ศรัทธา ความเชื่อที่มีเหตุผลประกอบ

ในปัจจุบัน พิธีกรรมเกี่ยวกับการสะเดาะเคราะห์ แก้กรรม ทำบุญเพื่อต่อชะตา เสริมสง่าราศี เรียกทรัพย์เรียกโชค เหมือนเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต จนคล้ายจะกลายเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยไปแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเข้าวัด ทำบุญ สวดมนต์ ทำทาน จะถูกหลอมให้กลมกลืนกับกุศโลบายต่าง ๆ ด้านพิธีกรรมความเชื่อ เพื่อโน้มนำผู้ศรัทธาให้เข้าวัดเข้าหาพุทธศาสนากันมากขึ้น และเพื่อความสบายใจของตัวผู้ปฏิบัติเอง

หัวใจสำคัญของความเชื่อ เชื่อถือพิธีกรรมใดก็ต้องมี “ศรัทธา” นำมาก่อน เพื่อจะได้มีเครื่องผูกมัดจิตใจ เรียกได้ว่า พิธีกรรมใด ๆ จะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่เพียงใดนั้น “ศรัทธา” ถือเป็นทั้ง “จุดเริ่มต้น” และเป็น “หัวใจหลัก” ที่ทำให้การเข้าร่วมในศาสตร์อันครูบาอาจารย์สรรค์สร้างนั้น ส่งผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเฉียบขาดยิ่งขึ้น และยังเป็นหลักยึดให้ได้ดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควรด้วยความเห็นอันถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

“ศรัทธา” คำนี้เขียนตามแบบอย่างภาษาสันสกฤต “สัตธา” คำนี้เขียนตามแบบอย่างภาษาบาลี จะเขียนอย่างไรนั้นแต่มีนัยความหมายในทางธรรมเช่นเดียวกัน คือ ความเชื่อ ความเชื่อถือ ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ความเลื่อมใสซาบซึ้งตรึงใจสนิทใจ ความเชื่อมั่นส่งใจน้อมนำมุ่งแล่นไปในกระแสคุณงานความดีในบุคคล ในสิ่งนั้น ๆ ความมั่นใจในความเป็นจริง ในความถูกต้องดีงาม ฯลฯ เป็นเรื่องของคุณธรรมในทางการประพฤติ ปฏิบัติทำความดี ไม่ลุ่มหลงงมงาย ตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก

ศรัทธา ปรากฏอยู่ในหลักธรรมข้อธรรมในพระสัทธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ข้อที่ ๑ ในพละ ๕ ข้อที่ ๑ ในสัทธรรม ๗ ข้อที่ ๑ ในอริยทรัพย์ ๗ ข้อที่ ๑ ในอริยวัฑฒิ ๕ ย่อมเป็นเครื่องบ่งบอกในเรื่องของ “ศรัทธา” เป็นหลักแห่งคุณธรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา รวมถึงศาสนา และลัทธิทางความเชื่ออื่น ๆ อย่างมีเหตุผล หรือไม่มีเหตุผล ที่มารองรับกันด้วยบางครั้งความศรัทธาของผู้คนก็มีความแตกต่างกันไป เชื่อกันว่า ต้องประพฤติปฏิบัติกันอย่างนั้น อย่างนี้แล้วจะได้บุญกุศลกันอย่างสูงสุด แต่สรุปสุดท้ายนั้นเป็นความศรัทธาที่เชื่อถือสืบต่อกันมาอย่างผิด ๆ

“พระพุทธศาสนา” ได้อธิบายขยายนัยความหมายในเรื่องของ “ศรัทธา” ไว้อย่างเด่นชัดเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจกันอย่างถ่องแท้ให้กันใน “ศรัทธา ๔” ดังนี้

  1. “กัมมสัทธา” เชื่อกรรม เชื่อการกระทำ เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่า กรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความดีความชั่วมีขึ้นในตนเป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดี ผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยการอ้อนวอน หรือนอนคอยโชควาสนา เป็นต้น
  2. “วิปากสัทธา” เชื่อในผลของกรรม เชื่อในวิบาก เชื่อว่า ผลของกรรมนั้นมีอยู่จริง เชื่อว่า กรรมที่ทำแล้วจะต้องมีผล ผลนั้นก็ต้องมีเหตุ ซึ่งผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว และผลดีนั้นเกิดจากกรรมดี
    • คนเลวที่กระทำชั่ว ย่อมไม่รับรู้ผลของความชั่ว ต่อเมื่อผลของความชั่วส่งผลจึงได้รับรู้ แต่ก็สายไปแล้ว ความเชื่อที่ว่า สามารถตัดรอนผลของกรรม เป็นความเชื่อที่ผิด เป็นมิจจาทิฏฐิขัดแย้งกับคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสสั่งสอนในเรื่อง “กัมมสัทธา” และ “วิปากสัทธา”
  3.  “กัมมัสสกตาสัทธา” เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน เชื่อว่า แต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากกรรมเป็นไปตามผลของกรรมที่ตนนั้นกระทำไว้ทุกประการ
  4. “ตถาคตโพธิสัทธา” เชื่อความตรัสรู้พระอนุตตรสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระคถาคตเจ้า ว่าทรงเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง ๙ ประการ ทรงตรัสแสดงธรรม ทรงบัญญัติพระธรรมวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ คือ เราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง

“ศรัทธา” หรือ “สัตธา” อย่างแน่วแน่มั่นคงนั้น คงหนีไม่พ้น ความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นไปได้โดยยากในโลก ๕ ประการ ดังนี้

  1. ทุลฺลฺโภ พุทฺธุปฺปาโท โลกสฺมึ เวลาที่จะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ทรงอุบัติบังเกิดขึ้นโลกนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้โดยยากยิ่งประการหนึ่ง
  2. ทุลฺลโภ มนุสสปฏิลาโภ การที่จะได้เกิดมาเกิดเป็นมนุษย์ในโลก ธาตุชมพูทวีปแห่งนี้ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้โดยยาก ยิ่งประการหนึ่ง
  3. ทุลฺลภา สทฺธาสมฺปตฺติ มนุษย์ที่จะถึงพร้อมด้วยศรัทธาความเลื่อมใสตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้โดยยากยิ่งประการหนึ่ง
  4. ทุลฺลภา ปพฺพชฺชา มนุษย์ที่จะถึงพร้อมในฐานะของพุทธศาสนิกชน ที่จะได้มีโอกาสบรรพชา อุปสมบท ครองเพศเป็นบรรพชิต ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้โดยยากยิ่งประการหนึ่ง
  5. ทุลฺลภํ สทฺธมฺมสานํ มนุษย์ที่จะถึงพร้อมได้มีโอกาสสดับรับฟังพระสัทธรรมอันประเสริฐของสัตบุรุษทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้โดยยากยิ่งประการหนึ่ง

ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสแสดงไว้ ดังนี้ ภิกฺขเว อปฺปมาเทน สมุปาเทถ ทุลฺลโภ พุทฺธุปฺปาโท โลกสุมึ. ทุลฺลโภ มนุสฺสปฏิลาโภ. ทุลฺลภา สทฺธาสมฺปตฺติ. ทุลฺลภา ปพฺพชฺชา. ทุลฺลภํ สทฺ ธมฺมสานํ. (ปรากฏในเอกนิบาตอังคุตตรนิกายอรรถกถา)

อธิบายขยายความ “ทุลฺลโภ มนุสฺสปฏิลาโภ” การที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น เป็นเรื่องที่ยากเป็นอย่างยิ่ง อุปมาดังเต่าตาบอด เวียนว่ายอยู่ห้วงมหาสมุทรสุดกว้างใหญ่ มีปวงลอยอยู่หนึ่งอันในรอบ ๑๐๐ ปี เต่าตาบอด จึงโผล่หัวสอดเข้าที่บ่วงนั้นได้ ๑ ครั้ง การปฏิสนธิเกิดขึ้นเป็นมนุษย์นั้นเปรียบเทียบดัง เต่าตาบอด สอดหัวเข้าบ่วงนั้นได้ หากกล่าวเช่นนี้ อาจจะมองไม่เห็นภาพความยากลำบาก ใช้วิจารณญาณให้กว้างขึ้นอีกว่า ทุก ๆ หนึ่งปี เต่าตาบอด จึงจะโผล่หัวขึ้นมาหนึ่งครั้ง รอบหนึ่งร้อยปีโผล่หัวขึ้นมาหนึ่งร้อยครั้ง โอกาสที่เต่าตาบอดจะสอดหัวเข้าบ่วงลอยน้ำได้มีเพียงครั้งเดียว

ใช้วิจารณญาณให้กว้างขึ้นอีกว่า ทุก ๆ หนึ่งปี เต่าตาบอด จึงจะโผล่หัวขึ้นมา ๑๒ ครั้ง รอบหนึ่งร้อยปีโผล่หัวขึ้นมา ๑,๒๐๐ ครั้ง โอกาสที่เต่าตาบอดจะสอดหัวเข้าบ่วงลอยน้ำได้มีเพียงครั้งเดียว

ใช้วิจารณญาณให้กว้างขึ้นอีกว่า ทุก ๆ หนึ่งปี เต่าตาบอด จึงจะโผล่หัวขึ้นมา ๓๖๕ ครั้ง รอบหนึ่งร้อยปีโผล่หัวขึ้นมา ๓๖,๕๐๐ ครั้ง โอกาสที่เต่าตาบอดจะสอดหัวเข้าบ่วงลอยน้ำได้มีเพียงครั้งเดียว

ใช้วิจารณญาณให้กว้างขึ้นอีกว่า ทุก ๆ หนึ่งวัน เต่าตาบอดจะโผล่หัวขึ้นมา ๒๔ ครั้ง หนึ่งเดือน เต่าตาบอด จะโผล่หัวขึ้นมา ๗๒๐ ครั้ง รอบหนึ่งปี เต่าตาบอด จะโผล่หัวขึ้นมา ๘,๖๔๐ ครั้ง รอบหนึ่งร้อยปี เต่าตาบอด จะโผล่หัวขึ้นมา ๘๖๔,๐๐๐ ครั้ง โอกาสที่เต่าตาบอดจะสอดหัวเข้าบ่วงลอยน้ำได้มีเพียงครั้งเดียว

พิจารณาเห็นความยากในการที่จะได้เกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์หรือยัง และเมื่อได้เกิดขึ้นมาเพียงลืมตาอ้าปากยังไม่ได้ทันดูดดื่มน้ำนมมารดา ก็ถูกจับหักคอตายลงแล้วจับยัดลงถุงดำทิ้งลงถังขยะ ตามที่เป็นข่าวให้ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยครั้ง มากมายนักที่เกิดมาแล้วยังไม่ทันประสาก็ตายลงเสียแต่อายุยังน้อย ชีวิตนี้จึงเป็นอะไรที่ยากลำบากยิ่งนัก

จะเห็นได้ว่า “ศรัทธา” เป็นจุดเริ่มต้นแห่ง “สัมมาทิฏฐิ” และ “มิจฉาทิฏฐิ” ทั้งปวง และแน่นอนว่า ย่อมส่งผลสืบเนื่องไปกระทั่งถึงเรื่อง “กรรม” และ “วิบากกรรม” อย่างไม่สามารถแยกขาดจากกันได้

“กรรม” และ “วิบากกรรม” นั้นอยู่เหนือต่อสรรพสิ่ง “พระพุทธสาวกเจ้า” ทั้งหลายทรงได้บรรลุพระอมตธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์เจ้า อาทิ พระธรรมอัครเสนาบดี พระสารีบุตร พระมหาอัครเสนาบดี พระมหาโมคคัลลานะ พระองคุลีมาลเถระ พระมหากัสสปเถระ พระวักกลิเถระ พระกุณฑธานเถระ โดยเฉพาะบุพกรรมแห่งพระโลสกติสสเถระเป็นกรรมเก่าที่น่าสงสารน่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อล่วงประพฤติผิดในการที่ไปขัดลาภสักการะบูชาของผู้อื่น กรรมอันชั่วช้ากรรมอันลามกนี้ส่งผลกันตั้งแต่แรกเกิดยังถึงวาระสุดท้ายก่อนการเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เป็นต้น

ที่ยกขึ้นกล่าวมาข้างต้นนั้น เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า คุณลักษณะของ “กรรม” และ “วิบากกรรม” ไม่มีสิ่งใดทำอันตรายให้ผลของการกระทำให้สิ้นไปได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ในชั้นหลังมีผู้เข้าใจผิดคิดว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงช่วยตัดกรรมอันชั่วร้ายของพระองคุลีมาลเถระ แต่ครั้งสมัยที่เป็นอหิงสกกุมาร แต่ด้วยแรงฤทธิ์อิจฉาริษยาของเพื่อร่วมสำนักชักนำให้เป็นไปในทางที่ชั่ว หรือทรงช่วยตัดกรรมอันชั่วร้ายของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ได้กระทำอนันตริยกรรมในปิตุฆาต ฆ่าพระเจ้าพิมพิสาร พระราชบิดาผู้ให้กำเนิดแต่ด้วยนับถือคนเลวเป็นอาจารย์ ทำให้เป็นพระราชโอรสอกตัญญู

การที่เข้าใจกันผิดเช่นนี้ ผิดเพราะมิได้ศึกษาเล่าเรียนมาอย่างถ่องแท้ ด้วยต่างมีเหตุปัจจัยอันเป็น “กรรม” คือ “การกระทำ” “วิบากกรรม” คือ “ผลของการกระทำ” ที่เป็นเหตุปัจจัยให้บุคคลนั้น ๆ ต้องเสวยวิบากกรรมอันเป็นของเฉพาะตน

อธิบายขยายความ “กัมมสัทธา” และ “วิปากสัทธา” เพราะครั้งหนึ่งนั้น ได้รับกระแสความศรัทธานิยมในการเผยแพร่เป็นหนังสือเล่มเล็กออกวางแผลจัดจำหน่ายกันอย่างกว้างขวาง ถือว่า เป็นสิทธิอันชอบธรรมของแต่ละบุคคลที่จะนำมาเล่นเป็นงานเขียน แต่การที่นำเรื่องของ “กรรม” คือ “การกระทำ” และ “วิบากกรรม” คือ “ผลของการกระทำ” บิดเบือนไปจากหลักแห่งความศรัทธา ความเชื่อใน “กัมมสัทธา” และ “วิปากสัทธา” ขัดต่อหลักพระสัทธรรมคำสั่งสอนขององค์ พระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า กลับกลายเป็นเจ้าลัทธิ กรรมคณาจารย์ บอกข้อวัตรปฏิบัติเพื่อลดกรรม ตัดกรรม ยังให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่า “บาปที่ทำ กรรมที่ก่อ” นั้น สามารถที่จะแก้ไขให้กลับกลายหายกันได้แบบศาสนาอื่น ๆ ที่สารภาพบาปแล้วจบกันไปได้เป็นเรื่องที่อันตรายต่อตนเอง เป็น “มิจฉาทิฏฐิ” คือ มีความคิดเห็นที่ผิดแผกแตกต่าง ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม มากไปกว่านั้น คือ กลับกลายเป็นไปชักนำให้มหาชนคนจำนวนมากเข้าใจผิด คิดเห็นไปตามลัทธิของตนเองเสียอีก หลังจากทำกาลกิริยาแตกดับไปแล้วจะมีอเวจีมหานรกขวางกั้นรออยู่เบื้องหน้า

ดังเช่นการที่ท่านเสาะแสวงหาสถานที่ทำพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าท่านจะเข้าร่วมประกอบพิธีกรรมใด ๆ ให้พึงทำความเห็นให้ถูกต้องเสียก่อน ยอมรับในเรื่องของ “กรรม” และ “วิบากกรรม” มีศรัทธาเป็นที่ตั้ง มีปัญญาพิจารณาหาเหตุแห่งทุกข์ประกอบกันไป ตั้งสติ พึ่งพาตนเองเป็นหลัก ไม่หวังพึ่งแต่พิธีกรรม และครูบาอาจารย์แต่ถ่ายเดียว ขณะเดียวกัน ก็เชื่อมั่นในพิธีกรรมที่ได้เข้าร่วม ว่าเป็นพิธี เป็นจารีตอันดีงามเป็นมงคล เก็บเกี่ยว “ข้อธรรม” จากพิธีกรรม นำมาบ่มเพาะขัดเกลาตนได้แล้ว พิธีต่าง ๆ ย่อมยังประโยชน์ให้ทุกท่านได้มากกว่าการก้มหน้ากราบไหว้ทำพิธีอย่างมืดบอดเป็นที่แน่นอน[i]


[i] ที่มาบทความโดยสิระ อาสาวดีรส. 9 วัดที่พิธีสะเดาะเคราะห์ พลิกชะตา เสริมอำนาจ วาสนา บารมี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กรีน ปัญญาญาณ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *