สาเหตุและปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดความอ้วน โรคอ้วน

โรคอ้วนเกิดจากสาเหตุร่วมหลายประการที่ทำให้มีไขมันสะสมมากเกินไป เกิดจากความไม่สมดุลของพลังงาน คือ ได้รับพลังงานจากสารอาหารมากกว่าพลังงานที่ร่างกายใช้ไป ซึ่งไม่จำเป็นว่า คนที่อ้วนจะกินมากกว่าคนที่ไม่อ้วน เชื่อว่า ในคนอ้วนคงมีการเพิ่มความสามารถในการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีพลังงานเหลือเก็บไว้มาก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่คาดว่า อาจเป็นสาเหตุส่งเสริมให้อ้วนได้

ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดความอ้วน โรคอ้วน

  1. ลักษณะของรูปร่าง (สรีระ) มีจำนวนไขมันแตกต่างกัน
    • คนที่รูปร่างแบบเอ็นโดมอร์ฟี (endomorphy) จะมีไขมันมากกว่ากล้ามเนื้อ พวกนี้จะอ้วนได้ง่าย
    • คนที่มีรูปร่างแบบมีโซมอร์ฟี (mesomorphy) จะมีกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมากที่สุด
    • คนที่มีรูปร่างแบบเอคโตมอร์ฟี (ectomorphy) จะมีกล้ามเนื้อผอมเรียวยาว ไขมันน้อย
  2. ปัจจัยทางพันธุกรรม อาจมีส่วนส่งเสริมอยู่บ้างในการทำให้อ้วนการถ่ายทอดจากพันธุกรรมโดยยีนส์หรือโครโมโซม และมีการศึกษาพบว่า ถ้าพ่อและแม่มีน้ำหนักมาก ลูกมีโอกาสที่อ้วนถึงร้อยละ 80 ถ้าคนใดคนหนึ่งอ้วนโอกาสที่ลูกอ้วนลดลงเหลือร้อยละ 40 ถ้าพ่อแม่ผอมลงทั้งคู่ลูกมีโอกาสอ้วนเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น
  3. ปัจจัยสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเชื่อว่า โรคอ้วนเป็นผลจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมร่วมกับพันธุกรรม เช่น การเลี้ยงดู อุปนิสัย วัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ได้สะสมตาม ๆ กันมา ทำให้ความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่ร่างกายได้รับกับพลังงานที่ใช้ไป ที่เด่นชัด คือ การรับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ได้แก่ อาหารจานด่วนหรือฟาสต์ฟูด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารจำพวก แป้ง ไขมัน มีเส้นใยจากอาหารน้อยเป็นอาหารที่ให้พลังงานมาก มีการเพิ่มปริมาณการขาย โดยการลด แลก แจก แถม ขายเป็นชุด อีกทั้งเด็กและวัยรุ่นนิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีแคลอรีมาก เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้กระป๋อง ผู้ใหญ่นิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน ซึ่งเครื่องดื่มเหล่านี้หาซื้อได้ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงพยาบาล หรือตามตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติที่กดซื้อได้ตลอดเวลา ในประเทศไทยมีการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคอ้วนในเด็ก พบว่า กลุ่มเด็กอ้วนจะมีบิดามารดาที่อ้วนมากกว่ากินอาหารที่มีไขมันสูงกว่า ดื่มน้ำอัดลมบ่อยกว่ากินอาหารที่มีโปรตีนน้อยกว่า พฤติกรรมการกิน พบว่า กินอาหารว่างบ่อยกว่า ซึ่งมักเป็นอาหารว่างปรุงรสบรรจุถุงสำเร็จรูป เช่น ช็อกโกแลต ข้าวอบกรอบ ได้รับปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากกว่า และพบว่า กลุ่มอ้วนจะมีระดับการศึกษาและเศรษฐานะของบิดา มารดาสูงกว่ากลุ่มไม่อ้วน ดังนั้น การบริโภคอาหารที่มีพลังงานสูงร่วมกับการมีเครื่องอำนวยความสะดวกหรือเครื่องจักผ่อนแรง การทำงานที่ใช้พลังงานน้อย เช่น ทำงานนั่งโต๊ะ ทำบัญชี งานคอมพิวเตอร์ การใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ในการดูโทรทัศน์ เล่นวิดีโอเกม และเล่นคอมพิวเตอร์มากกว่าที่จะออกกำลังกาย การดำเนินชีวิตแบบนั่ง ๆ นอน ๆ เป็นปัจจัยหรือสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุบัติการณ์โรคอ้วนเพิ่มขึ้นในระยะ 10 ปีมานี้
  4. ปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่
    • โรคของระบบต่อมไร้ท่อบางอย่าง เช่น ต่อมไทรอยด์ไม่ทำงาน โรคคุชชิ่ง
    • การรับประทานยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตอรอยด์ ยาคุมกำเนิดบางชนิด ยาเพรดนิโซโลน มีผลให้รับประทานอาหารมากขึ้น อ้วนแบบผิดส่วน มีไขมันพอกที่คอ ยาพวกนี้ทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน และติดเชื้อโรคได้ง่าย
    • การเลิกสูบบุหรี่ จะทำให้น้ำหนักขึ้นเฉลี่ย 2 – 3 กิโลกรัม การเลิกสูบบุหรี่จะมีการลดการใช้พลังงานของร่างกายถึง 100 กิโลแคลอรีต่อวัน ร่วมกับการรับประทานอาหารมากขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *