เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลอย่างไรต่อรูปแบบของโหราศาสตร์และการพยากรณ์

การพัฒนาของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลทำให้รูปแบบการพยากรณ์มีความหลากหลายมากขึ้น เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทในการพยากรณ์ ทำให้รูปแบบการพยากรณ์เปลี่ยนไปจากเดิม การขอคำปรึกษาจากหมอดูไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การพบปะพูดคุยกับนักพยากรณ์แบบเผชิญหน้าตัวต่อตัวเพียงรูปแบบเดียว หากแต่ขยายไปสู่การพยากรณ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ทั้งการพยากรณ์ผ่านเว็บไซต์ (Website) เฟซบุ๊ก (Facebook) ทั้งในลักษณะการแบ่งปันข้อมูลจากผู้ใช้คนอื่นแบบไวรัล (Viral) และแบบถ่ายทอดสด (Facebook Live) โดยนักพยากรณ์ บทความนี้นำเสนอประเด็นในการวิเคราะห์ในสามด้าน ดังนี้

โหราศาสตร์และการพยากรณ์มีการปรับตัวในด้านรูปแบบการนำเสนอใน “โลกเสมือนจริง” (Virtual World) ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ถูกประกอบสร้างและจำลองขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีที่หลากหลาย และ “ผู้พำนับอาศัย” ซึ่งในที่นี้ คือ รูปแบบและเนื้อหาที่นำเสนอที่มีการอุบัติใหม่ หรือมีการเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา รูปแบบและเนื้อหาดังกล่าวทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของปัจเจกในการทำความเข้าใจความจริงในโลกจากประสบการณ์ที่เชื่อมต่อกันระหว่างตนเองกับวัตถุ ดังนั้น โครงสร้างทางสังคมและปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในโลกเสมือนจริง จึงเป็นการจำลองโครงสร้างทางสังคมทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนจริง ดังนั้น หากพิจารณาของการอุบัติใหม่ของศาสนาในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ เราจะพบรูปแบบของความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับวัตถุในลักษณะที่หลากหลายและมีความหมายที่คล้ายคลึงพฤติกรรมทางศาสนาในโลกแห่งความจริง ในขณะที่สื่อกลางของการพยากรณ์ในโลกเสมือนจริง ถูกเปลี่ยนรูปแบบไปจากหมอดูหรือนักพยากรณ์หรือผู้ประกอบพิธีกรรมเป็นแอพลิเคชันที่สามารถนำเสนอบริการพยากรณ์โดยจำลองรูปแบบหรือกระบวนการจากเทคนิคต่าง ๆ คำอธิบายในรายละเอียดของการพยากรณ์แฝงคติคำสอนทางศาสนา โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมหรือคำทำนายสาเหตุของปัญหาอุปสรรคหรือแนวทางการแสวงโชคที่พัฒนามาจากความเชื่อเรื่องของการนับถือบูชาผีและบรรพบุรุษ หรือคติคามเชื่อในการเคารพสัตว์หรือวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในรูปแบบต่าง ๆ

เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงพลเมืองดิจิทัลรุ่นใหม่ในรูปแบบของ “เครือข่ายทางสังคมเสมือนจริง” (Virtual Social Network) มีบทบาทสำคัญในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของรูปแบบและความหมายของการพยากรณ์ รวมถึงความเชื่อในวิถีชีวิตประจำวันของชาวดิจิทัลไทยรุ่นใหม่ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวสามารถอธิบายจากข้อค้นพบในงานวิจัยสามประการ

ประการแรก อินเทอร์เน็ตได้สร้างเทคโนโลยีทางการพยากรณ์ เช่น แอพลิเคชันการพยากรณืแบบเคลื่อนที่และการพยากรณ์ผ่านโปรแกรมสำเร็จรูปบนสื่อสังคมออนไลน์รวมถึงเครื่องรางและวัตถุมงคล การอุบัติขึ้นของเทคโนโลยีทางการพยากรณ์และความเชื่อเหล่านี้นำไปสู่ข้อค้นพบของงานวิจัยที่ว่า ชาวดิจิทัลไทยรุ่นใหม่คาดหวังว่า การพยากรณ์ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดให้อยู่ในรูปแบบของการสื่อสารในลักษณะเผชิญหน้าเสมอไป สำหรับชาวดิจิทัลการพยากรณ์ควรมีรูปแบบที่เป็นรูปธรรม เข้าใจได้ง่าย มีความยืดหยุ่นและสามารถให้ข้อมูลหรือทางเลือกในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

ประการต่อมา นักพยากรณ์หรือหมอดู รวมถึงพระสงฆ์ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางทางการพยากรณ์ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีทางการพยากรณ์ที่สามารถดำเนินบทบาทหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่กลุ่มลูกค้าในการอธิบายปมขัดแย้งหรือสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงคำพยากรณ์ที่คาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตซึ่งถูกวิเคราะห์ ประมวลผลและนำเสนอโดยโปรแกรมการพยากรณ์แบบสำเร็จรูปที่มีลักษณะการทำงานแบบที่ Sorensen (2013) ได้เสนอคือ มีการนำเข้าข้อมูล จากนั้น คือ การประมวลผลและจบลงด้วยการแสดงข้อมูลในลักษณะผลลัพธ์บนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น แอพลิเคชันไลน์ (Line Application) และเฟซบุ๊ก (Facebook) ซึ่งถูกเชื่อมต่อผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและถูกประมวลผลและนำเสนอออกมาในรูปแบบของคำแนะนำให้แก่ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่ได้ในทุกที่และทุกเวลา

ข้อค้นพบจากการวิจัยประการสุดท้าย คือ เทคนิคทางโหราศาสตร์และการพยากรณ์ที่ถูกนำเสนอในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ คือ เทคโนโลยีทางศาสนาที่มีความสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของชาวดิจิทัลไทย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และนครพนม ทั้งนี้เป็นเพราะชาวดิจิทัลทั้งสองพื้นที่ต่างใฝ่หา ความรู้สึกมั่นคง (security) ความเป็นส่วนตัว (privacy) และความสำเร็จ (success) ซึ่งเทคโนโลยีการพยากรณ์สามารถตอบสนองและเติมเต็มความรู้สึกเหล่านี้ได้ สอดคล้องกับข้อเสนอของ Malinowski (1979) ที่อธิบายบทบาทหน้าที่ของการพยากรณ์ในการเติมเต็มความรู้สึกทางจิตใจของปัจเจกในสภาวะการณ์ที่เผชิญกับความไม่แน่นอนและความกังวลใจ ทั้งนี้ ผลการศึกษา พบว่า ชาวดิจิทัลต้องการดูดวงชะตาด้วยเทคนิคต่าง ๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่มีความหลากหลายเพื่อต้องการสร้างความรู้สึกมั่นใจว่า พวกเขาสามารถควบคุมชีวิตตนเองหรือตัดสินใจหาทางออกให้ชีวิตตนเองได้ โดยอาศัยการรับรู้ข้อมูลอย่างรอบเด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนั้น การพยากรณ์ออนไลน์ช่วยให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ ชาวดิจิทัลค้นพบแนวทางปฏิบัติที่ช่วยลดทอนความกลัวภายในจิตใจของแต่ละคนดำเนินชีวิตในเวลาที่พวกเขาประสบกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เหนือการควบคุมหรือในบริบทที่ชีวิตเกิดความเสี่ยงภัย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและภาวะความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน

การพยากรณ์ออนไลน์เปิดโอกาสให้ชาวดิจิทัลสามารถแสวงหาคำตอบของบางปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ จากการพิจารณาคำถามของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มักจะถามในการพยากรณ์ออนไลน์มักจะเป็นคำถามทั่วไปที่ถามเกี่ยวกับทางเลือกหรือเกี่ยวกับภาพรวมของชีวิตและข้อมูลจากการสัมภาษณ์เจาะลึกยังสะท้อนว่า การพยากรณ์ออนไลน์เปิดโอกาสให้ชาวดิจิทัลสามารถค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตสำหรับการตัดสินใจ เลือกแนวทางในการดำเนินชีวิต คำอธิบายและคำทำนายของการพยากรณ์ออนไลน์ยังมีส่วนช่วยและสนับสนุนใช้ชาวดิจิทัลทั้งในเมืองหลวงและเมืองรอง สามารถประเมินศักยภาพของตนเองว่าทำอะไรได้ดี และสำเร็จหรือการกระทำใดที่ควรหลีกเลี่ยงด้วยหลักเหตุและผล และนำไปสู่การค้นหาแนวทางเลือกในการดำเนินชีวิตเพื่อทำความฝันของตนให้เป็นความจริง

ในประเทศไทยนั้นเพิ่มปริมาณมากขึ้นและด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย เปิดกว้างให้ปัจเจกสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทำให้รูปแบบการพยากรณ์ถูกนำเสนอผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลในหลายรูปแบบ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์สะท้อนว่า นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่เป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรดิจิทัลรุ่นใหม่ทั้งในสังคมเมืองหลวงและในสังคมเมืองรองให้ความนิยมในการพยากรณ์และไสยศาสตร์เพิ่มมากขึ้น และผลจากการสำรวจออนไลน์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวดิจิทัลรุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยของทั้งสองพื้นที่เคยมีประสบการณ์ในการพยากรณ์ทั้งแบบเผชิญหน้าโดยตรงกับนักพยากรณ์และแบบออนไลน์ แม้ว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยจะได้รับการศึกษาที่ทันสมัยและพยายามทำความเข้าใจความเชื่อและพฤติกรรมการพยากรณ์ของตนผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยใช้หลักของเหตุผลพวกเขายังยอมรับว่าตนเองมีความเชื่อในไสยศาสตร์ ถึงแม้ว่า พวกเขาจะตั้งคำถามและไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนับถือศาสนากระแสหลัก

นอกจากความเชื่อและความสนใจในศาสตร์พยากรณ์ ชาวดิจิทัลไทยในพื้นที่กรุงเทพฯ และนครพนมยังให้ความสนใจต่อไสยศาสตร์ แม้ว่า ชาวดิจิทัลในสองพื้นที่การวิจัยจะอธิบายว่า พวกเขาไม่คิดว่า ศาสนาพุทธ คือ ที่พึ่งหรือสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ พวกเขากลับอธิบายถึงตัวตนทางศาสนาในรูปแบบที่เรียกว่า “สายมู” หรือ “มูเตลู” โดยเป็นการอธิบายลักษณะของบุคคลที่มีความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลังและไสยศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างชาวดิจิทัลรุ่นใหม่พื้นที่กรุงเทพฯ เรียกตนเองว่า “สายมู” เมื่อต้องการอธิบายตัวตนทางศาสนาที่แสดงออกในโลกออนไลน์ผ่านวัตถุศักดิ์สิทธิ์หรือของขลังที่ช่วยเสริมพลังอำนาจ กล่าวได้ว่า การรับรู้และการดำรงอยู่ในโลกทางศาสนาที่ถูกสร้างขึ้นซ้อนทับในสื่อออนไลน์ซึ่งเป็นโลกเสมือนจริง (virtual world) ดังนั้น กล่าวได้ว่า โลกของศาสนาออนไลน์ในมุมมองของชาวดิจิทัลนั้น คือ รูปแบบหนึ่งของศาสนาที่มีการนำเสนอรูปแบบทางศาสนาที่มีความเป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้ ศาสนาของชาวดิจิทัลสามารถชี้แนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญ หรืออย่างน้อยที่สุดให้ความรู้สึกมั่นคงในจิตใจ

สอดคล้องกับโลกแห่งการพยากรณ์ออนไลน์ชาวดิจิทัลไทยรุ่นใหม่แสดงออกถึงความเชื่อและยอมรับชุดของคำอธิบายเรื่องหลักความเชื่อและแนวทางในการแก้ไขปัญหาและการดำเนินชีวิตที่มีเหตุผล มีความยืดหยุ่นและเป็นพื้นที่ในการแสดงออกของตัวตนของปัจเจก เท่ากับว่าการพยากรณ์สามารถมาช่วยทดแทนหลักคำสอนทางศาสนาและการพยากรณ์ คือ สิ่งที่ชาวดิจิทัลได้พึ่งพิงอาศัยในเวลาที่พวกเขาเผชิญหน้ากับปัญหาหรือสภาวการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ประการต่อมา พฤติกรรมการใช้บริการการพยากรณ์ของชาวดิจิทัลไทยรุ่นใหม่ของทั้งสองพื้นที่การวิจัย ทั้งในเมืองหลวงและเมืองรองมีความนิยมในการพยากรณ์แบบออนไลน์มากกว่าการเผชิญหน้ากับนักพยากรณ์โดยตรง ทั้งนี้ เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะทรัพยากรทางด้านการเงินและเวลาที่มีจำกัดรวมถึงความสะดวกสบายที่กลุ่มตัวอย่างได้จากการเข้าสำรวจดวงชะตาผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าการพยากรณ์แบบปกติ ประการต่อมา ด้วยการพัฒนาและความทันสมัยของเทคโนโลยีทำให้การพยากรณ์รวมถึงรูปแบบของศาสนากระแสหลักและขนบความเชื่อรูปแบบต่าง ๆ ถูกพัฒนาและปรับรูปโฉมและเสนอทางเลือกให้แก่ชาวดิจิทัลไทยรุ่นใหม่มากขึ้น ทำให้การให้ความหมายต่อศาสนาเป็นแบบพหุลักษณ์ กล่าวคือ ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่นับถือศาสนาพุทธหรือนับถือศาสนาอื่น ๆ สามารถเลือกรับความเชื่อรูปแบบอื่น ๆ ยึดถือบูชาวัตถุศักดิ์สิทธิ์จากศาสนาหรือไสยศาสตร์แขนงอื่น ๆ ได้ในเวลาเดียวกัน มากไปกว่านั้นข้อค้นพบของบทความวิจัยชิ้นนี้ คือ ความหมายของศาสนาถูกขยายผลและตีความใหม่ให้ไปไกลกว่าการเป็นที่พึ่งพาทางจิตใจให้แก่ปัจเจกเมื่อศาสนาถูกพัฒนาโดยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่มีการประยุกต์และพัฒนาแอพลิเคชันเพื่อให้บริการทางศาสนา โหราศาสตร์และการพยากรณ์ ออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาความรู้ ข้อมูล ทรัพยากรหรือชุดคำอธิบายเพื่อประกอบการตัดสินใจหรือเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน รวมถึงเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินชีวิตของปัจเจกในรูปแบบของการให้กำลังใจ สร้างความผ่อนคลายและลดความตึงเครียดของชาวดิจิทัลรุ่นใหม่ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนั้นโหราศาสตร์และการพยากรณ์ออนไลน์ยังถูกใช้พื้นที่แห่งการแสดงออกถึงตัวตนของชาวดิจิทัลแต่ละคนที่ต่างพยายามหาความหมายและหนทางของชีวิตอยู่ทุกขณะ

ที่มาบทความ มานุษยวิทยาการพยากรณ์ : ประสบการณ์ในการพยากรณ์ดวงชะตาบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวันของชาวดิจิทัลไทย โดยปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา. มนุษยศาสตร์สาร ปีที่ 22 ฉบับที่ 2. 2564.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *