black-haired-woman-splendid-makeup-dressed-traditional-indian-suit-national-jewelry-set (1)

อินเดียถือได้ว่า เป็นมิตรประเทศของไทยในเอเชียใต้ ซึ่งนับวันจะทวีความสำคัญและมีบทบาทโดดเด่นในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม อินเดียจึงกลายเป็นหนึ่งในเสาหลักทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย และกำลังก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลก ภายใต้การดำเนินนโยบาย “มองตะวันตก” ของไทยที่ให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศทางฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะอินเดีย รัฐบาลไทยได้มุ่งดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อที่จะกระชับสัมพันธ์กับอินเดียในทุก ๆ ระดับและส่งเสริมความร่วมมือในทุก ๆ ด้าน ในขณะเดียวกัน อินเดียก็ดำเนินนโยบาย “มองตะวันออก” ซึ่งให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นเช่นกัน ฉะนั้น อินเดียจึงเป็นตลาดใหญ่ที่ไม่ธรรมดาสำหรับผู้ประกอบการไทยด้วยศักยภาพการเจริญเติบโตของกำลังซื้อที่คาดว่า จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจะพบว่า เศรษฐกิจอินเดียไม่สามารถผลิตสินค้าและบริการได้เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น อินเดียจึงถือว่าเป็นตลาดใหญ่สำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจาก ศักยภาพการเจริญเติบโตของกำลังซื้อที่คาดว่า จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากการประเมินศักยภาพของตลาดอินเดีย สรุปได้ว่า

จุดแข็งจุดอ่อนโอกาสอุปสรรค
1. เป็นประเทศประชาธิปไตยเสรี1. ปัญหาทางสังคมจากการกระจายรายได้ไม่สมดุล1. เป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ เสื้อผ้า รองเท้า (รองเท้าเตะ) อาหาร (อาหารมังสวิรัติ/อาหารเจ) ผงซักฟอก น้ำมันประกอบอาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้า1. มีการใช้มาตรการปกป้องทางการค้าทั้งมาตรการทางภาษีและที่มิใช้ภาษี
2. มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ2. ความต้องการสินค้าที่หลากหลาย อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม2. เป็นประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพของธุรกิจก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน การสื่อสารโทรคมนาคม เครื่องจักรกล และสินค้าอุปโภคบริโภค2. เนื่องจากมีพื้นที่ขนาดใหญ่ และระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่ง ยังไม่ได้รับการพัฒนาจึงทำให้มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง
3. มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง3. ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร รวมทั้งระบบการบริหารจัดการภาครัฐที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และล่าช้า เช่น ระบบพิธีการศุลกากร เป็นต้น  3. สังคมเริ่มปรับตัวให้ทันสมัย และเป็นสังคมเปิดเพิ่มขึ้น คนรุ่นใหม่เริ่มมีแนวโน้มเป็นสังคมเดียว และเป็นสังคมบริโภคนิยมเพิ่มมากขึ้น3. มีการเลียนแบบสินค้าอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
4. ประชากรมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น 4. สินค้าไทยที่มีศักยภาพในการเจาะตลาดอินเดีย เนื่องจาก กรอบข้อตกลงการค้าเสรี ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เสื้อผ้า รองเท้า ผงซักฟอก และน้ำมันประกอบอาหาร 
5. เป็นประเทศอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และ software ชั้นนำระดับโลก   

ดังนั้น ก่อนการเข้าไปทำการค้าการลงทุนในอินเดีย ผู้ประกอบการไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ประกอบการไทยควรเริ่มดำเนินการเข้าสู่ตลาดอินเดียอย่างมีขั้นตอน ควรศึกษาตลาดผู้บริโภคในอินเดียอย่างรอบคอบ เนื่องจาก อินเดียเป็นตลาดที่มีความหลากหลายของพื้นที่ ทรัพยากร เศรษฐกิจ รายได้ และวัฒนธรรม ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ/แต่ละเมือง นอกจากนี้ ควรทำการทดสอบตลาดอินเดีย รวมถึงการหาพันธมิตรท้องถิ่นที่ดีและไว้ใจได้ จากนั้นจำทำการขยายตลาดในลำดับต่อไป
  2. ผู้ประกอบการไทย จำเป็นจะต้องศึกษาอุปนิสัยของนักธุรกิจอินเดีย ควรกำหนดกลยุทธ์และเทคนิคการเจรจาต่อรองธุรกิจระหว่างกัน เนื่องจาก การดำเนินการเจรจาทางธุรกิจกับคนอินเดียจะใช้เวลานาน ผู้ประกอบการไทยต้องมีความอดทนจึงจะประสบความสำเร็จ อีกทั้งผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนทัศนคติของตนเองในด้านลบกับคนอินเดีย ถ้าสามารถได้รับความไว้วางใจจากคนอินเดียแล้ว ตลาดอินเดียย่อมเป็นตลาดที่สามารถสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งได้ในอนาคต
  3. ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะเข้าไปลงทุนในอินเดียควรพิจารณาเลือกพื้นที่ลงทุนที่เอื้อต่อธุรกิจทั้งด้านการผลิตและการตลาด ทั้งนี้ พื้นที่ศักยภาพน่าลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ ดังนี้ เมืองมหานคร (มุมไบ นิวเดลี โกลกัตตา เชนไน บังกาลอร์ ไฮเดอราบัด อาห์เมดัด และปูเน่) เมืองมหานครรอง (สุรัต กันปูระ ไชยปุระ ลักนา นาคปุระ โบปาล และคอย์มบาตอร์) และเมืองที่มีศักยภาพใหม่ (ฟาริดา-บัด อมฤตษา ลิธิอานา จันทการห์ และจาลันธาร์) เนื่องจากเมืองเหล่านี้ มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง และประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ระดับปานกลางถึงสูง ซึ่งถือว่า เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่มีศักยภาพของอินเดีย อีกทั้งมีปัจจัยเอื้อต่อการลงทุนในหลายด้านทั้งอุตสาหกรรมและบริการ เช่น ประชากรในวัยแรงงานจำนวนมากทั้งแรงงานท้องถิ่นและแรงงานจากพื้นที่ชนบทที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่มากขึ้น ค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนมากกว่าพื้นที่อื่นโดยเปรียบเทียบ เป็นต้น
  4. สินค้าบางประเภทอยู่ในบัญชี FTA อาเซียน – อินเดีย ดังนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษาข้อมูลและใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษที่อยู่ในความตกลงการค้าเสรีดังกล่าว สำหรับการส่งออกสินค้าไปตลาดอินเดีย สินค้าที่อยู่ในบัญชี FTA อาเซียน – อินเดีย เช่น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องสำรองไฟฟ้า โทรทัศน์สี ทองรูปพรรณ เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น พัดลม พัดลมไอน้ำ พัดลมพ่นหมอก ลำไย มังคุด ทุเรียน น้ำผลไม้ ผลไม้แปรรูปอื่น ๆ ของเด็กเล่น เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
  5. ผู้ประกอบการไทยควรดำเนินกลยุทธ์วัฒนธรรมนำการค้า โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมที่คล้ายไทย เช่น ธุรกิจเสริมความงาม สปา ร้านอาหาร พิธีแต่งงาน พิธีทางศาสนา ความเชื่อ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น หรือดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดอาหารเจไทยสู่ตลาดอินเดีย เนื่องจาก อินเดียกว่าร้อยละ 50 บริโภคอาหารมังสวิรัติ/อาหารเจ เพราะนับถือศาสนาฮินดู
  6. ผู้ประกอบการไทยต้องทำความเข้าใจว่า สินค้าในอินเดียยังมีความหลากหลายน้อย ขระที่ผู้บริโภคมีลักษณะ individualism มากขึ้น จุดนี้เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะนำสินค้าของตนเข้ามาตอบสนองความต้องการของตลาดอินเดียได้ดีกว่าประเทศอื่น เนื่องจาก มีความหลากหลายให้เลือกมากกว่า ในราคาที่ไม่แพง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเน้นจุดแข็งนี้ในการเข้าตลาดอินเดีย
  7. แม้ว่า มีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังขาดการบังคับใช้และการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง จึงยังคงมีการลอกเลียนแบบสินค้าอย่างแพร่หลาย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่จะนำสินค้าไปวางจำหน่ายในตลาดอินเดีย ควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว
  8. กฎระเบียบของอินเดียมีความแตกต่างกันในแต่ละรัฐ และมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการนำเข้าบ่อย ทำให้การติดต่อธุรกิจการค้าการลงทุนต้องมีการศึกษากฎระเบียบเฉพาะของรัฐนั้น ๆ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังต้องเตรียมความพร้อมในการจัดการความเสี่ยง และการบริหารสินค้าคงคลังจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ภัยธรรมชาติ หรือการประท้วงหยุดงาน เป็นต้น

นอกจากการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยแล้ว ทางหน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในเรื่องข้อมูลทางการตลาด จัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ ประชาสัมพันธ์สินค้าไทย พาผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้า และสนับสนุนข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบการนำเข้าของอินเดียที่ทันสมัย แทนที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการเข้าไปหาตลาดแบบโดดเดี่ยว การดำเนินดังกล่าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถทำการวางแผนการตลาดได้ชัดเจน และมีความเสี่ยงต่ำในตลาดอินเดีย[i]


[i] ขอบคุณที่มาบทความ ธิดารัตน์ โชคสุชาติ. อินเดีย : ตลาดที่มีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการไทย. วารสารวิชาการและวิจัย มทร.พระนคร

ขอขอบคุณที่มาของภาพ https://www.freepik.com/author/sofiazhuravets

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *