สภาวะแท้จริงของกรรม (Nature of Kamma) กรรมเก่า กรรมใหม่

กรรมที่ถูกต้องนั้นต้องพิจารณาความเป็นจริงของกรรมว่า คืออะไร มีสาเหตุจากอะไร และมีผลหรือเป้าหมายอย่างไร จุดยืนของพระพุทธศาสนาถือความจริงที่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินไปอยู่ในปัจจุบัน มีพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ว่า “กรรมเก่าเป็นไฉน” คือ ตาเห็นรูปได้ พึงเห็นว่า เป็นกรรมเก่า หู จมูก ลิ้น กายใจก็เป็นเช่นกัน พึงเห็นว่า เป็นกรรมเก่า อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งของเวทนานี้ เรียกว่า กรรมเก่า กรรมใหม่ เป็นไฉน คือ กรรมที่บุคคลทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในปัจจุบันขณะนี้ เรียกว่า “กรรมใหม่” ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน คือ นิโรธที่ถูกต้องวิมุตติเพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม นี้เรียกว่า ความดับแห่งกรรม เป็นไฉน คือ นิโรธที่ถูกต้อง วิมุตติเพราความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม นี้เรียกว่า ความดับแห่งกรรม หลักปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกรรม ได้แก่  “การเจริญมรรคมีองค์ 8” ในนิพเพธิกสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงสาเหตุของกรรมว่า “ผัสสะ 14 เป็น เหตุเกิดแห่งกรรม” และในนิทานสูตร พระพุทธองค์ตรัสถึงเหตุเกิดแห่งกรรมในลักษณะที่เป็นปัจจัยเกิดสืบเนื่องต่อกันเป็นสาย ซึ่งสรุปเหตุเกิดกรรมชั่ว คือ โลภะ โทสะ โมหะ เหตุที่เกิดกรรมดี คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ พุทธพจน์นี้บ่งบอกสภาวะของจิตนั่นเอง ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สิ่งภายนอก ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วไปมักนำเอาหลักกรรมไปอธิบายสิ่งปรากฏภายนอก แท้จริงแล้ว สิ่งที่ปรากกภายนอกก็เกิดขึ้นในจิตในฐานะสัญญา คือ ภาพความจำของจิตนั่นเอง ถ้ามองจากจุดนี้ ลักษณะของกรรมไม่สามารถจะแยกออกจากจิตที่ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยที่ทำงานร่วมกันในรูปแบบ กิเลส กรรม วิบาก คือ จิตมีลักษณะรับรู้อารมณ์และเกิด – ดับพร้อมกับอารมณ์ การเกิดดับของจิตนั้นเกิดจากแรงผลัก คือ กิเลส ส่งผลให้สถานะของจิตมีสภาพถูกปรุงแต่ง เรียกว่า สังขารหรือกรรม การที่กรรม คือ สภาพจิตที่ปรุงแต่งโดยกุศลกับอกุศล ทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด โดยมีเจตนาเป็นตัวกำหนดที่ไป เจตนา คือ กรรมที่แสดงออกของการกระทำที่เป็นกุศลหรืออกุศล กรรมทางพระพุทธศาสนาจึงมิใช่ตัวกำหนดโชคชะตา หรือสังคมของมนุษย์ แต่เป็นเรื่องการกระทำ ซึ่งทางศาสนาแบบเทวนิยมมีความเข้าใจว่า พระเจ้าเป็นผู้กำหนด เมื่อจิตเกิด – ดับ วิบากก็อยู่ในช่วงขณะที่จิตเกิด – ดับนั้นเองต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย เมื่อถูกปรุงแต่งโดยกุศลจิตและสติปัญญาก็จะทำให้เกิดการเข้าใจกระบวนการดังกล่าว สามารถน้อมจิตซึ่งกำลังเสวยวิบากกรรมซึ่งเป็นกุศลและอกุศลนั้นให้เข้าสู่ปัญญาเพื่อหลุดพ้นออกจากความหลง เข้าใจผิดและอุปาทานว่า มีตัวตนเป็นเราเป็นเขา การยึดถือเป็นตัวตนเราเขานั้นเองเป็นผล คือ วิบากและเป็นเหตุของการกระทำที่แสดงออกมาทางกายและวาจา ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เกิดวิบากกรรม ดังนั้น ตัวตนที่เกิดขึ้นจึงเป็นวิบากกรรมของกรรมโดยอัตโนมัติ เป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่า จะเอาตัวตนไปทำและไปเสวยอารมณ์อย่างที่ตนคิด เช่น มโนภาพภพภูมิต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ต่างหากจากจิตที่เป็นปัจจุบัน ย่อมตกอยู่ในเครือข่ายของความคิดซึ่งถูกปรุงแต่งโดยความไม่รู้

ภาพแสดงการทำงานของกรรมช่วงขณะจิต

ดังนั้น ลักษณะกรรมที่ถูกต้องของพระพุทธศาสนานั้น จึงประกอบด้วยคุณลักษณะที่ตรงกันข้ามกับหลักแนวคิดของเทวนิยม ดังนี้

1. มุ่งตรงต่อการตัดการเวียนว่ายตายเกิด

“กรรม” คือ เครื่องมือที่นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงการดับกรรม ได้แก่ ข้อปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นเป้าหมาย จิตให้หลุดพ้นจากทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว เป็นการสิ้นกรรม คือ การหยุดปรุงแต่งทางความคิด การจะหลุดพ้นจากอำนาจของความคิดได้ต้องพัฒนาจิตตามหลักไตรสิกขา เพื่อให้เกิดวิปัสสนาญาณ ซึ่งสามารถรู้เท่าทันสภาวธรรมตามความเป็นจริงได้ ความหลงคิดผิดว่า มีตัวตนที่เที่ยงแท้ มีสิ่งที่เป็นสุขนิรันดร์ก็พลอยดับไปด้วย เพราะสภาวะที่สติปัญญามองเห็นความจริงปรากฏชัดแจ้งทุกข์ตามหลักไตรลักษณ์ ดังนั้น ภาวะจิตของผู้บรรลุธรรมย่อมไม่ตกลงไปสู่ความผิดพลาดโดยการคิดว่า มีตัวเขา ตัวเราอีกการกระทำที่ไม่มีกิเลสจึงไม่จัดเป็นกรรมแต่เป็นเพียงกิริยาเท่านั้น จึงไม่มีวิบาก คือ ไม่มีตัวตนที่จะต้องไปรับผลนั่นเอง จึงกล่าวได้ว่า ภาวะจิตเช่นนั้นเป็นการหลุดพ้นจากวัฏฏะ 3 คือ กิเลส กรรม วิบากและได้บรรลุถึงนิพพาน

2. ทำลายการแบ่งชนชั้นทางสังคม

ในศีลธรรมระดับโลกิยะซึ่งคนทั่วไปผู้ไม่รู้ความเป็นจริงเรื่องกรรม ย่อมนำหลักกรรมมาใช้เพื่อการแบ่งชนชั้น เนื่องจาก ผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้ ต่อเมื่อปราศจากความเข้าใจผิดในเรื่องของการมีตัวตนเราเขาแล้ว การกระทำหรือกรรมก็คือ การดำรงชีวิตอยู่ พร้อมด้วยสติและสติสัมปชัญญะพิจารณาให้ความสำคัญกับจิตและภาวะที่มากระทบ การดำรงชีวิตจึงเป็นไปเพื่อการลดทอนชนชั้นในทางสังคม เพราะถือเอาคุณสมบัติของจิตเป็นหลัก มิได้ถือเอาคุณสมบัติและปริมาณของวัตถุซึ่งทำให้เกิดความพึงพอใจ ไม่พอใจจนมีอิทธิพลครอบงำเหนือจิต ดังนั้น กรรม คือ ความพยายามเพื่อทำลายการแบ่งชนชั้น วรรณะ การถือเราถือเขา ความขัดแย้ง เป็นต้น

3. เป็นศีลธรรมแบบเสรี

กรรมเป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากจิตที่เป็นกุศลและอกุศล กรรมจึงถือเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตนเองโดยการใช้สติสัมปชัญญะรู้ความเป็นจริง และไม่หลงคล้อยตามไปตามความหลง ลักษณะกรรมและผลของกรรมเกิดขึ้นในช่วงขณะจิตและเสวยผลดับไปสืบต่อเนื่องกัน ดังนั้น การทำสิ่งใดล้วนมีเป้าหมายในตัวมันเองหรือมีคุณค่าสิ้นสุดในตัวมันเอง ไม่ได้เกิดจากการคาดหวัง สิ่งอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือตนเองจะได้สิ่งใดตอบแทน เสร็จสมบูรณ์ในตัวเองแล้ว คือ ไม่เป็นทาส ไม่ต้องเดือดร้อนใจภายหลัง กรรมจึงสนับสนุนศีลธรรมแบบเสรีภาพ เพราะศีลธรรมเป็นตัวจิตที่กำลังเกิดขึ้นและดับไปทุกขณะ จิตก็จะทำงานใหม่ไปทุกขณะนั่นเอง

4. ทำลายอัตตานิยมแลลเสพติดวัตถุ

เมื่อเกิดความรู้เข้าใจอย่างถูกต้อง จิตจะสร้างกรรมเพื่อทำลายความหลงผิดเป็นอัตตา คือ การยึดถือว่า มีตัวตนพร้อมกับคุณลักษณะความเป็นตัวตนใด ๆ ที่ติดตามมา โดยไม่ได้คาดหวังหรือเสพติดภาพที่ปรากฏภายนอกซึ่งเป็นสัญญาที่กำลังปรากฏในขณะปัจจุบัน สติสัมปชัญญะทำให้คลายจากความยึดมั่นว่า เป็นตัวตนและเราเขา เพราะเห็นสัญญาเกิด – ดับไม่ได้สร้างภาพของวัตถุภายนอกให้ดำรงอยู่นาน จิตย่อมไม่ติดเสพอารมณ์นั้น ดังนั้น กรรมที่ถูกต้องจึงนำไปสู่การทำลายอัตตาโดยตรงตรงกันข้ามกับกรรมที่คนทั่วไปเข้าใจที่สร้างอัตตาภาวรไว้รอเสพผลกรรมในอนาคตเพราะความอยากหรือตัณหา

5. เน้นหลักสัจธรรม

“หลักสัจธรรม” คือ ความเป็นจริงซึ่งกำลังปรากฏเป็นองค์ธรรมที่สำคัญสำหรับการรู้อารมณ์ และการหลุดพ้นจากความหลงผิด กรรมจึงไม่ใช่คำอธิบาย แต่เป็นปรากฏการณ์ที่ดำเนินไปอยู่ตามธรรมชาติ ในขณะปัจจุบัน หลักสัจธรรมเป็นหลักธรรมนิยาม คือ ความไม่เที่ยง การดำรงอยู่เพียงชั่วขณะ และดับพร้อมไปจิตสืบเนื่องกัน เมื่อจิตมีความมั่นคงต่อขณะปัจจุบัน ก็สามารถทำลายความคิดหลงข้ามขณะปัจจุบันไปสู่อดีตและอนาคต ดังนั้น ข้อเท็จจริง คือ หลักกรรมเป็นกระบวนการซึ่งจะดำเนินไปสู่เป้าหมาย คือ การปล่อยวางความยึดมั่นทุกอย่าง

6. ส่งเสริมเสรีภาพในการดำเนินชีวิตด้วยสติสัมปชัญญะ

เมื่อจิตรู้สภาวะความเป็นจริงและรู้ว่า ต้นเหตุของการเข้าใจผิดเรื่องกรรมเป็นมิจฉาทิฐิที่เจ้าลัทธิศาสนาอื่นสอนให้ยึดมั่นถือมั่น เพราะความไม่รู้จะเจอทางที่ถูกต้อง การดำเนินชีวิตจึงเกิดความหลงเข้าใจผิด และมีพฤติกรรมเป็นไปในทางทุจริต หรือยึดมั่นผูกตัวเองไว้กับความหลง ผู้มีสติจะแสวงหาสถานภาพที่แท้จริงในเชิงปฏิบัติโดยกำหนดรู้สภาวธรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อปลดปล่อยจิตจากความเป็นทาสของกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง มองเห็นสิ่งที่มากระทบเป็นเพียงอารมณ์ที่เกิด – ดับ ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะจึงมีเสรีภาพไม่ขึ้นตรงต่อสิ่งใด ไม่เป็นทาสของใคร การเป็นทาส คือ การยอมให้จิตถูกภาพสัญญาครอบงำจิตอยู่นาน และมีอำนาจในการปรุงแต่งให้เกิดความหลงยึดถือสัญญาอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะความเคยชินของสมอง ต่อเมื่อจิตมีสติรู้เท่าทันภาพสัญญาที่เกิดดับก็สามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *