เทคนิคการสื่อสารเรื่องเพศ การพูดคุยกับลูกเรื่องเพศในครอบครัว

เทคนิคการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว

การพูดคุยกับลูกเรื่องเพศในครอบครัวไทย ถือว่า เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะขัดกับหลักความเชื่อ ค่านิยมเดิมของสังคม อย่างไรก็ตาม มีพ่อ แม่ ผู้ปกครองที่ต้องการจะสื่อสารเรื่องเพศให้กับลูก แต่ไม่รู้ว่า จะสื่อสารอย่างไรเขินอาย ดังนั้น ก่อนการพูดคุย พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องเพศ มองเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ สามารถนำมาพูดคุยได้ และโดยแท้จริงแล้ว ลูก ๆ ต้องการเรียนรู้เรื่องนี้จากพ่อ แม่ ผู้ปกครองโดยตรง แต่ก่อนที่จะพูดคุยควรถามตัวเองให้ชัดเจนก่อนว่า ทำไมจึงต้องการพูดคุยกับลูกในเรื่องนี้ การคุยจะก่อให้ประโยชน์อย่างไร หรือถ้าไม่คุยจะมีผลตามมาอย่างไร สำรวมใจตนเองก่อนพูดคุย ไม่ควรมีความรู้สึกลังเล หรือกลัว ๆ กล้า ๆ เพื่อให้เกิดความพร้อมในการพูดคุย ทั้งนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องพูดคุยอย่างเปิดอกกันเองก่อน แล้วจึงหาข้อตกลงร่วมกันว่า จะพูดคุยกับลูกอย่างไร โดยให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้ลูกสับสน ต้องพูดกับลูกให้คลายสงสัย อย่ามองว่า เรื่องนี้เป็นความลับ หรือเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดถึง การพูดคุยควรเป็นธรรมชาติ พูดความจริง ไม่ยัดเยียดความรู้ความเข้าใจในครั้งเดียว อธิบายตอบคำถามไปทีละขั้น และควรสอนด้วยความใจเย็นเลือกบรรยากาศการพูดคุยที่สบาย ๆ ไม่เคร่งเครียดใช้ช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ควรมีความพร้อมทั้งฝ่าย พ่อ แม่ ผู้ปกครองและลูก บางครั้งอาจใช้การสอดแทรกโอกาสจากสถานการณ์ต่าง ๆ ในการพูดคุยเรื่องเพศ เช่น ขณะอ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ดูข่าวทีวี ดูละครหรือภายนตร์ ซึ่งมีฉากความสัมพันธ์และเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ เป็นต้น นอกจากนี้ พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องเปิดใจกว้าง ใช้ทักษะการฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน ไม่รีบพูดสั่งสอน หรือตำหนิ ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้ซักถาม เพื่อจะได้อธิบายไขข้อข้องใจและเพิ่มเติมในส่วนที่เข้าใจผิดการตอบข้อซักถามควรพูดอย่างตรงไปตรงมา เพราะจะทำให้ไม่เกิดความสับสน และลูกจะรับรู้ได้ว่า ผู้ปกครองมีความจริงใจในการตอบคำถาม ไม่ควรใช้คำแสลงเวลาพูดเรื่องเพศ และควรเปิดโอกาสให้ลูกรู้ว่า เขาสามารถพูดคุยกับพ่อ แม่ ผู้ปกครองได้ทุกเรื่อง หากไม่สามารถตอบคำถามลูกได้ทุกคำถามไม่ต้องกังวล ซึ่งจริง ๆ แล้วสิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองรู้ไม่สำคัญเท่ากับวิธีการโต้ตอบ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ พยายามเปิดโอกาสให้ลูกรู้ว่า เขาสามารถพูดคุยกับพ่อ แม่ ผู้ปกครองได้ทุกเรื่อง นอกจากนี้ ควรหาโอกาสสอนเรื่องความประพฤติ “ผิด” และ “ถูก” ในเรื่องเพศเพื่อให้ลูกรู้ว่า พ่อ แม่ ผู้ปกครองหวังอะไรจากตัวเขา

การสอนลูกเรื่องทักษะการปฏิเสธ

การปฏิเสธเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ทุกคนควรเคารพและยอมรับในการปฏิเสธ ที่ใช้ได้ผลมักเป็นสถานการณ์ที่ถูกชวนไปทำในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์หรือเกิดผลกระทบในแง่ลบตามมา การปฏิเสธที่ดีต้องปฏิเสธอย่างจริงจังทั้งท่าทาง คำพูดและน้ำเสียง เพื่อแสดงความตั้งใจอย่างชัดเจนที่จะขอปฏิเสธ

เทคนิคการปฏิเสธสำหรับวัยรุ่นที่ควรนำไปใช้กับชีวิตประจำวัน ควรเริ่มจากการไม่นำตนเองเข้าไปอยู่ในที่รโหฐาน เพราะการอยู่ในที่ลับตาคน บรรยากาศที่เป็นใจจะเอื้อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ และอย่าเปิดโอกาส ส่วนมากหญิงสาวที่มีเพศสัมพันธ์มักคิดว่า ฝ่ายชายรักตนเอง หรือคิดว่า เราพร้อมแล้วจะเป็นของกันและกัน ซึ่งฝ่ายชายอาจไม่ได้คิดเช่นนั้น ในกรณีที่ถูกฝ่ายชายร้องขอให้มีเพศสัมพันธ์ควรปลุกจิตสำนึกความเป็นสุภาพบุรุษของเขา เช่น “ฉันมั่นในความเป็นลูกผู้ชายของเธอ การทำแบบนี้ทำให้ฉันเสียศักดิ์ศรี ถ้ารักฉันจริงรอเราเรียนจบก่อนนะ” นอกจากนี้ ให้ใช้คำสั่งหยุดการกระทำที่ไม่สมควรและใช้ข้ออ้างที่ปฏิเสธได้ยาก เช่น “อย่าทำแบบนี้ ถ้าเป็นของกันและกันตอนนี้ พ่อแม่ฉันรู้เข้าท่านจะเสียใจนะ เป็นลูกสาวที่ไม่รู้จักกตัญญูกตเวทีที่ทำให้พ่อแม่เสียใจ คงเป็นบาปติดตัวได้ตลอดชีวิต” ฉะนั้น เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่พร้อม จงจำไว้ว่า ต้องปฏิเสธให้เป็นเพราะนั่นคือชีวิตและอนาคตของตนเอง

นอกจากนี้ วัยรุ่นสามารถใช้เทคนิค “SWAD” ในการปฏิเสธ ซึ่งรัตน์ศิริ ทาโตและคณะ ได้พัฒนาขึ้น เพื่อให้ง่ายในการจดจำและนำไปใช้ได้จริง มีหลักการดังนี้

  • S หมายถึง Say “No” Seriously เป็นการปฏิเสธอย่างจริงจังด้วยการพูด “ไม่” อย่างชัดเจนและออกมาจากใจจริง
  • W หมายถึง Why : Give a clear reason เป็นการบอกเหตุผลของการปฏิเสธ ซึ่งควรเป็นการบอกถึงความรู้สึก ความกังวลใจ ความห่วงใย ซึ่งอาจมีเหตุผลประกอบด้วย เพื่อให้มีความหนักแน่น การบอกความรู้สึกทำให้คู่สนทนาไม่สามารถหาข้อโตแย้งได้ เช่น “ผมว่าเราเป็นลูกผู้ชาย ทำแบบนี้ทำให้เราเสียศักดิ์ศรีนะ” “ฉันยังรู้สึกว่า ฉันยังเด็กอยู่” “ฉันยังไม่อยากให้พ่อแม่เสียใจ” เป็นต้น
  • A หมายถึง Alternative choice เป็นการเสนอทางเลือกหรือกิจกรรมอื่นที่สร้างสรรค์ และพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ เช่น ชวนกันไปเล่นกีฬา อ่านหนังสือเตรียมสอบ
  • D หมายถึง Discuss about it “How you feel” เป็นการบอกถึงความรู้สึกว่า ที่เพื่อนชวนเราไปกระทำเช่นนั้นเรารู้สึกอย่างไร เช่น ฉันรู้สึกว่าเธอไม่ให้เกียรติฉันเลยนะ ฉันรู้สึกว่า เธอดูถูกฉันนะที่ชวนทำเช่นนี้ ฉันรู้สึกว่าเธอไม่ได้รักฉันจริง

ปัญหาการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่นไทยกำลังเป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ เพราะจะส่งผลโดยรวมต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งสาเหตุของปัญหาเกิดจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการของตัววัยรุ่นทั้งด้านร่างกายและจิตสังคม สภาพแวดล้อม วิถีการดำเนินชีวิต ค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามกระแสโลกาภิวัฒน์ การเข้าถึงสื่อลามกอนาจารต่าง ๆ อย่างง่ายดาย รวมทั้งการขาดการสื่อสารในครอบครัวเกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างครอบคลุมในทุกมิติ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดลูกมากที่สุด ควรปรับบทบาทในการเลี้ยงดูลูก โดยคำนึงถึงบทบาทหลักในการสื่อสารเรื่องเพศให้กับลูก เพราะพ่อ แม่ ผู้ปกครอง คือ บุคคลที่ใกล้ชิดลูกมากที่สุด โดยควรเริ่มสอนตั้งแต่ก่อนลูกมีพัฒนาการเข้าสู่วัยรุ่น เพื่อให้ลูกมีความเข้าใจ และมีการเตรียมตัวก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นอกจากนี้ พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรเปลี่ยนพฤติกรรมการสั่งสอนจากการดุด่าว่ากล่าว หรือการใช้อารมณ์ เป็นการสอนด้วยความเข้าใจและใช้เหตุผล ควรเลือกช่องทางวิถีการสื่อสารเรื่องเพศให้เหมาะสม กับวิถีของครอบครัวที่เป็นอยู่ให้เหมือนกับการพูดคุยเรื่องธรรมดาทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรมีการเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องหลักและเทคนิคการสื่อสารเรื่องเพศที่ถูกต้อง เพราะการสื่อสารที่ดีจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และมีผลต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์และความเชื่อมั่นในตนเองของลูก และทำให้วัยรุ่นมีการสื่อสารและสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่นเกิดความพึงพอใจในตนเอง รักตัวเอง รักและนับถือผู้อื่น และมีเจตคติที่เหมาะสมเรื่องเพศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *