สามีทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กล่าวถึงเรื่องการจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาไว้ โดยแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็น 2 ประเภท คือ “สินส่วนตัว” กับ “สินสมรส” สำหรับ “สินส่วนตัว” นั้น ได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ รวมถึงทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา หรือสิ่งที่เป็นของหมั้น ส่วน “สินสมรส” นั้น ได้แก่ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อ “พินัยกรรม” หรือ “หนังสือยกให้” ระบุว่า เป็น “สินสมรส” รวมถึง ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัวนั้นด้วย

ในส่วนของการจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาได้ แบ่งเป็นการจัดการในสินส่วนตัว โดยคู่สมรสผู้เป็นเจ้าของแต่ละฝ่ายจัดการได้เองโดยลำพัง แต่ถ้าเป็นสินสมรสแล้ว จะต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น การขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือการก่อให้เกิด หรือยกเลิกภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี การให้กู้ยืมเงิน ให้โดยเสน่หา (เว้นแต่การให้ที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา) การประนีประนอมยอมความ มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย รวมถึงการนำทรัพย์สินไปเป็นประกัน หรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงาน หรือศาล

การทำพินัยกรรมในส่วนสินสมรสนั้น เป็นการจำหน่ายสินสมรสอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลเมื่อคู่สมรสผู้จำหน่ายถึงแก่ความตายลง มาตรา 1481 บัญญัติบังคับไว้ว่า สามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจะทำพินัยกรรมจำหน่ายสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนไม่ได้ หากขืนทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลอื่น พินัยกรรมนั้นไม่มีผลบังคับถึงสินสมรสที่เกินส่วนนั้น คงมีผลเฉพาะสินสมรสที่เป็นส่วนของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะโต้แย้งคัดค้านว่า สามีหรือภริยา ทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลอื่นได้นั้น มีเฉพาะภริยา หรือสามีอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น บุคคลอื่นแม้จะเป็นบุตรก็ไม่อาจอ้างว่าได้ นอกจากนี้ ถ้าทรัพย์สินที่ทำพินัยกรรมนั้นเป็นสินส่วนตัวแล้ว สามีหรือภริยาผู้เจ้าของย่อมมีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินส่วนตัวนี้ให้แก่ผู้ใดได้ทั้งหมด

มีปัญหาว่า สามีทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสให้แก่บุคคลอื่นทั้งแปลงโดยภริยาให้ความยินยอมในพินัยกรรมจะมีผลทำให้บุคคลอื่นนั้นได้รับที่ดินสินสมรสนั้นทั้งแปลงหรือไม่

คำตอบคือ แม้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอมก็ตาม ก็ไม่มีผลเพราะมาตรา 1481 นี้บังคับไว้โดยเด็ดขาด แม้อีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอมก็ตาม สามีหรือภริยาก็ไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสให้ผู้อื่นเกินกว่าส่วนของตนได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1083/2540 ในการทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสินสมรสระหว่างสามี ภริยา ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1481 ที่ระบุว่า สามี หรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า โจทก์ตกลงยินยอมให้ ซ. สามีทำพินัยกรมยกสินสมรสของตนให้บุคคลอื่น ข้อตกลงยินยอมนั้น ย่อมฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว และยังขัดต่อความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 ที่กำหนดให้บุคคลใด ๆ มีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้บุคคลอื่นได้ก็แต่เฉพาะทรัพย์สินที่เป็นของตนเท่านั้น เหตุนี้ข้อตกลงยินยอมดังกล่าวไม่ทำให้พินัยกรรมที่ ซ. จัดทำมีผลผูกพันไปถึงที่ดินสินสมรสที่เป็นส่วนของโจทก์ด้วย โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่า พินัยกรรมไม่มีผลผูกพันสินสมรสที่เป็นส่วนของโจทก์ได้

ตามปกติสามีหรือภริยาต่างมีอำนาจจัดากรได้โดยลำพังอยู่แล้ว เว้นแต่การจัดการที่สำคัญรวม 8 ประการตามมาตรา 1476 ที่ต้องจัดการร่วมกันทั้งสองคน หากสามีหรือภริยาจัดการสินสมรสไปในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทำหนี้สินล้นพ้นตัว คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวได้ หรือร้องขอให้แยกสินสมรสก็ได้ นอกจากนี้ ศาลยังมีอำนาจที่จะกำหนดวิธีคุ้มครองชั่วคราว เพื่อจัดการสินสมรสตามที่เห็นสมควรก็ได้ เมื่อการจัดการสินสมรสกฎหมายได้กำหนดไว้ดังนี้แล้ว การที่จะยกให้บุคคลใดก็ตามต้องพิจารณาว่า ทรัพย์สินที่ยกให้นั้นมีแค่ไหนเกินส่วนของตนหรือไม่ และต้องระบุไว้ให้ชัดเจนมีเพียงแค่ไหนจะได้ไม่มีปัญหาตามมาในภายหลัง[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ พินัยกรรม ยกสินสมรสเกินส่วนของตน ผลเป็นอย่างไร โดย พรเทพ ทวีกาญจน์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *