เข้าใจอาการอยากบุหรี่ หรืออาการถอนยา

ผู้สูบบุหรี่ที่วางแผนล่วงหน้าก่อนลงมือเลิกบุหรี่จริง จะมีโอกาสสำเร็จมากกว่าผู้ที่ไม่ได้วางแผน

การวางแผนและเตรียมความที่จะเลิกบุหรี่

ขั้นตอนการเตรียมตัวเลิกบุหรี่

  1. ทำความเข้าใจการติดบุหรี่ของตัวคุณเอง นิโคตินในบุหรี่จะกระตุ้นร่างกายของคุณให้รู้สึกผ่อนคลาย มีความสุขมีสมองปลอดโปร่ง และเมื่อคุณสูบบุหรี่มากขึ้นเรื่อย ๆ คุณจะติดบุหรี่ในที่สุด
  2. เข้าใจสาเหตุและตัวกระตุ้นให้ “คิด” และ “อยาก” บุหรี่

สาเหตุของการสูบบุหรี่ของคุณคืออะไร เช่น

  • ความรู้สึกทางอารมณ์ เช่น โกรธ เครียด ผิดหวัง ท้อแท้ ท้อถอย เศร้า เหงาหงอย มีความสุข
  • ความกดดันทางสังคม เพื่อให้เข้ากับพรรคพวกได้
  • อยากลอง
  • เพิ่มความเท่

รู้จักตัวกระตุ้นที่ทำให้คุณอยากสูบบุหรี่ เช่น

  • งานเลี้ยง สังสรรค์ เข้าสังคมที่สูบบุหรี่
  • ก่อนหรือหลังอาหาร
  • อยู่หรือพบกับเพื่อนที่สูบบุหรี่
  • ดื่มสุรา ชา/กาแฟ
  • ความเบื่อ
  • ขาดความเชื่อมั่น ไม่แน่ใจ ไม่มั่นคงทางอารมณ์
  • โดดเดี่ยว
  • ถูกทอดทิ้ง
  • ฯลฯ

การวางแผนการเลิกบุหรี่

  • หาเพื่อนร่วมเลิก กำหนดวันที่จะเลิกสูบบุหรี่ร่วมกันกับเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน วางแผนร่วมกันและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
  • ให้เพื่อนฝูงและครอครัวช่วยเหลือ บอกเพื่อน ๆ และครอบครัวว่า จะเลิกสูบบุหรี่ ให้สนับสนุนเป็นกำลังใจให้คุณและอดทนต่ออาการหงุดหงิดของคุณ เมื่อมีอาการอยากสูบบุหรี่

กำหนดวันเลิกบุหรี่

พยายามกำหนดวันภายใน 2 หรือ 3 สัปดาห์ จากวันที่เริ่มต้น หาวันที่คุณไม่เครียดเรื่องงาน และวันที่คุณมีเวลาเป็นของตัวเองเต็มที่ และต้องเลิกให้สำเร็จตามกำหนดเวลาให้ได้

ก่อนวันเลิกจริง ให้กำจัดบุหรี่ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับบุหรี่ทั้งหมด เช่น ที่เขี่ยบุหรี่ ไฟแช็ค เป็นต้น

เตรียมความพร้อมเลิกบุหรี่

  1. คุณรู้แล้วว่า บุหรี่เป็นสิ่งเสพย์ติด
  2. คุณรู้แล้ว่า เวลาใด สถานที่ใด และเหตุการณ์อะไรทำให้อย่ากสูบบุหรี่
  3. คุณวางแผนล่วงหน้าแล้วหรือยัง ถ้าเกิดอาการอยากสูบบุหรี่
  4. ขอให้คุณรู้ว่า ถ้าคุณมีปัญหาสุขภาพก่อนจะเลิกบุหรี่สามารถพูดคุยกับแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษาได้
  5. เพื่อน ๆ และครอบครัวสามารถช่วยให้คุณเลิกบุหรี่ได้
  6. คุณอาจหาเพื่อนมาร่วมเลิกบุหรี่ด้วยกัน เพื่อร่วมต่อสู้กับความยากลำบาก เมื่อมีความอยากบุหรี่
  7. วันที่คุณกำหนดที่จะเริ่มต้นเลิกสูบบุหรี่ เป็นวันที่จะทำให้คุณเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จและตลอดไป

ตัดใจเลิกบุหรี่เลย

วันนี้มาถึงแล้ว 90% ของผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ (เลิกได้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี) เลิกได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือสารนิโคตินทดแทน คุณมีสิทธิที่จะรู้สึกกลัวหรือไม่แน่ใจ แต่ขอให้คุณมั่นใจได้ว่า คุณกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

  • ความตั้งใจของคุณจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวคุณเอง
  • กรรมวิธีในการเลิก คุณสามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวคุณ
  • เลิกทันที เป็นวิธีที่ได้ผลที่คนไทยส่วนใหญ่เลิกได้
  • ลดจำนวน เป็นวิธีค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป โดยลดจำนวนลงเหลือ 5 มวนต่อวัน หรือลดจำนวนลงครึ่งหนึ่งของที่คุณเคยสูบ หรือเริ่มสูบบุหรี่มวนแรกของวันให้ช้าลง 1 ชั่วโมง ทุก ๆ วัน ถ้าคุณเลือกวิธีลดจำนวนต้องกำหนดวันเลิกเด็ดขาดภายในสองสัปดาห์หลังจากวันเริ่มต้น

เข้าใจอาการอยากบุหรี่ หรืออาการถอนยา

เมื่อคุณหยุดสูบบุหรี่ร่างกายของคุณจะขาดสารนิโคตินและสารเคมีอื่น ๆ ในควันบุหรี่ที่คุณเคยได้รับเป็นประจำ ทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ปั่นป่วนในท้อง ไอมากขึ้น เป็นต้น อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อคุณหยุดสูบบุหรี่ภายใน 1 – 2 วันแรก อาการบางอย่างจะหายไปภายใน 7 วัน และส่วนใหญ่จะหายไปภายใน 4 สัปดาห์

ทำใจของคุณให้สบาย เพราะอาการเหล่านี้ แสดงว่า ร่างกายของคุณกำลังปรับตัวสู่การมีสุขภาพที่ดีกว่าเดิม และอาการต่าง ๆ ของคุณก็จะหายไปหมดในไม่ช้า

อาการถอนยา ประกอบด้วย

  1. อาการอยากสูบบุหรี่ แต่ละครั้งกินเวลาไม่นาน แต่ความรู้สึกจะรุนแรงในช่วงแรก ๆ เมื่อผ่านพ้นไปได้แล้ว ความอยากจะลดลง
  2. ปวดศีรษะเป็นบางครั้ง ให้คุณผ่อนคลาย ทำใจให้สบาย หรือฟังเพลงเบา ๆ ก็ได้
  3. การย่อยอาหารไม่เหมือนเดิม มีท้องผูกสลับท้องเสียในบางครั้ง ส่วนใหญ่อาการมักไม่เกิน 4 วัน
  4. พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนไป ฝันได้บ่อย แต่คนส่วนใหญ่จะหลับได้สบายขึ้น คุณเองก็เช่นกัน
  5. อาการไอ แสดงถึง การทำงานของเส้นขนปัดในทางเดินหายใจของคุณกำลังฟื้นตัวใหม่อีกครั้ง เพื่อกำจัดน้ำมันดินจากบุหรี่และขับเสมหะ
  6. อาการหงุดหงิด เครียด หดหู่ จะค่อย ๆ หมดไปใน 1 – 4 สัปดาห์
  7. น้ำหนักตัวอาจเพิ่มขึ้นจากการที่คุณเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจาก นิโคตินในบุหรี่จะไปกระตุ้นสมองทำให้คุณไม่อยากอาหารและรู้สึกอิ่ม เมื่อคุณเลิกบุหรี่ ต่อมรับรสที่ลิ้นของคุณจะทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม คุณจึงรู้สึกเจริญอาหารเพิ่มขึ้น

บางคนไม่กล้าเลิกบุหรี่ เพราะกลัวน้ำหนักเพิ่ม แต่ขอให้คุณรู้ว่า

  • ไม่ใช่ทุกคนที่น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • ถ้าน้ำหนักตัวคุณเพิ่มขึ้นเกิน 2 กิโลกรัม แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติเมื่อเทียบกับความสูงและอายุ ถือว่า ยอมรับได้
  • วางแผนการกินให้ดี อย่าตามใจปาก จะลำบากได้ในภายหลัง
  • ออกกำลังกายมาก ๆ
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ อย่ากินจุกจิก ลดของหวาน น้ำอัดลม อาหารทอด แต่อย่าลืมให้รางวัลกับตัวคุณเองบ้าง
  • ตั้งเป้าหมาย “เลิกบุหรี่” ให้ได้ก่อน หลังจากนั้น จึงค่อยจัดการกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *