“สัญญาประกันชีวิต” คิดก่อนตัดสินใจ

สัญญาประกันชีวิต เป็นสัญญาประกันภัยประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย เนื่องจาก ผู้เอาประกันชีวิตจะได้รับประโยชน์หลากหลายประการ อาทิ 1) เป็นหลักประกันให้แก่บุคคลในครอบครัวกรณีที่ผู้เอาประกันชีวิตต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันจนถึงแก่ชีวิต 2) สัญญาประกันชีวิตบางประเภทมีรูปแบบให้ผลประโยชน์ในลักษณะคล้ายการออมเงิน และ 3) ประโยชน์ในทางภาษีซึ่งผู้เอาประกันชีวิตสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระมาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับบริบททางกฎหมาย สัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาซึ่งผู้รับประกันชีวิต ตกลงจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้รับประโยชน์ต่อเมื่อผู้ซึ่งถูกเอาประกันชีวิตเสียชีวิตลงภายในเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ หรือยังมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาที่ตกลงกันไว้ และผู้เอาประกันชีวิตตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า “เบี้ยประกันชีวิต” ให้แก่ผู้รับประกันชีวิต จึงกล่าวได้ว่า สัญญาประกันชีวิตอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่งเป็นเงื่อนไขในการใช้เงิน ซึ่งสัญญาประกันชีวิตนั้น หลายครั้งมักเป็นคดีขึ้นสู่ศาล ดังนั้น ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับสัญญาประกันชีวิต สามารถแสดงให้เห็นได้ดังนี้

1.กรณีตัวแทนบริษัทประกันชีวิตหลอกผู้เอาประกันชีวิตว่า รูปแบบของกรมธรรม์มีลักษณะเหมือนการฝากเงินกับธนาคาร สามารถเบิกถอนเงิน และได้รับสิทธิพิเศษในการประกันชีวิต เป็นเหตุให้ผู้เอาประกันชีวิตสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม เนื่องจาก เข้าใจว่า เป็นการฝากเงินกับธนาคาร ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ มีคำพิพากษาฎีการวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 534/2559 จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โดยหลอกลวงว่า เป็นการทำกรมธรรม์ที่มีลักษณะเหมือนกับการฝากเงินกับธนาคารโดยสามารถถอนเงินได้แต่มีสิทธิพิเศษคุ้มครองด้วยการประกันชีวิต และให้ ส. ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิตแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 การฉ้อฉลดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดในเนื้อหา หรือลักษณะของนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาประกันชีวิตย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปจากโจทก์ จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้ให้โจทก์อันเนื่องมาจากเป้นลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412

2.ปัญหาจากกรณีตัวแทนบริษัทประกันชีวิตให้ข้อมูลแก่ผู้เอาประกันชีวิตเกี่ยวกับจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขกรมธรรม์ ซึ่งจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันนั้นถือว่า เป็นสาระสำคัญแห่งสัญญา ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 7666/2559 การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาประกันชีวิตของโจทก์เกิดจากการสำคัญผิดในจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันชีวิต และการสำคัญผิดเกิดจากจำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขของกรมธรรม์ ซึ่งจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันชีวิต ถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะ จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจนำเงื่อนไขทั่วไปแห่งกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ว่าโจทก์จะต้องใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์มาใช้บังคับได้ กรณีต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเบี้ยประกันชีวิตแก่โจทก์

3.ผู้เอาประกันชีวิตมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันชีวิตทราบ การปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าผู้เอาประกันชีวิตทำสัญญาประกันชีวิตกับผู้รับประกันชีวิตรายอื่นไว้หลายกรมธรรม์ ย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ผู้รับประกันชีวิต เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานว่า การทำสัญญาประกันชีวิตหลาย ๆ กรมธรรม์ดังกล่าว เหมาะสมกับฐานะ หรืออาชีพของผู้เอาประกันชีวิตอย่างไร จึงเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตไม่เปิดเผยข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญ สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ ผู้รับประกันชีวิตชอบที่จะบอกล้างได้ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 3246-3250/2559 สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ต้องการความสุจริต หรือความไว้วางใจระหว่างคู่สัญญาเป็นคำสำคัญ ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยรับรู้ขณะที่ ส. ขอทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยทั้งห้า ส. ได้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายอื่นอีกนับสิบรายเป็นจำนวนหลายสิบกรมธรรม์ รวมเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยกว่า 47 ล้านบาท ย่อมถือได้ว่า ส. เป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจาก การขอเอาประกันภัยไว้เป็นจำนวนเงินที่สูง โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่า เหมาะสมกับฐานะ หรืออาชีพของ ส. หรือไม่อย่างไร และอาจมีมูลเหตุไปในทางไม่สุจริตดังกล่าวให้จำเลยทั้งห้าทราบ เพราะอาจจูงใจให้จำเลยทั้งห้าเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้น หรือบอกปัดไม่รับประกันภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ การที่จำเลยทั้งห้ายอมตกลงเข้าทำสัญญาประกันภัยตามฟ้องกับ ส. จึงเกิดจากความไม่สุจริตของ ส. ที่ไม่เปิดเผยข้อความจริง อันเป็นสาระสำคัญ สัญญาประกันภัยตามฟ้องย่อมตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งห้าบอกล้างโดยชอบแล้ว สัญญาประกันภัยจึงตกเป็นโมฆะ

4.กรณีผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตาย เงินประกันชีวิตไม่ถือว่า เป็นทรัพย์มรดกของผู้เอาประกันชีวิต เพราะเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากความตายไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 4714/2552 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัว และสินสมรสนั้น หมายถึง ทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน ณ. ถึงแก่กรรมย่อมทำให้การสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 เงินชดเชยเป็นเงินที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ. และได้รับมาหลังจาก ณ. ถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เป็นมรดกของผู้ตายนั้น ทรัพย์สิน หรือสิทธิเช่นว่านี้ต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แต่สิทธิที่จะได้รับเงินค่าชดเชยเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ. มิใช่เป็นเงิน หรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิต หรือขณะถึงแก่กรรม จึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของ ณ. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตายกับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่านั้น หาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในเงินกองทุนเลี้ยงชีพ สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้น เนื่องจาก ความตายของ ณ. มิใช่เป็นเงิน หรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิต หรือขณะถึงแก่กรรม แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มาจาก ณ. จะต้องเคยชำระเงินในอัตราร่วมกับพนักงานของจำเลยคนอื่น ๆ เพื่อรวบรวมส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมรายก่อน ๆ ก็มิใช่เป็นมรดกของ ณ. โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่งเงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอก และจำเลยเพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์สืบ เนื่องจาก ความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิตสิทธิตามสัญญาเกิดขึ้น เมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่กรรมที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้ สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายระบุให้จำเลย ซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์อันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่า เฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย อันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันชีวิตโดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องเพื่อเรียกเงินประกันชีวิต จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียกร้องของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

แต่หากเป็นกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมิใช่ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ว่าให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตน หรือแก่ผู้ใดให้ถือว่า จำนวนเงินอันจะถึงใช้นั้นให้เอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันชีวิต มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉันไว้ดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 4239/2558 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ประกอบด้วย สินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึง ทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายย่อมทำให้การสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิตนั้นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต และเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกซึ่งได้รับมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับตามตารางกรมธรรม์มิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ว่าให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตน หรือแก่ผู้ใด จึงไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับกับคดีได้โดยตรง และต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง มาใช้บังคับ คือ อาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ได้แก่ มาตรา 897 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตน โดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร์ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้” ดังนั้น เงินประกันชีวิตดังกล่าว จึงต้องแบ่งให้แก่ทายาทของผู้ตายในฐานะสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (1), 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาผู้ตายต่างได้รับส่วนแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กันและเท่ากับโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และเด็กชาย ศ. ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร

แต่ถ้ากรมธรรม์ประกันชีวิตมีการระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้ แต่ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายก่อนแสดงเจตนาเข้ารับเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต จึงไม่อาจจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ได้ และไม่อาจถือได้ว่า เงินตามกรมธรรม์ที่จะต้องจ่ายนั้นเป็นกองมรดกของผู้รับประโยชน์ แต่ให้ถือว่า เงินที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตนั้นเป็นเสมือนทรัพย์สินแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันชีวิต มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 6893/2559 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อ ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตาย ซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อน หรือหลัง ส. ก็ตาม ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตาย จึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้น จึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ และไม่ถือว่า เงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ตกเป็นกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้น ประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิต จึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. เสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้ เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส.

ข้อสังเกต : กรณีเงินประกันชีวิตจะเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่นั้น สามารถสรุปได้ว่า หากกรมธรรม์ประกันชีวิตมีการระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้ เมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตาย และผู้รับประโยชน์ยังมีชีวิตอยู่ เงินที่ได้รับตามกรมธรรมไม่ถือว่า เป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อน หรือขณะถึงแก่ความตายจึงไม่เป็นมรดก (คำพิพากษาฎีกาที่ 4714/2542) แต่หากกรมธรม์ประกันชีวิตมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้เงินอันจะพึงใช้ตามกรมธรรม์นั้นให้จัดเป็นทรัพย์สิน ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันชีวิต (คำพิพากษาฎีกาที่ 4239/2558) แต่ถ้ากรมธรรม์ประกันชีวิตมีการระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้ แต่ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายก่อนแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์ตามกรมธรรม์ ถือว่า เป็นกรณีไม่มีผู้รับประโยชน์ที่จะจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ดังนั้น ประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกทอดเสมือนเป็นทรัพย์มรดกของผู้เอาประกันชีวิต (คำพิพากษาฎีกาที่ 6893/2559)

การทำสัญญาประกันชีวิตเปรียบเสมือนการสร้างหลักประกันในอนาคตไว้ให้บุคคลอันเป็นที่รัก ดังนั้น ในการเข้าทำสัญญาจึงขอให้ศึกษา อ่านและไตร่ตรองเงื่อนไขต่าง ๆ ของกรมธรรม์ประกันชีวิตให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ[1]  


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ สัญญาประกันชีวิต รู้ก่อนสักนิด ก่อนคิดตัดสินใจ โดยทีปกร โกมลพันธ์พร และนริสา เอี่ยมอำนวย.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *