้าไปลงทุนโดยตรงของต่างชาติในสาขาต่าง ๆ เช่น ในสาขาโทรคมนาคม เป็นต้น เพื่อเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การปกป้องในสาขาเกษตรยังคงมีอยู่สูงก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของสินค้าจากต่างประเทศ

แม้ว่า เศรษฐกิจโลกจะพบกับการชะลอตัว แต่เศรษฐกิจอินเดียก็ยังมีการขยายตัว เหตุผลสำคัญเบื้องหลัง คือ อินเดียมีตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนั้น จุดแข็งสำคัญของอินเดีย คือ การมีประชาชนที่มีการศึกษาดี และพูดภาษาอังกฤษได้เป็นจำนวนมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกซอฟต์แวร์ชั้นนำ รวมถึงแรงงานด้านซอฟต์แวร์ด้วย

อินเดียมีความเจริญก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา โดยมีบริษัทผู้ส่งออกซอฟต์แวร์ที่สำคัญ ได้แก่ Infosys Technologies (INFY.BO), Tata Consultancy Services (CS.BO) และ Wipro (WIPR.BO)

ทั้งนี้ เพราะประเทศอินเดียมีประชากรถึงร้อยละ 6 ที่มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีการศึกษาดีในระดับนานาชาติ และอินเดียมีสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพสูงที่เน้นการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยรัฐบาลอินเดีย เห็นว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นั้น นอกจาก จะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีมลภาวะแล้ว ยังเป็นการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย ซึ่งมีการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำและมีมูลค่าเพิ่มในการส่งออกที่สูงมาก ประกอบกับการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐทั้งระดับรัฐบาลกลาง และในรัฐบาลท้องถิ่นด้วย จึงมีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะของภาครัฐที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการพัฒนาการส่งออกซอฟต์แวร์ คือ Software Technology Parks of India (STPI)

โดยรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) เป็นรัฐที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสูงที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะที่เมืองบังกาลอร์ (เปลี่ยนชื่อเป็นเบงกาลูลู) ซึ่งเป็นเมืองหลวง ได้ชื่อว่าเป็น Silicon Valley ของอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีบริษัทชั้นนำกว่า 30 บริษัท และเป็นเมืองที่ดีที่สุดสำหรับการเป็นศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (call centers) เป็นศูนย์รวมสำนักงานสาขานอกประเทศ (offshore ofces) และศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทใหญ่ ๆ หลายบริษัท อาทิ General Electric Intel และ General Motors

ในขณะเดียวกัน การเติบโตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปยังเมืองต่าง ๆ ด้วย เช่น เมืองเจนไน ในรัฐทมิฬนาฑู และเมืองกัลกัตตาในรัฐเบงกอลตะวันตก รวมทั้งเมืองไฮเดอราบัคและเมืองปูเน เป็นต้น โดยรัฐเหล่านี้มีกำลังคน และแรงงานที่มีความสามารถในด้านเทคโนโลยีสูง ประกอบกับรัฐบาลของรัฐท้องถิ่นต่าง ๆ ได้ทุ่มเทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับความเติบโตด้านนี้อย่างเอาจริงเอาจังด้วย นอกจากนั้น ความเจริญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่เรียกว่า ITes (IT enabled services) ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการขยายตัวในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของอินเดียที่กำลังเติบโตในเมืองใหญ่ต่าง ๆ ที่กล่าวมาอย่างมีนัยสำคัญ (เนื่องจาก บุคลากรในสาขา IT มีกำลังซื้อสูง)

โดยตลาดอสังหาริมทรัพย์มีอัตราการโตเฉลี่ยร้อยละ 35 ต่อปี และพบว่า ร้อยละ 70 ของการขยายตัวของอาคารสำนักงานเป็นการเช่า/ซื้อของบริษัท IT และ ITes ทั้งของอินเดียและต่างชาติ นับตั้งแต่วิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาลามเข้าสู่เอเชียและอินเดีย รัฐบาลอินเดียกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในตลาดที่มีประชากรกว่า 1,200 ล้านคน และเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจอินเดียซึ่งชะลอตัวลงอย่างหนัก โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศทั้งภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสินเชื่อตึงตัวจากแหล่งเงินกู้ในต่างประเทศและตลาดหลักทรัพย์ของอินเดียเอง

ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียยังมีข้อจำกัด เนื่องจาก ขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอ โดยเฉพาะการขนส่งทางบก ท่าเรือ และพลังงานไฟฟ้า กฎหมายแรงงานที่เข้มงวด ในการกำหนดให้องค์กรที่มีลูกจ้างเกินกว่า 100 คนไม่สามารถปลดลูกจ้างออกจากงานได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายกิจการ รวมทั้งระบบราชการที่ซ้ำซ้อน ปัญหาการคอรัปชัน การควบคุมการการลงทุนของต่างชาติ และการปกป้องอุตสาหกรรมขนาดย่อมในประเทศ ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้เร่งปรับปรุงจุดอ่อนเหล่านี้โดยการส่งเสริมการสร้างธรรมาภิบาล และเพิ่มเงินลงทุนก่อสร้างถนนและบริการสาธารณะต่าง ๆ เพื่อรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจในคงที่ในระดับร้อยละ 9 ต่อปี[i]

[i]ขอขอบคุณที่มาบทความ วารสารส่งเสริมการลงทุน ปีที่ 23 ฉบับที่ 7

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/stockbg

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *