อายุความมรดก อายุความมรดกสำหรับทายาทโดยธรรม

อายุความมรดกสำหรับทายาทโดยธรรม

ทายาทโดยธรรมต้องฟ้องให้แบ่งมรดกภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกตายหรือควรจะได้รู้ถึงแก่ความตายของเจ้ามรดก หรือภายใน 10 ปีนับแต่ที่เจ้ามรดกตายตามมาตรา 1745 ยกเว้นแต่ทายาทโดยธรรมฟ้องให้แบ่งมรดกในส่วนที่ตนเองได้ร่วมครอบครองก็ไม่จำเป็นต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายฯ แต่ให้ฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ไม่แบ่งมรดกให้ (นับแต่วันโต้แย้งสิทธิ) แทนตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า “ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี” อันหมายความว่า หากเป็นกรณีที่ทายาทโดยธรรมฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดกซึ่งทายาทคนนั้นได้ร่วมครอบครองอยู่ แม้ว่าจะได้ ปีฟ้องล่วงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทายาทโดยธรรมนั้นก็มีสิทธิฟ้องให้แบ่งมรดกได้ไม่ต้องห้าม

การที่ทายาทจะไม่ถูกบังคับด้วยอายุความมรดกนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ทายาทฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดกในส่วนที่ตนได้ครอบครองเท่านั้น หากทายาทฟ้องเรียกทรัพย์มรดกในส่วนที่ตนมิได้ครอบครอง ทายาทก็ต้องฟ้องเรียกทรัพย์มรดกใดส่วนนั้นภายในกำหนด 1 ปีตามมาตรา 1754 โดยการครอบครองทรัพย์มรดกของทายาทอาจจะเป็นครอบครองลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังต่อไปนี้

ก.ทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกระยะหนึ่งระยะใดหลังจากเจ้ามรดกจึงแก่ความตาย แม้ว่า ในขณะที่ฟ้องคดีจะมิได้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจาก การที่ทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกภายหลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โดยที่ทายาทอื่นมิได้หวงกัน จึงมีผลเท่ากับว่าทายาทอื่นได้ยอมรับสิทธิของทายาทคนนั้น และแม้ต่อทายาทผู้ฟ้องคดีจะมิได้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วก็ตาม ก็ถือว่า ทายาทอื่นได้ครอบครองแทนทายาทคนนั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 259/2506 โจทก์อยู่กับมารดาที่เรือนมารดาในที่พิพาท ก่อนมารดาตาย มารดาตายที่พิพาทตกเป็นมรดกของมารดา โจทก์ก็ยังคงอยู่ที่เรือนมารดาอีกหลายเดือนนับแต่มารดาตาย แล้วเรือนมารดาก็ถูกรื้อถวายวัด โจทก์จึงมาอยู่ที่เรือนจำเลยในที่พิพาทอีกหลายเดือน รวมเวลาที่โจทก์อยู่ในที่พิพาทหลังจากมารดาตายได้ราวปีเศษโจทก์จึงไปอยู่ที่จัดงหวัดอื่น นับว่า โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมากับจำเลยด้วยกันในตอนแรก โจทก์กับจำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาถือได้ว่า ครอบครองที่พิพาทไว้แนนในฐานเจ้าของร่วม แม้โจทก์มาฟ้องขอให้แบ่งมรดกที่พิพาทภายหลังมารดาตายแล้ว 18 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ

ข.ทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกอันยังมิได้แบ่ง การที่ทรัพย์มรดกยังมิได้มีการแบ่ง กฎหมายให้ถือว่า ทายาทต่างมีสิทธิ และหน้าที่ร่วมกันอย่างเช่น เจ้าของรวม ตามมาตรา 1745 ดังนั้น จึงถือว่า ทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกในส่วนนั้นร่วมกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 754/2541 เมื่อทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่พิพาทยังอยู่ระหว่างทายาทครอบครองร่วมกันและยังมิได้มีการแบ่งปันกัน เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วย แม้โจทก์จะฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อโจทก์รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 และเมื่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ. 2489 มาตรา 3 กำหนดให้การวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอายุความมรดกไม่อยู่ในบังคับต้องใช้กฎหมายอิสลาม กรณีจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.

ค.ครอบครองโดยผู้จัดการมรดก การที่ผู้จัดการมรดกได้ครอบครองทรัพย์มรดก ถือว่า ผู้จัดการมรดกได้ครอบครองแทนทายาททุกคน ดังนั้น จึงถือว่า ทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2202/2514 การที่ผู้เช่าครอบครองนาพิพาทซึ่งเช่าทำจากเจ้ามรดกถือว่า เป็นการครอบครองแทนทายาททั้งหมดของเจ้ามรดก ฉะนั้นระหว่างทายาทด้วยกัน ย่อมฟ้องขอแบ่งมรดกทรัพย์พิพาทนี้ได้โดยไม่ขาดอายุความแม้โจทก์จะไม่ชนะคดีเต็มตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องจากจำเลยก็ตาม แต่ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งหมดก็ได้เมื่อเห็นสมควร

คำพิพากษาฎีกาที่ 6637/2538 หลังจาก ส. เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้ง บ. เป็นผู้จัดการมรดก ถือได้ว่า ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดก ซึ่งยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1748 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดก คือ บ้านพิพาทได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 แล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ง.ครอบครองโดยบุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนทายาท ในกรณีที่ทายาทเป็นผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถ การที่ผู้มีอำนาจจัดการแทนครอบครองทรัพย์มรดก ถือว่า เป็นการครอบครองแทนทายาทด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 6458/2497 พี่ปกครองทรัพย์มรดกแทนน้อง ๆ น้องตายก็ยังคงปกครอง ต่อมา ทายาทของน้องฟ้องได้ไม่ถือว่า ขาดอายุความ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1365/2508 การที่จำเลยได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตลอดมาตั้งแต่เจ้ามรดกตาย แม้ต่อมาโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยก็ยังคงครอบครองแทนต่อมาอีก โจทก์ย่อมฟ้องคดีเกิน 10 ปีนับตั้งแต่เจ้ามรดกตายได้ คดีไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748

จ.ครอบครองโดยบุคคลภายนอก ในกรณีที่ทรัพย์มรดกอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ถือว่า บุคคลภายนอกได้ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นแทนทายาท

คำพิพากษาฎีกาที่ 922/2498 เมื่อได้ความว่า เจ้าหนี้ครอบครองที่ดินพิพาทของเจ้ามรดกไว้ทำประโยชน์ต่างดอกเบี้ยตลอดมา โดยทายาทมิได้ครอบครองมรดกนั้นด้วย ดังนี้ถือได้ว่า เจ้าหนี้ได้ครอบครองในนามของผู้ตายหรือครอบครองแทนทายาทของผุ้ตายร่วมกัน และอายุความที่เกี่ยวกับฟ้องขอให้แบ่งที่พิพาทระหว่างทายาทด้วยกันนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับบท ม.1754 (อายุความ 1 ปี)

คำพิพากษาฎีกาที่ 2202/2514 การที่ผู้เช่าครอบครองนาพิพาทซึ่งเช่าทำจากเจ้ามรดกถือว่า เป็นการครอบครองแทนทายาททั้งหมดของเจ้ามรดก ฉะนั้น ระหว่างทายาทด้วยกัน ย่อมฟ้องขอแบ่งมรดกทรัพย์พิพาทนี้ได้โดยไม่ขาดอายุความ แม้โจทก์จะไม่ชนะคดีเต็มตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องจากจำเลยก็ตาม แต่ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งหมดก็ได้เมื่อเห็นสมควร

แต่ถ้าภายหลังได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ทายาทได้ครอบครองรวมกันมา หากทายาทคนใดมิได้รับการแบ่งปันทรัพย์ ทายาทคนนั้นก็ต้องฟ้องให้แบ่งมรดกภายในกำหนด 1 ปีนับแต่การแบ่งปันมรดกได้สิ้นสุดลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 1754 วรรคท้าย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2971/2540 เจ้าของมรดกมีทรัพย์มรดก คือ ที่ดินโฉนดพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 2057 เพียงสองแปลง โดยไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใด จำเลยที่ 1 ได้จัดการโอนที่ดินโฉนดพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2527 โดยทายาทอื่นบางคนก็ทราบและจำเลยที่ 1 จัดการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2027 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2530 นำเงินมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ามรดกและแบ่งเงินที่เหลือให้ทายาทบางคน โดยการขายที่ดินโฉนดพิพาทของจำเลยที่ 2 นับแต่ได้รับโอนต่อมาเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่น ทั้งมีการแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทและจัดการมรดกสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2530 ซึ่งถือว่า เป็นวันเริ่มนับอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการฟ้องขอแบ่งมรดก จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทและเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ในเวลาต่อมาจึงอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิจากจำเลยที่ 2 อีกฐานะหนึ่งด้วย ย่อมยกอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754, 1755 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2536 เป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี ไม่ว่าจะนับแต่วันที่ถือว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองเพื่อตนหรือวันที่จัดการมรดกสิ้นสุดลง ดังนี้คดีของโจทก์จึงเป็นอันขาดอายุความตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

อายุความมรดกสำหรับทายาทโดยพินัยกรรม

ทายาทโดยพินัยกรรมต้องฟ้องให้แบ่งมรดกให้แก่ตนเองภายในกำหนด 1 ปี นับแต่ตนได้รู้ ยกเว้นแต่การฟ้องให้แบ่งมรดกในส่วนที่ตนเองได้ร่วมครอบครองก็ไม่จำเป็นต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตายฯ แต่ให้ฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ไม่แบ่งมรดกให้ (นับแต่วันโต้แย้งสิทธิ) อันมีลักษณะเช่นเดียวกับทายาทโดยธรรมเพียงแต่กำหนดเวลานับแต่เมื่อได้รู้ถึงสิทธิในพินัยกรรม ซึ่งในความเป็นจริงทายาทโดยพินัยกรรม หากมิได้มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมแล้วไม่มีทางจะครอบครองทรัพย์มรดกได้เลย โอกาสที่จะอายุความจะนับเมื่อมีการไม่แบ่งมรดกให้จึงไม่เกิดขึ้นมากนัก

อายุความสำหรับเจ้าหนี้กองมรดก

เจ้าหนี้กองมรดกต้องฟ้องทายาทให้ชำระหนี้กองมรดกภายในกำหนด 1 ปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายเจ้ามรดก หรือภายในกำหนด 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย หากเจ้าหนี้กองมรดกได้ฟ้องบังคับชำระหนี้เอาแก่ทายาทคนใดคนหนึ่งก่อนที่จะพ้นกำหนด 1 ปีแล้ว เจ้าหนี้คนนั้นก็สามารถที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่ทายาทคนอื่นได้แม้จะบังคับภายหลังจากที่พ้นกำหนด 1 ปีแล้วก็ตาม

อายุความมรดก 1 นี้ไม่ใช่บังคับเจ้าหนี้จำนอง จำนำ หรือบุริมสิทธิ แต่มีอายุความ 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *