มีปัญหาสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม จะทำอย่างไร ตามกฎหมายสาธารณสุข

ถ้าอยู่ดี ๆ ข้างบ้านก็กลายเป็นโรงงานเส้นก๋วยเตี๋ยว เสียงเครื่องโม่แป้งก็ดัง ในท่อน้ำทิ้งมีทั้งเส้นหมี่ เส้นเล็ก เต็มไปหมด จะทำไงดี…

ตามกฎหมายสาธารณสุข หากประชาชนประสบปัญหาด้านสาธารณสุข หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ มีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ดูแลพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นได้ เช่น ร้องเรียนกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายก อบจ. นายกเทศมนตรีของเทศบาล นายกเมืองพัทยา นายก อบต. หรือเจ้าพนักงานสาธารณสุข โดยเจ้าพนักงานมีหน้าที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีเหตุการณ์ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจริงหรือไม่ หากตรวจแล้วพบว่า เป็นเรื่องจริงก็จะแนะนำให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไข หากผู้ก่อเหตุไปปรับปรุง เจ้าพนักงานท้องถิ่นก็จะออกเป็นคำสั่งให้แก้ไขในเวลาที่กำหนด และสามารถดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้ก่อเหตุได้ตามกฎหมายสาธารณสุข แต่ถ้าผู้ก่อเหตุยังดื้อไม่ยอมให้ปรับ เรื่องก็คงจะต้องถึงตำรวจเพื่อดำเนินคดีทางศาลต่อไป

อย่างไรที่เรียกว่า “เหตุรำคาญ” ตามกฎหมายสาธารณสุข  

“เหตุรำคาญ” หมายถึงอะไร ถ้าสมมติไปเที่ยวกับเพื่อน และภรรยาที่บ้านถามละเอียดยิบ ว่าไปกับใคร ไปที่ไหน ไปยังไง จะกลับกี่โมง ถือว่า เป็นเหตุรำคาญ หรือไม่…

ถ้าเหตุรำคาญแบบนี้ เห็นทีจะเป็นคนละเรื่องกับเหตุรำคาญตามกฎหมายสาธารณสุข เพราะเหตุรำคาญ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หมายความรวมถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น แสง เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด เป็นเหตุให้สุขภาพเสื่อม หรือเกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เสียงดังจนทำให้หูเสื่อม หรือดังจนนอนไม่หลับ หรือกลิ่นเหม็นจนทำให้หายใจไม่สะดวก เหล่านี้ถือเป็น “เหตุรำคาญ” แม้แต่แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกก็เป็นเหตุรำคาญเช่นกัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรำคาญเหล่านี้ สามารถร้องเรียนกับราชการท้องถิ่น ให้มาระงับเหตุรำคาญได้

สิทธิและหน้าที่ของประชาชนตามกฎหมายสาธารณสุข

สิทธิและหน้าที่ของประชาชนตามกฎหมายสาธารณสุขเป็นอย่างไร

หน้าที่ของประชาชนตามกฎหมายสาธารณสุข ก็คือ ต้องทำตามข้อกำหนดของท้องถิ่น เช่น จะประกอบกิจการที่กำหนดตามกฎหมายสาธารณสุข ก็ต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเมื่อได้รับคำสั่งที่เกี่ยวข้องก็ต้องทำตาม นั่นคือ หน้าที่ ส่วนสิทธิของประชาชนตามกฎหมายสาธารณก็คือ มีสิทธิที่จะร้องเรียนเจ้าพนักงานท้องถิ่น เมื่อได้รับเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือกรณีที่ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการ ก็มีสิทธิได้รับทราบผลภายใน 30 วัน และมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงาน เมื่อเห็นว่า ไม่เป็นธรรม หรือไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *