south-korea-national-flag-isolated-3d-white-background (1)

อาณาจักรแรกของเกาหลี คือ อาณาจักรโคโชซอน (โซซอนโบราณ) เป็นอาณาจักรโบราณก่อตั้งเมื่อ 2333 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีกษัตริย์ปกครอง โดยราชวงศ์โซซอนเป็นราชวงศ์สุดท้าย มีการปฏิรูปการเมืองการปกครองที่สำคัญที่สุด คือ การยกย่องลักทธิขงจื๊อเป็นคติธรรมประจำชาติ การสร้างสรรค์งานด้านวรรณศิลป์ และการประดิษฐ์ตัวอักษรฮันกึลเมื่อปี 1986 ทำให้ยุคนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวัฒนธรรมเกาหลีตั้งแต่ปี 2453 เกาหลีอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นเป็นเวลา 35 ปี จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2488

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งเป็นสองประเภทที่เส้นละติจูดที่ 38 องศาเหนือตามข้อตกลง Potsdam เมื่อปี  2488 โดยให้อดีตสหภาพโซเวียตดูแลเกาหลีเหนือ สหรัฐอเมริกาดูแลเกาหลีใต้ สงครามเกาหลีเกิดขึ้นระหว่างปี 2493 – 2496 เมื่อเกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2493 มีการลงนามข้อตกลงสงบศึกชั่วคราวเมื่อปี 2496 หลังสงครามเกาหลี เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการฟื้นฟูประเทศให้มั่นคงและมั่งคั่ง

สาธารณรัฐเกาหลีใต้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเป็นเวลา 5 ปี ไม่มีอำนาจยุบสภา เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึก และมาตรการฉุกเฉิน รวมทั้งเสนอร่างกฎหมายได้ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ ประธานพรรค Democratic Party of Korea นายมุน แจ-อิน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 และจะมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565

ด้านความมั่นคง

สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลียังคงมีพลวัตสูง ทุกฝ่ายยังพยายามรักษาแนวทางแก้ไขปัญหานิวเคลียร์ในคาบสมุทรด้วยการเจรจา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา กับเกาหลีเหนือยังคงเป็นไปในเชิงบวก แม้การประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกา – เกาหลีเหนือ ครั้งที่ 2 ที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 27 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 ไม่บรรลุข้อตกลงใด ๆ แต่การมีช่องทางติดต่อซึ่งส่งผลต่อการสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้นำ ทำให้เกิดการพบหารือกันเป็นครั้งที่ 3 (การพบหารืออย่างไม่เป็นทางการ) ที่เขตปลอดทหารระหว่างสองเกาหลีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 อย่างไรก็ดี การที่ทั้งสองฝ่ายมีทัศนะต่อการเจรจาที่แตกต่างกันมาก ซึ่งสะท้อนการหารือระดับคณะทำงานที่สวีเดนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2562 โดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ อาจส่งผลให้การปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือยืดเยื้อออกไป สำหรับความเป็นไปได้ของการประชุมสุดยอดครั้งต่อไปคาดว่า จะขึ้นอยู่กับสหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้สามารถสร้างความไว้วางใจกับเกาหลีเหนือ

ปัญหาด้านความมั่นคงของเกาหลีใต้แบ่งเป็น

  1. ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะต๊อก หรือทาเคชิมะในภาษาญี่ปุ่น เป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ซึ่งมีผลกระทบทั้งด้านความมั่นคงทางทหาร และเศรษฐกิจ และทำให้กระแสชาตินิยมในเกาหลีใต้รุนแรงขึ้นในห้วงที่เกิดประเด็นขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ และ
  2. ปัญหาการก่อการร้ายและก่ออาชญากรรม เนื่องจาก เกาหลีใต้เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา ทำให้ กกล.พลเรือน และผลประโยชน์ของเกาหลีใต้ทั้งใน และต่างประเทศมีความเสี่ยงตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย เกาหลีใต้จึงเสริมการรับมือการก่อการร้ายด้วยการเริ่มบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายเมื่อ มิถุนายน 2559

ด้านการทหาร

เกาหลีใต้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการทางทหาร กรณีเกิดวกฤติหรือสงครามเกาหลีครั้งใหม่ จากเดิมเน้นการตั้งรอรับรอกำลังเสริมจากสหรัฐอเมริกา รวบรวมกำลังแล้วจึงโต้กลับ แต่ในแผนปฏิบัติการใหม่เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา อาจชิงโจมตีก่อน หากมีสัญญาณบ่งชี้ว่า เกาหลีเหนือกำลังเตรียมโจมตีด้วยขีปนาวุธ หรืออาวุธนิวเคลียร์ตามหลักการ Kill chain หรือการชิงโจมตี เพื่อทำลายศูนย์บัญชาการทางสงครามผู้นำทางทหารของเกาหลีเหนือ และที่ตั้งทางนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

เกาหลีใต้นำระบบป้องกันขีปนาวุธแบบ THAAD ของสหรัฐฯ เข้าประจำการในเกาหลีใต้แบบชั่วคราว เมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่เมืองซองจู ทางตอนใต้ของโซลเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยติดตั้งเพิ่มอีก 4 ฐานยิง จากเดิมที่ติดตั้งแล้ว 2 ฐานยิง เพื่อเสริมการสกัดกั้นขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ เนื่องจาก ปัจจุบันเกาหลีใต้มีเพียงระบบป้องกันขีปานาวุธรุ่นเก่าแบบ Patriot PAC – 2 ซึ่งไม่เพียงพอที่จะรับมือภัยคุกคาม อย่างไรก็ดี THAAD ทำให้จีน และรัสเซียไม่เห็นด้วย เฉพาะอย่างยิ่งจีนที่ไม่พอใจอย่างมาก และดำเนินมาตรการต่อต้านหลายแนวทาง โดยเฉพาะมาตรการทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างเกาหลีใต้กับจีน

ความสัมพันธ์ไทย – เกาหลีใต้

เกาหลีใต้ให้ความสนใจติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของไทยอย่างใกล้ชิด แต่ไม่แสดงท่าทีหรือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองภายในประเทศของไทย ส่วนใหญ่เป็นการติดตามสถานการณ์และรายงานในสื่อมวลชนภาคภาษาเกาหลี

ด้านแรงงาน

เมื่อปี 2546 รัฐบาลเกาหลีใต้เปลี่ยนนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างชาติจากระบบผู้ฝึกงานอย่างเดียว เป็นใช้ควบคู่กับระบบใบอนุญาตทำงานด้วย (Employment Permit System – EPS) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 กระทรวงแรงงานเกาหลีใต้คัดเลือกประเทศที่จะสามารถส่งคนงานไปทำงานในเกาหลีใต้ภายใต้ระบบ EPS ระยะแรกเพียง 8 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา คาซัคสถาน และมองโกเลีย

ประเทศไทยและเกาหลีใต้ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไปเกาหลีใต้ภายใต้ระบบ EPS ครั้งแรกเมื่อปี 2547 และต่ออายุบันทึกความเข้าใจดังกล่าวอีกครั้ง คือ เมื่อปี 2549 และปี 2552 บันทึกความเข้าใจดังกล่าว เกาหลีใต้ให้โควตาแรงงานไปไทยไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และภาคเกษตรของเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้แรงงานไทยมีโอกาสไปทำงานในเกาหลีใต้มากขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 เกาหลีใต้ทบทวนกฎหมายว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างชาติภายใต้ระบบ EPS เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความพยายามของประเทศผู้จัดส่งแรงงานภายใต้ระบบ EPS ที่ขยายเป็น 15 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย มองโกเลีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อุซเบกิสถาน ปากีสถาน กัมพูชา จีน บังกลาเทศ เนปาล เมียนมา คีร์กีซสถาน และติมอร์เลสเต และบรรเทาปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ สาเหตุหนึ่งมาจากกรณีแรงงานต่างชาติที่ทำงานครบตามสัญญาจ้างงาน จะต้องเดินทางกลับประเทศของตนเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะมีสิทธิ์สมัครกลับไปทำงานในเกาหลีใต้ภายใต้ระบบ EPS อีกครั้ง โดยจะต้องทดสอบความรู้ภาษาเกาหลี และไม่สามารถเลือกนายจ้าง หรือประเภทของงาน

การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 2 กรกฎาคม 2555 โดยผ่อนผันให้แรงงานที่ทำงานครบตามสัญญา 4 ปี 10 เดือน สามารถเดินทางกลับไปทำงานกับนายจ้างคนเดิมได้ หากได้รับการร้องขอจากนายจ้าง และลดระยะเวลาการกลับไปพำนักในประเทศของตนลงจาก 6 เดือน เป็น 3 เดือน รวมทั้งผ่อนผันให้แรงงานไม่ต้องสอบภาษาเกาหลี และไม่ต้องเข้ารับการอบรมอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังเพิ่มความยืดหยุ่นในเรื่องการย้ายงานของแรงงานต่างชาติจากปัจจุบันกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 5 ครั้ง (นับรวมการย้ายงาน เนื่องจาก สถานประกอบการปิดกิจการ หรือนายจ้างละเมิดสัญญา) จะไม่นับการย้ายงานอันเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือมิได้เกิดจากความผิดของลูกจ้าง นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ยังสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างที่ต้องขาดแรงงานที่มีฝีมือและมีความชำนาญงาน

แรงงานที่จัดส่งโดยรัฐตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ เมื่อปี 2563 มีแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ จำนวน 717 คน ลดลงจากจำนวน 1,642 คน เมื่อปี 2562 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมพรมแดนที่เข้มงวด ส่วนใหญ่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เกษตรและปศุสัตว์ การก่อสร้าง ขณะเดียวกัน แรงงานไทยที่ยังคงทำงานอยู่ในเกาหลีใต้เมื่อเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวน 16,801 คน คาดว่า มีแรงงานไทยผิดกฎหมายที่ยังพำนักในเกาหลีใต้ประมาณ 140,000 คน

ขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/natanaelginting

ขอบคุณบกความจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ข้อมูลพื้นฐานของต่งประเทศ 2565 “สาธารณรัฐเกาหลี”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *