“วัยทองวัยสุขใส” เตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง

วัยทองวัยสุขใส โดดเด่นไกลไปถึงฝัน ครอบครัวอาชีพนั้น แสนสุขสันต์สว่างไสว ตั้งรับความเปลี่ยนแปลง มิหน่ายแหนงร่วมแก้ไข ปลดปล่อยทุกข์ให้มลาย เฉิดไฉไลสมวัยทอง

เตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง

สตรีเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป การทำงานของรังไข่จะค่อย ๆ ลดน้อยลง ทำให้ฮอร์โมนเพศ คือ เอสโตรเจน ค่อย ๆ ลดน้อยลงด้วย มีผลให้ประจำเดือน ค่อย ๆ หมดไป ร่างกายต้องปรับสภาพให้เคยชินกับการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ จึงเรียกวัยช่วงนี้ว่า “วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง”

วัยทองในหญิงชาย มีลักษณะอาการคล้าย ๆ กัน แต่หญิงจะมีความรุนแรงมากกว่าชายตรงที่ระดับฮอร์โมนเอสโตเจนลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของชาย จะค่อย ๆ ลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งนี้ ส่งผลต่อ

  1. ระบบหลอดเลือดและระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของหลอดเลือด
  2. ระบบจิตประสาท
  3. ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
  4. ระบบอวัยวะสืบพันธุ์
  5. ระบบกระเพาะปัสสาวะ

อาการวัยทองเป็นอย่างไร

ด้านร่างกาย

  • ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร
  • ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • เต้านมมีขนาดเล็กลง ไม่เต่งตึง
  • ผิวหนังแห้งบาง เกิดกระและฝ้า
  • กระดูกบางลง เกิดภาวะกระดูกพรุน จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วเพียงใด ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของกระดูก ที่สะสมไว้ตั้งแต่วัยสาว
  • กล้ามเนื้อต่าง ๆ ลีบเล็กลง เป็นตะคริวง่าย
  • ช่องคลอดแห้งบาง เจ็บแสบเวลามีเพศสัมพันธ์ มีการอักเสบ ติดเชื้อง่าย

ด้านจิตใจ

  • อารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย หงุดหงิด ซึมเศร้า วิตกกังวล ความเชื่อมั่นในตนเองลดลง
  • ความรู้สึก และความต้องการทางเพศลดลง

สุขภาพของคนวัยทอง ขึ้นอยู่กับการดำรงชีวิตในวัยสาว ตั้งแต่เรื่องของการรับประทานอาหาร การพักผ่อน การทำงาน สภาพแวดล้อมและอารมณ์ ดังนั้นเมื่อมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถมีคุณภาพชิตที่ดีในวัยทองได้

ส่วนชายยังมีความต้องการทางเพศสูงเหมือนหนุ่ม ๆ การตื่นตัวและตอบสนองข้าลงตามอายุ จึงมักไม่สอดคล้องกับภรรยา เนื่องจาก สภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่ถ้าหากเข้าใจซึ่งกันและกัน จะช่วยลดความกดดัน และประคับประคองให้ครอบครัววัยทองมีสุขร่วมกันได้

การปฏิบัติตัวเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยทอง

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดังนี้
    1. รับประทานข้าวฟ่าง ข้าวไม่ขัดสี ถั่วเขียว งาดำ ฟักทอง แครอท ข้าวโพด เพราะให้พลังงาน วิตามิน และแร่ธาตุ
    2. รับประทานถั่วเหลือง ซึ่งมีสารไพโตรเอสโตรเจน ช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ
    3. รับประทานผัก เพราะมีวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และมีแคลเซียม บำรุงกระดูกแลฟัน เช่น ใบยอ ใบชะพลู ยอดแค ผักกระเฉด ตำลึง
    4. รับประทานผลไม้หลากหลายชนิด เพราะมีวิตามินซี และวิตามินดี ช่วยในการดูดซึมและลดการสลายตัวของแคลเซียมจากกระดูก
    5. รับประทานปลา ซึ่งเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย ส่วนเนื้อสัตว์ชนิดอื่นให้เลือกที่ไม่ติดมัน
    6. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมพร่องมันเนย โยเกิร์ต ปลาเล็กปลาน้อย
    7. ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 8 – 10 แก้ว
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที สามารถทำได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสมของร่างกาย เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน
  3. บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และกล้ามเนื้อหูรูด โดยการขมิบก้นครั้งละ 10 วินาที ให้ได้วันละ 50 – 100 ครั้ง เป็นประจำสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อควบคุมการถ่ายปัสสาวะ
  4. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนมาก
  5. ดูแลความสะอาด และบำรุงผิวหนังเป็นประจำ โดยใช้ครีม หรือโลชั่นตามความเหมาะสม
  6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 ชั่วโมง
  7. การใช้ฮอร์โมนหรือรับประทานยา ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
  8. พบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ เป็นประจำทุกปี โดยตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจเลือดหาระดับไขมัน ตรวจภายในค้นหามะเร็งปากมดลูก ตรวจค้นหามะเร็งเต้านม และตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก

แนวทางการส่งเสริมหญิง – ชายวัยทอง

  1. ให้ความรู้ที่ถูกต้องของการเปลี่ยนแปลงในร่างกายทั้งหญิง – ชาย
  2. จัดการกับอารมณ์และเท่าทันอารมณ์ตนเองเพื่อนำไปสู่การแก้ไขอย่างเหมาะสม
  3. นอนหลับ พักผ่อน ออกกำลังกาย และการทำสมาธิ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ลดความตึงเครียดและการเปลี่ยนแปลง
  4. พูดคุยกับคนใกล้ชิดให้รู้ และเข้าใจการเปลี่ยนแปลง
  5. เมื่อไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ขอรับการปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
  6. หากเกินความสามารถส่งพบแพทย์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *