สิทธิกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศควรก้าวต่อไปอย่างไร

การใช้สิทธิอันสมบูรณ์และการมีส่วนร่วมในสังคมไม่มีทางเป็นไปได้ หากสังคมไม่ยอมรับว่าสมาชิกในสังคมทุกคนเสมอกันและควรได้รับสิทธิมนุษยชน สังคมไทยนั้นดูเหมือนจะยอมรับบุคคลหลากหลายทางเพศ แต่ในความเป็นจริงได้แต่เพียงจำทนกับพวกเขาเท่านั้น ซึ่งการจำทนกับการยอมรับนั้นแตกต่างกัน กล่าวคือ ในการจำทนยังคงมีความเกลียดชังได้อยู่ ในขณะที่การยอมรับจะนำไปสู่การไม่กีดกันหรือละเมิดสิทธิ[1] ดังนั้น เป้าหมายอันสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง คือ การยอมรับบุคคลหลากหลายทางเพศ เป็นสมาชิกอย่างเสมอภาคโดยสมบูรณ์ไม่ใช่พลเมืองชั้นสอง ซึ่งได้รับเพียงการจำทน โดยมีการจำกัดการใช้สิทธิและเสรีภาพอยู่ตามชายขอบของสังคม

ในประเด็นการถูกเลือกปฏิบัติในตลาดแรงงานของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ส่วนการขาดกฎหมายต่อต้าน การเลือกปฏิบัติในการทำงานและอาชีพโดยตรงนั้น แก้ไขได้โดยหาแนวทางจากลไกระหว่างประเทศที่มีอยู่ และตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีจากประเทศอื่น ๆ โดยข้อเสนอแนะทางด้านกฎหมายและนโยบายสำหรับภาครัฐ องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง องค์กรที่ทำงานในประเด็นความหลากหลายทางเพศ และภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมสิทธิความหลากหลาย และความเสมอภาคทางเพศในการทำงานและอาชีพในประเทศไทย สำหรับบุคคลที่มีวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างหลากหลาย มีดังต่อไปนี้ ในส่วนของภาครัฐควรมีการคุ้มครองสิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในกฎหมายและนโยบายระดับชาติ ปรับใช้กลไกการปฏิบัติงานที่มีอยู่ เช่น การตรวจแรงงาน การบังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมในการจัดการกับการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน และอาชีพต่อลูกจ้างทุกกลุ่มรวมถึงกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน รับรองความเสมอภาคด้านสิทธิทางกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล มีการพัฒนากฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานโดยเฉพาะ โดยมีกลไกบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้แน่ใจว่านำไปปฏิบัติได้จริง ในส่วนขององค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างส่งเสริมให้มีการเข้าใจสิทธิเกี่ยวกับกลุ่มคนรักเพศเดียวกันกับกลุ่มองค์กรในเครือข่ายองค์การนายจ้างและลูกจ้าง ส่งเสริมการยอมรับความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศในสถานที่ทำงาน โดยป้องกันความรุนแรงในสถานที่ทำงานสำหรับบุคคลทุกคน ทุกวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ในส่วนขององค์กรที่ทำงานในประเด็นหลากหลายทางเพศและภาคประชาสังคม ส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิแรงงานในชุมชนกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน และแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ระหว่างกลุ่มภายในชุมชน เพื่อเพิ่มความเข้าใจในประเด็นสำคัญ และร่วมกันเป็นตัวแทนดำเนินการส่งเสริมเพื่อประโยชน์สิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของลูกจ้างในสังคมและในสถานที่ทำงาน สร้างเครือข่ายพันธมิตรและส่งเสริมให้มีการเจรจากับทางภาครัฐ องค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้าง เพื่อความร่วมมือในเชิงรุกอย่างยั่งยืนในการส่งเสริมความเสมอภาค และยกระดับการรณรงค์ด้านกฎหมายและนโยบายเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและความรุนแรง ในการจ้างงาน ส่งเสริมความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความเสมอภาคและความหลากหลายทางเพศ สิทธิและการเลือกปฏิบัติในภาคประชาสังคมองค์กรสื่อต่าง ๆ ตลอดจนสังคมโดยรวม[2]

รูปแบบการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตในประเทศไทยนั้น จะมีลักษณะอันเป็นที่ยอมรับตามกฎเกณฑ์ทางสังคมจากผลการศึกษา ได้ 1) รูปแบบตามกลุ่มริเริ่มขับเคลื่อนจะเป็นการรวมกลุ่ม สมาคม องค์กร ไปจนถึงการสนับสนุนขององค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นหน่วยงานที่ไม่มีการแสวงหาผลกำไรเข้ามามีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนจัดกิจกรรมสนับสนุนให้คู่สมรสเพสเดียวกันได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย 2) รูปแบบตามขั้นตอนการขับเคลื่อน จากการศึกษาพบว่า จะยึดหลักความสันติ เน้นบรรยากาศที่ไม่มีความรุนแรง มีลักษณะเชิงวิชาการสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกกลุ่ม เช่น นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจ โดยมีแกนนำหลักเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่เป็นแพทย์ นักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน และนักธุรกิจ ที่เป็นผู้สนับสนุนในการประกอบกิจกรรมขนาดใหญ่เป็นหลัก ซึ่งจะมีวิสัยทัศน์ และเป้าประสงค์ร่วมกัน และ 3) รูปแบบตามเนื้อหาในกฎหมายจากการศึกษา พบว่า รูปแบบตามเนื้อหาในกฎหมายนั้นมีความเหมือนกับสิทธิประโยชน์ของคู่สมรสชายหญิงทั่วไปได้รับหากแต่จะมีปัญหาด้านการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมที่ยังไม่มีความยินยอมจากรัฐบาล[3][4]


[1] กฤตยา อาชวนิจกุล อ้างอิงในวิทิต มันตาภรณ์, 2557. ความคิดเห็นเสนอในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการงานวิจัย PRIDE ประเทศไทย. ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย :  กรุงเทพฯ.

[2] บุษกร สุริยสาร. (2557). อัตลักษณ์และวิถีทางเพศในประเทศไทย / บุษกร สุรยิสาร ; องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ; โครงการส่งเสริมสิทธิ ความหลากหลาย และความเท่าเทียมในโลกของการทำงาน (PRIDE).  กรุงเทพฯ : องค์การแรงงานระหว่างประเทศ.

[3] บารมี พานิช และสุพรรณี ไชยอำพร. (2559). รูปแบบและขั้นตอนการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตในประเทศ. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

[4] ขอขอบคุณที่มาบทความ ความไม่เท่าเทียมในสิทธิกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ. โดยสิริวิมล พยัฆษี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *