สามีแจ้งว่า “โสด” ผิดฐานแจ้งความเท็จ

เมื่อสามีแจ้งต่อพนักงานที่ดินว่า “โสด” เพื่อจดทะเบียนจำนองที่ดิน ถือว่า แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานเป็นควาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แม้สามีเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามโฉนด แต่ที่ดินดังกล่าวได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส ภริยาจึงฟ้องสามีในความผิด “ฐานแจ้งความเท็จ”

อุทาหรณ์ สามีซื้ออาคารชุดในระหว่างสมรสกับภรรยา อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งคู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่สามีให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่า “โสด” ไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จ แม้สามีจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียว สามีก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยภริยาไม่ยินยอม การที่สามีแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่า เป็น “โสด” เจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนจำนองที่ดินให้สามีย่อมทำให้ภริยาได้รับความเสียหายแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่า ภริยาต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือภริยามีสินสมรสเพิ่มขึ้น ภริยาจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องสามีในความผิดฐาน “แจ้งความเท็จ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8739/2552)

อุทาหรณ์สอนครู การแจ้งว่า ตนเป็นโสดทั้ง ๆ ที่มีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานแจ้งข้อความเท็จก็ต่อเมื่อเป็นการแจ้งต่อพนักงานผู้มีหน้าที่ในกานั้น อาทิเช่น แจ้งต่อพนักงานที่ดินเกี่ยวกับที่ดิน แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำเรื่องการเบิกจ่ายสวัสดิการของทางราชการ เป็นต้น และต้องแจ้งเกี่ยวกับงานในหน้าที่นั้น ๆ แต่ถ้าไปอ้างตนว่า เป็น “โสด” ต่อบุคคลอื่น หรือแม้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนั้น แต่แจ้งว่า “โสด” ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานก็ไม่เป็นความผิด[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ กลุ่มงานวินัยและนิติการ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *