ทวดตาสอน (1)

“ทวดตาสอน” หรือตาอินทร์ศร (ทวดงูศักดิ์สิทธิ์) คือ วิญญาณบรรพบุรุษ เชื่อว่า เป็นดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ประเภทกึ่งเทวดากึ่งพญาสัตว์ อันสะท้อนถึงการดำรงตัวตนของผู้คนที่นี่ นอกจากนี้ “ทวด” ยังเป็นศูนย์รวทางจิตวิญญาณ-การเคารพบูชาอย่างสูงจากชาวบ้านเกาะฐาน อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรังมาอย่างช้านาน คนสมัยก่อนเล่าว่า แต่เดิม “ทวดตาสอน” มีร่างเป็นมนุษย์ หลังจากสิ้นอายุขัย ด้วยความเป็นห่วงลูกหลานในวงศ์ตระกูลเลยกลับมาเกิดเป็น “ทวดงู” เพื่อดูแลและช่วยคุ้มครองผู้คนในย่านนี้ให้ประสบแต่ความสุขความเจริญสืบสวัสดิ์

สถานที่ตั้งของ “ทวดตาสอน”

“ทวดตาสอน” ตั้งอยู่ภายในศาลสถิตบูชาชนาดเล็กด้านในวัดเกาะฐาน เลขที่ 108 บ้านเกาะฐาน หมู่ที่ 3 ตำบลหนองช้างแล่น อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง

ที่ตั้งของศาล ตั้งอยู่บริเวณท้ายวัด ตัวศาลหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สมัยก่อนที่ยังไม่มีศาลก่ออิฐถือปูน อย่างในปัจจุบันสร้างเป็น “หลาไม้ขนาดเล็ก” (หลาหรือเพิงไม้สำหรับตั้งสิ่งเคารพบูชา) ปัจจุบันปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยสร้างด้วยปูนทั้งหลังโดยการสนับสนุนทุนทรัพย์ในการก่อสร้างศาลจากการเรี่ยไรเงินของชาวบ้านในพื้นที่ และผู้มีจิตศรัทธาจากพื้นที่ใกล้เคียง ตัวศาลทั้งภายนอก และภายในทารองพื้นด้วยสีขาว มีประตูเหล็กสำหรับเปิด – ปิดตัวศาลทางด้านหน้า ภายในพบรูปประติมากรรมเคารพบูชา “ทวดตาสอน” ตั้งอยู่ตรงส่วนกลางของศาล ลักษณะเป็น “รูปงูพญาตะบองหลาขนาดใหญ่ มีหงอนตรงกลางหัว สีดำ หางกุด” (งูจงอางขนาดใหญ่ มีอายุมาก มีหงอนตรงกลางหัว ลำตัวมีสีดำ ลักษณะหางกุด หรือหางส่วนปลายขาด) กำลังขดตัวเป็นวงกลม ชูส่วนหัวแผ่พังพานอย่างสวยงามน่าเกรงขาม มีผ้าหลากสี – ผ้าขาวม้า พวงมาลัย ดอกไม้ และการปิดแผ่นทองคำเปลวตรงบริเวณตัวงูหลายจุด ทางฝั่งซ้ายของทวดพบรูปแกะสลักเสือเป็นบริวาร ด้านบนของทวดมีผ้าขึงกันแดด ลม ฝน มีพวงมาลัยดอกไม้พาดห้อยลงมา ขนาบข้างซ้าย ขวา ถัดขึ้นไปเป็นรูปภาพธรรมจักร และประติมากรรมพระพุทธรูปขนาดเล็กตรงหน้าธรรมจักร

คำบอกเล่าเรื่อง “ทวดตาสอน”

ก่อนการสร้างรูปประติมากรรมเคารพบูชาทวดตาสอนชาวบ้านเล่าขานตำนานในพื้นที่สืบต่อกันว่า “ตาสอน” หรือ “ตาอินทร์ศร” แต่เดิมเป็นชาวบ้านในพื้นที่ เป็นผู้มีคาถาอาคมเก่งกล้า นอกจากนี้ ตาสอนยังคอยช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องต่าง ๆ จนเป็นที่รักศรัทธาของชาวบ้านที่นี่แทบทุกคน พอท่านสิ้นบุญจึงไปเกิดใหม่เป็น “ทวด” (Tuat) โดยกำเนิดเป็น “ทวดงู” เรียกว่า “ทวดตาสอน” (งูศักดิ์สิทธิ์)

“ทวดตาสอน” หรือตาอินทร์ศร (ทวดงู) จากคำบอกเล่าของพระอธิการวุฒิศักดิ์ รกฺขิตฺโต ยอดทอง (เจ้าอาวาสวัดเกาะฐาน) เล่าว่า ชาวบ้านที่นี่ภายในวัดเกาะฐาน อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และในพื้นที่ใกล้เคียง ต่างมีความเชื่อ เคารพ และศรัทธาต่อทวดงูตาสอนเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของทวดว่า จะดลบันดาลให้เป็นพรสมหวังได้ทุกประการ ต่อมาความเชื่อนี้ได้เกิดแพร่สะพัดกระจายไปสู่พื้นที่ชุมชนใกล้เคียง และในพื้นที่ห่างไกลออกไป เช่น เคยมีผู้ศรัทธาในจังหวัดสุพรรณบุรี ชลบุรี กรุงเทพมหานคร และอีกหลายจังหวัดทางภาคกลางต่างก็เคยเดินทางมาร่วมทำบุญ – ถวายปัจจัยต่าง ๆ แต่ทวดตาสอนที่วัดแห่งนี้หลายครั้ง เพราะเชื่อในเรื่องอำนาจความศักดิ์สิทธิ์จวบจน ณ ห้วงเวลาหนึ่งทางวัดเกาะฐานได้จัดสร้างเหรียญสำหรับเคารพบูชาของทวดขึ้นเป็นที่ระลึกจำนวน 2 รุ่น โดยเหรียญรุ่นที่ 2 ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปหลวงพ่อเที่ยง ธิติโก ด้านหลังเป็นรูปทวดงูตาสอนแผ่พังพอน มีหงอนตรงกลางหัว ลักษณะหงอนเสยขึ้นบนอย่างสวยงาม ตรงส่วนบริเวณลำตัวมีลวดลายสลับเป็นปล้องอย่างงูพญาตะบองหลา (งูจงอางที่มีอายุมาก) ส่วนของหางกุด เขียนกำกับเอาไว้ตรงบริเวณขอบเหรียญว่า “ตาอินทร์ศร ที่ระลึกรุ่นสร้างพระอุโบสถ วัดเกาะฐาน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง” (เหรียญรุ่นนี้ จึงถือเป็นรุ่นกำเนิดในช่วงแรก ๆ ของทวดงูตาสอน)

โดยมีเรื่องเล่าลือกันว่า ขณะสร้างเหรียญสำหรับเคารพบูชาชุดนี้ คนทรงในพิธีกรรม คือ “ตาหลวงกุ้ย” ได้เข้าทรงเป็นงู โดยขณะเข้าทรงร่างกายจะอ่อนยวบลง โน้มเอียง และล้มตึงลงสู่พื้นดิน ร่างเป็นคน แต่เลื้อยไปเหมือนงู เลื้อยไปจนถึงดงหนามงับ (ไมยราบ) ก็ยังคงเลื้อยต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้จักเจ็บกาย ร่างประหนึ่งทวดแสดงฤทธิ์เดชานุภาพ คือ เลื้อยไปขึ้นบนตัวศาล แล้วคนทรงในร่างงูก็จะติดต่อกับดวงวิญญาณของทวดตาสอนว่า จะอนุญาตให้สร้างเหรียญได้ต่อไปหรือไม่ ให้สร้างเท่าไหร่ หรือสร้างได้อย่างไรบ้าง ต่อมา วัดในพื้นที่ใกล้เคียง คือ วัดห้วยนางใหญ่มีศรัทธาต่อทวดตาสอนเช่นกัน จึงขออนุญาตสร้างเหรียญสำหรับการเคารพบูชาของทวดด้วย จำนวน 1 รุ่น ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปพ่อท่านอั๊บ (เจ้าอาวาส) ด้านหลังเหรียญเป็นรูปทวดงูตาสอน ปรากฏว่าไม่นานวัดหาญ (วัดในพื้นที่ใกล้เคียง) ขออนุญาตสร้างเหรียญสำหรับเคารพบูปชาของทวดบ้าง จำนวน 1 รุ่น ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเจ้าอาวาสวัดหาญ ส่วนด้านหลังเป็นรูปของทวดตาสอน

“ตาสอน” ในความทรงจำของคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่

พื้นที่บริเวณนี้เดิมสมัยที่ยังไม่มีการสร้างวัด มีสภาพเป็นราบลุ่มชุ่มน้ำ ลักษณะเป็นเกาะดินมีคลองห้วยโขง และคลองลำยวงโอบล้อมรอบ ชาวบ้านมักเรียกว่า “เกาะฐาน” โดยชาวบ้านเชื่อกันว่า นอกจากพื้นที่ตรงนี้เป็นที่ราบลุ่มแล้ว ยังเป็นป่ารกทึบมีสัตว์ร้ายนานาอาศัยอยู่ทั้ง เสือ ชะนี และงูพญาตะบองหลา (งูจงอางขนาดใหญ่) ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงไม่กล้าที่จะมาตั้งบ้านเรือนในพื้นที่แห่งนี้ ยกเว้น “ตาสอน” เพราะเชื่อว่า ตาสอนเป็นคนเล่นคาถาอาคมจนแก่กล้า ท่านจึงสามารถมาปลูกบ้านอยู่ภายในที่ดินบริเวณเกาะฐานได้

“ตาสอน” ในความทรงจำของคนเฒ่าคนแก่ของที่นี่จึงเป็นภาพของชายชราใจดี เก่งคาถาอาคมสายขาว ชอบช่วยเหลือชาวบ้านในยามตกทุกข์ได้ยาก (โดยเฉพาะเวลาที่ชาวบ้านในพื้นที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องไสยาศาสตร์ ตาสอนจะออกตัวช่วยเสียทุกครั้งไป) ครั้งกาลเวลาล่วงเลยผ่านไปนานหลายปี ปรากฏตาสอนได้สิ้นบุญจากไป แต่ท่านก็ยังมาเข้าฝันชาวบ้านในพื้นที่เกาะฐานอยู่บ่อย ๆ ว่า “เรานั้นขอสละที่ดินตรงบริเวณเกาะฐานที่เราครอบครองไว้ตรงนี้ ยกให้เป็นสมบัติของส่วนรวมด้วย คือ เราจักมอบที่ดินผืนนี้ไว้ให้พวกท่านใช้สำหรับสร้างวัด เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในย่านนี้ เราขออวยพรให้ท่านทั้งหลายประสบแต่โชคลาภอันใหญ่หลวงประเสริฐยิ่ง ส่วนใครก็ตามแต่ที่คิดร้าย จ้องจะยึดที่ดินตรงบริเวณเกาะไปครอบครองเป็นสมบัติแต่เพียงส่วนตน เราจักตามไปเอาชีวิต ไม่ว่ามันผู้นั้นจะเป็นใคร…” หลังจากนั้น ตาสอนในร่างมนุษย์ก็กลายร่างเป็นงูจงอางขนาดใหญ่เลื้อนเข้าไปในดงไม้ในเกาะฐาน ถึงตรงนี้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ถูกตาสอนเข้าฝันคล้ายกันหลายคน บอกเล่าเรื่องราวในลักษณะเดียวกันซ้ำ ๆ กัน จนผู้คนในเกาะฐานเริ่มเชื่อเป็นเสียงเดียวว่า ตาสอนหรือตาอินทร์ศรได้กลายร่างเป็น “ทวดงู” ไปเสียแล้ว เรียกว่า “ทวดตาสอน” หรือ “ทวดงูตาสอน” (บางคนก็เรียก “ทวดงูตาอินทร์ศร) โดยทวดในความเข้าใจของชาวบ้านท่านมีบริวารเป็นนางพญางูจงอางขาวอีกตน ชื่อ “มิเน๊าะ” หรือ “ทวดมิเน๊าะ” คอยติดสอนห้อยตามตลอด อีกทั้งยังปรากฏเสือโคร่งขนาดใหญ่และชะนีเผือกเป็นบริวารสายรองลงมาอีกด้วย

เรื่อง อิทธิฤทธิ์ของ “ทวดตาสอน” “ตาอินทร์ศร” หรือ “งูศักดิ์สิทธิ์” จังหวัดตรัง และเรื่อง บารมีคุ้มครองจาก “ทวดตาสอน” “ตาอินทร์ศร” หรือ “งูศักดิ์สิทธิ์” จังหวัดตรัง

[i] ขอบคุณที่มาบทความ ความเชื่อทางจิตวิญญาณทวดที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น. ศศลักษณ์ ทองขาว, คุณาพร ไชยโรจน์ และอำนาจ ทองขาว. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *