3d-animation-india-flag-realistic-india-flag-waving-wind (1)

ประเทศ “อินเดีย” เป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ถึง 3.3 ล้านตารางกิโลเมตร นับเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดัง 7 ของโลก ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดประเทศอัฟกานิสถาน และปากีสถาน ทิศเหนือ ติดประเทศ จีน ภูฏาน และเนปาล ทิศตะวันออกติดประเทศพม่า และบังคลาเทศ ทิศใต้ติดประเทศศรีลังกา เนื่องจาก การที่ประเทศอินเดียมีพื้นที่อันกว้างใหญ่ มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศ อย่างไม่ค่อยพบในประเทศอื่น ทำให้อุณหภูมิในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันมาก โดยลักษณะภูมิประเทศประกอบไปด้วย 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาใหญ่ บริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา และแม่น้ำสินธุ ส่วนที่เป็นทะเลทราย และพื้นที่คาบสมุทรตอนใต้

ประเทศอินเดีย มีกรุงนิวเดลี เป็นเมืองหลวง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาฮินดี และภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการและธุรกิจ หน่วยเงินตราที่ใช้ คือ “รูปี”

อินเดียได้รับเอกราช เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1947 หลังจากต่อสู้แบบสันติวิธี โดยท่าน “มหาตมะคานธี” สัญลักษณ์ประจำชาติ คือ ภาพจำลองสิงโตหัวเสา จากเสาหินพระอโศกแห่งเมืองสารนาถ ธงชาติอินเดียเป็นแนวแถบนอน 3 สี โดยบนสุด สีเหลืองแสด ของดอกแซฟรอน แสดงถึงความกล้าหาญ การเสียสละ และจิตวิญญาณการเป็นผู้ให้ ตรงกลาง สีขาว คือ ความบริสุทธิ์ และความสัตย์ ซึ่งมีรูปวงล้อสีน้ำเงิน หมายถึง ธรรมจักร และกฎธรรมชาติ ด้านล่าง สีเขียวเข้ม คือ ความศรัทธา และความอุดมสมบูรณ์ มีเพลง Jana-gana-mana เป็นเพลงชาติ สัตว์ประจำชาติ คือ สิงโต มีนกยูง เป็น นกประจำชาติ มีต้นบันยันหรือต้นไทร เป็นต้นไม้ประจำชาติ มีดอกบัวเป็นดอกไม้ประจำชาติ และมีมะม่วง เป็นผลไม้ประจำชาติ

ประชากรและสังคม

อินเดียมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก แต่เป็นแหล่งที่สามารถอาศัยอยู่มากกว่าร้อยละ 15 ของประชากรโลก รองจากจีน อินเดียมีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก โดยมีประชากรมากถึงประมาณ 1,200 ล้านคน และคาดว่าจำนวนประชากรจะมากกว่าจีนภายในปี 2588 คนอินเดียส่วนใหญ่ จะมีอายุน้อยกว่า 15 ปีและกว่าร้อยละ 70 ของประชากรอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่มีอยู่มากกว่า 550,000 แห่ง ส่วนที่เหลือจากอยู่อย่างหนาแน่นตามเมืองใหญ่ของประเทศ เช่น มุมไบ กัลกัตตา นิวเดลี เจนไน และบังกาลอร์ อินเดียเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย ด้านเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยมีศาสนา วรรณะ และภาษา เป็นปัจจัยหลักกำหนดรูปแบบสังคมและการเมือง

อินเดียมีภาษาราชการมากกว่า 22 ภาษา ซึ่งฮินดีเป็นภาษาประจำชาติที่ใช้กันมากที่สุด โดยใช้ภาษาอังกฤษในวงราชการและธุรกิจ และยังมีภาษาท้องถิ่นอีกนับร้อยภาษา แม้ว่า ประชากรกว่าร้อยละ 82 นับถือศาสนาฮินดู และมีประชากรที่นับถือศาสนามุสลิมร้อยละ 12 แต่นับเป็นประเทศที่มีประชากรที่นับถือศาสนามุสลิมมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินโดนีเซีย และปากีสถาน อีกทั้งยังมีผู้นับถือศาสนาอื่น เช่น คริสต์ ร้อยละ 2.3 สิกข์ ร้อยละ 1.9 และอื่น ๆ ร้อยละ 2.5

การจัดลำดับชั้นทางสังคมและอาชีพในอินเดีย เป็นการสะท้อนอิทธิพลของระบบวรรณะ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดวาง ควบคุม และบริหารโครงสร้างอินเดียและควบคุมระบบความสัมพันธ์ของทุก ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ อาชีพ หรือแม้แต่ การเมืองของอินเดีย ตั้งแต่สมัยโบราณ วรรณะที่สำคัญมี 4 วรรณะ คือ

  1. วรรณะพราหมณ์ ได้แก่ นักบวช ปัจจุบันอาจตีความไปถึงนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์และนักการเมือง
  2. วรรณะกษัตริย์ ได้แก่ นักรบ ซึ่งอาจรวมไปถึงข้าราชการ
  3. วรรณะแพศย์ ได้แก่ พ่อค้า นักธุรกิจ
  4. วรรณะศูทร ได้แก่ ผู้ใช้แรงงาน ชาวนา กรรมกร และคนยากจน

ซึ่งสามวรรณะแรกเป็นชนชั้นปกครอง วรรณะสุดท้ายเป็นผู้ถูกปกครอง แม้ว่า วรรณะเหล่านี้เป็นที่เข้าใจทั่วไปในอินเดีย แต่ยังมีการแบ่งวรรณะต่ำสุดในสังคมฮินดู เรียกกันว่า เป็นกลุ่มคนอันไม่ควรแตะต้อง คือ จัณฑาล หรือเรียกชื่อใหม่ว่า หริชน หรือ ดาลิต ซึ่งมีความหมายว่า ผู้เป็นที่รักของพระเจ้า ซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกเลือกปฏิบัติ ได้รับโอกาสทางสังคมและอาชีพน้อยที่สุดในสังคม อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปเศรษฐกิจและกฎหมายของอินเดียในปัจจุบันได้พยายามลดช่องว่างของสังคม และกีดกันทางวรรณะเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและอาชีพให้เท่าเทียมกันในสังคม[i]


[i]ขอขอบคุณที่มาบทความ วารสารส่งเสริมการลงทุน ปีที่ 23 ฉบับที่ 7 กรกฏาคม 2555

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/nonnie192

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *