11598952_4802364 (1)

ละครโทรทัศน์เกาหลีมิได้มีเนื้อหาที่มุ่งเน้นการสะท้อนปัญหาสังคม และวัฒนธรรมด้วยการถ่ายทอดความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงในคู่รักที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิง ทว่ามีเนื้อหาที่ชักจูงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นด้วยการประกอบสร้างความจริงขึ้นมา เราจะเห็นภาพของตัวละครชายทั้งพระเอก และพระรองที่มีความเป็นสุภาพบุรุษ ไม่ใช้ความรุนแรงกับนางเอก ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางด้านใดก็ตาม จากละครโทรทัศน์เกาหลีในหลาย ๆ เรื่อง จนกระทั่ง ลักษณะของตัวละครชายทั้งพระเอกและพระรองเช่นนี้ กลายเป็นภาพจำ และสูตรสำเร็จของละครโทรทัศน์เกาหลีไปโดยปริยาย ซึ่งเนื้อหาเช่นนี้ เป็นการสั่งสอนและขัดเกลาสังคมเกาหลีไปในตัว ทำให้คนเกาหลีเรียนรู้ว่า อะไร คือ สิ่งที่เป็นอุดมคติของสังคม หรือสิ่งที่ควรจะเป็นผู้นำไปสู่การเรียนรู้ทางสังคม และการลอกเลียนแบบของผู้ชม

ประเทศเกาหลีใต้มีลักษณะเป็นสังคมแบบปิตาธิปไตย หรือชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ซึ่งเป็นผลมาจากการหยั่งรากลึงของลัทธิขงจื๊อที่อยู่ในสังคมเกาหลีมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยยุคโชซ็อน โดยในลัทธิขงจื๊อ สามีมีสถานะสูงกว่าภรรยา แม้ว่า ในสังคมสมัยใหม่ของเกาหลีใต้จะมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงมากขึ้น แต่กระนั้นชีวิตในครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงก็ยังคงมุ่งไปที่การดำรงสถานภาพของสังคมชายเป็นใหญ่อยู่ ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศชาย และเพศหญิง นำไปสู่ปัญหาความรุนแรงที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิง ทั้งการกระทำความรุนแรงต่อคู่รักของตน หรือผู้ที่ไม่ใช่คู่รักของตนในที่สุด

ปัญหาความรุนแรงในคู่รักเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะคู่รักวัยรุ่นพบได้มากขึ้น และมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น คู่รักวัยรุ่นต้องเผชิญการนอกใจจากคู่รัก รองลงมา คือ การใช้คำหยาบคาย การทำลายข้าวของ ทำร้ายร่างกาย กักขัง และหน่วงเหนี่ยว ส่วนสาเหตุการทำร้ายร่างกายของคู่รักวัยรุ่น พบว่า ส่วนใหญ่มาจากการนอกใจ รองลงมา คือ การหึงหวง และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ยังคงทนกับความรุนแรง เนื่องจาก ความรักที่ตนเองมีต่อคู่รักของตน

ปัจจุบัน ละครโทรทัศน์เกาหลีได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทย จนวัยรุ่นไทยเกิดการเรียนรู้และลอกเลียนแบบวัฒนธรรมเกาหลีกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นเสื้อผ้า การแต่งกาย สินค้า การท่องเที่ยว อาหาร หรือแม้แต่กระทั่ง ชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ ทัศนคติ

จากการศึกษาละครโทรทัศน์เกาหลี 3 เรื่อง Princess Hours , You Who Came from the Stars และ Crash Landing on You จำนวน 21 ฉาก ภายใต้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นชาย (Masculinity) ได้แก่ ความเป็นชายแบบใหม่ (The New Man) และความเป็นสุภาพบุรุษ พบว่า ตัวละครนำชายมีพฤติกรรมที่มีความอ่อนโยนมากที่สุด เป็นจำนวน 12 ฉาก เช่น การปลอบประโลมคนรัก และการดูแลคนรัก อันดับที่สอง คือ พฤติกรรมแสดงอารมณ์ที่อ่อนไหวและสามารถเปิดเผยได้กับผู้หญิงจำนวน 11 ฉาก เช่น การร้องไห้และเปิดเผยความรู้สึกของตน และอันดับที่สาม คือ พฤติกรรมที่ให้เกียรติผู้อื่น จำนวน 9 ฉาก เช่น การเคารพในการตัดสินใจของคนรัก และการไม่ทำให้คนรักอับอาย ยิ่งไปกว่านั้น จากละครโทรทัศน์เกาหลีที่ศึกษา พบว่า ไม่มีฉากใดที่ตัวละครนำชายใช้ความรุนแรงกับตัวละครนำหญิง หรือคู่รักของตนเลย ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางกาย ความรุนแรงทางจิตใจ ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ และความรุนแรงทางเพศ

ซึ่งจากการศึกษาของนักวิจัย พบว่า เนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลีที่สามารถเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงในทางย้อนแย้งของคู่รักวัยรุ่นได้ โดยประกอบสร้างความเป็นจริงทางสังคมของตัวละครชายขึ้นมา ให้มีความเป็นสุภาพบุรุษ อ่อนโยน เคารพและให้เกียรติผู้หญิง ใส่ใจคนรัก แสดงอารมณ์อ่อนไหวของตนเอง และไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง ซึ่งย้อนแย้งกับความเป็นจริงของสังคมเกาหลีที่เป็นสังคมปิตาธิปไตย และเพศชายมีการใช้ความรุนแรงต่อคู่รักของตน

ละครโทรทัศน์เกาหลีในฐานะสื่อประเภทหนึ่งมีส่วนช่วยในการบ่มเพาะ ปลูกฝัง และขัดเกลาผู้ชมให้เป็นไปในทิศทางที่ละครโทรทัศน์กำหนด ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความจริงเสมอไป เพราะฉะนั้น การที่ละครโทรทัศน์เกาหลีไม่นำเสนอความรุนแรงในคู่รักตามความเป็นจริงในสังคมเกาหลี โดยเฉพาะความรุนแรงที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิง แต่นำเสนอในสิ่งที่ย้อนแย้ง จึงเป็นการบ่มเพาะ ปลูกฝัง และขัดเกลาผู้ชมให้เกิดการเรียนรู้ และเลียนแบบทัศนคติและค่านิยมการไม่ใช้ความรุนแรงในคู่รัก ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสังคม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้ชมในที่สุด

นอกจากนี้ พบว่า ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับความรุนแรงในคู่รักที่ปรากฏในเนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีความคิดเห็นว่า ความรุนแรงในคู่รักที่ปรากฏในเนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลีมีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง และกลุ่มที่มีความคิดเห็นว่า ความรุนแรงในคู่รักที่ปรากฏในเนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลีย้อนแย้งกับความเป็นจริง ซึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มตัวอย่างมองละครโทรทัศน์เกาหลีในแง่มุมที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มที่มีความคิดเห็นว่า ความรุนแรงในคู่รักที่ปรากฏในเนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลี มีพื้นฐานมาจากความเป็นจริงของละครโทรทัศน์เกาหลีในแนวอื่นที่ไม่ใช่แนวรักโรแมนติก เนื่องจาก ปัจจุบันละครโทรทัศน์เกาหลีมีการสร้างแนวเรื่องที่หลากหลาย แนวเรื่องที่เกี่ยวกับอาชญากรรมก็เป็นหนึ่งในนั้น และเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรมส่วนใหญ่ มักมีกรณีความรุนแรงในคู่รักเสมอ ส่วนกลุ่มที่มีความคิดเห็นว่า ความรุนแรงในคู่รักที่ปรากฏในเนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลีย้อนแย้งกับความเป็นจริง จะมองละครโทรทัศน์เกาหลีในแนวรักโรแมนติกเป็นหลัก ทำให้กลุ่มตัวอย่างมองว่า การที่ละครโทรทัศน์เกาหลีนำเสนอภาพผู้ชายในอุดมคติที่มีความเป็นสุภาพบุรุษอ่อนโยน และไม่ใช้ความรุนแรงของตัวละครชายย้อนแย้งกับความเป็นจริงที่สังคมเกาหลี มักมีข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในคู่รักอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากนี้ ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างในผู้ที่มีความคิดเห็นว่า ความรุนแรงในคู่รักที่ปรากฏในเนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลีย้อนแย้งกับความเป็นจริง ต่อสาเหตุที่ละครโทรทัศน์เกาหลีสร้างเนื้อหาที่เป็นไปในทางย้อนแย้งกับความเป็นจริงในเรื่องของความรุนแรงในคู่รัก สามารถแบ่งได้ 2 ประเด็น ได้แก่ การโฆษณา และการสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเป็กลุ่มตัวอย่างมองสาเหตุในแง่มุมที่ต่างกัน โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีความคิดเห็นว่า เป็นการโฆษณามองละครโทรทัศน์เกาหลีผ่านสายตาของคนนอกประเทศ การที่ละครโทรทัศน์เกาหลีนำเสนอภาพผู้ชายเกาหลีที่ย้อนแย้งความเป็นจริง จึงเป็นหนึ่งในการโฆษณาประเทศของตนให้สังคมภายนอกเห็นถึงมุมที่ดีว่า ผู้ชายเกาหลีส่วนใหญ่เป็น “ผู้ชายในอุดมคติ” และสังคมเกาหลีเป็นสังคมที่ไม่มีความรุนแรงในคู่รักหรือมีน้อย ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีความคิดเห็นว่า เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลง จะมองละครโทรทัศน์เกาหลีผ่านสายตาของคนในประเทศ เนื่องจาก ละครโทรทัศน์เกาหลีเป็นสื่อที่มีส่วนในการบ่มเพาะ ปลูกฝัง และขัดเกลาผู้ชมให้เกิดการเรียนรู้และเลียนแบบ ดังนั้น การที่ละครโทรทัศน์เกาหลีผลิตซ้ำเนื้อหาและภาพผู้ชายเกาหลีที่ย้อนแย้งกับความเป็นจริง ซึ่งความรุนแรงในคู่รักเป็นปัญหาสำคัญของสังคมเกาหลี จึงเป็นหนึ่งในการบ่มเพาะ ปลูกฝัง และขัดเกลาผู้ชม นำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงของคนในประเทศในที่สุด

จะเห็นได้ว่า จากที่กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “สังคมเกาหลีเป็นสังคมในอุดมคติ” ซึ่งหากจะมองสังคมเกาหลีผ่านละครโทรทัศน์เกาหลีเพียงช่องทางเดียว ก็จะมองไม่มีปัญหาเรื่องความรุนแรงในคู่รักที่เกิดจากสังคมชายเป็นใหญ่ ก็เพราะผู้ชายมีความเป็นสุภาพบุรุษและให้เกียรติผู้หญิง และจากการดูละครโทรทัศน์เกาหลีมีผลทำให้กลุ่มตัวอย่างเพศชายวัยรุ่นไทยอยากทำตามในบางการกระทำที่ผู้ชาย พระเอก พระรอง ในละครโทรทัศน์เกาหลีได้ทำให้กับคู่รักของตน ยิ่งเป็นการยืนยันได้ว่า ละครโทรทัศน์เกาหลีสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้ชมได้จริงๆ จากการผลิตซ้ำเนื้อหา และถึงแม้ว่า กลุ่มตัวอย่างทุกคนจะมีความรู้ว่า เนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลีเป็นการประกอบสร้างความจริงขึ้นมา แต่ทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างในเรื่องความรุนแรงในคู่รักก็เปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางที่ละครโทรทัศน์เกาหลีนำเสนอด้วย หรือเรียกได้ว่า ทิศทางที่ย้อนแย้งกับความเป็นจริงนั่นเอง

สรุปได้ว่า เนื้อหาละครโทรทัศนเกาหลีสามารถเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงในทางย้อนแย้งของคู่รักวัยรุ่นไทยได้ผ่านการการผลิตซ้ำการประกอบสร้าง “ผู้ชายในอุดมคติ” ซึ่งมีความเป็นสุภาพบุรุษ อ่อนโยน และไม่ใช้ความรุนแรงกับคู่รักของตน ทำให้คู่รักวัยรุ่นไทยซึ่งเป็นผู้ชมเกิดการเรียนรู้และการเลียนแบบค่านิยมดังกล่าว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปในทิศทางเดียวกันกับเนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลี หรือย้อนแย้งกับความเป็นจริงในสังคมเกาหลีในที่สุด คู่รักวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า ความรุนแรงในคู่รักที่ปรากฏในเนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลีย้อนแย้งกับความเป็นจริงที่เกาหลีเป็นสังคมปิตาธิปไตย หลังจากการดูละครโทรทัศน์เกาหลี ซึ่งการสร้างเนื้อหาละครโทรทัศน์เช่นนี้มีสาเหตุคือ การโฆษณาและการสร้างการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม หากมองสังคมเกาหลีผ่านละครโทรทัศน์เกาหลีเพียงช่องทางเดียว คู่รักวัยรุ่นไทยคิดว่า ตนเองจะเชื่อว่า สิ่งที่ละครโทรทัศน์เกาหลีนำเสนอเป็นความจริง โดยผู้หญิงที่ดูละครโทรทัศน์เกาหลีต้องการให้คู่รักของตนปฏิบัติต่อตนแบบที่ตัวละครชายปฏิบัติต่อตัวละครหญิง ส่วนผู้ชายที่ดูละครโทรทัศน์เกาหลีอยากเลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครชายในด้านการปฏิบัติตัวต่อตัวละครหญิง[i]


[i] ขอขอบคุณที่มาบทความ วริศรา กรีธาพล. ละครโทรทัศน์เกาหลีกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงในทางย้อนแย้งของคู่รักวัยรุ่น. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นายเรืออากาศ ปีที่ 9 ธันวาคม 2564.

ขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/freepik

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *