พฤติกรรมที่มนุษย์ถือปฏิบัติตามความเชื่อ

“พิธีกรรม” หมายถึง พฤติกรรมที่มนุษย์ถือปฏิบัติตามความเชื่อ ความศรัทธาต่อศาสนาของตนในแต่ละศาสนาที่มีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมากลายเป็นพิธีกรรมทางศาสนา ที่ถือว่า เป็นกิจกรรมบูชาหรือการปฏิบัติพิธี ซึ่งพิธีกรรมเหล่านั้นส่วนมากจะสัมพันธ์กับวิถีการดำรงชีวิตประจำวัน

มีบางพิธีกรรมไม่อาจนับได้ว่า เป็นพิธีกรรมทางศาสนา เป็นความเชื่อของคนในท้องถิ่นที่มักจะอ้างเรื่องความเชื่อที่ยึดถือและปฏิบัติสืบทอดกันมา น่าจะมีมาแต่โบราณ สมัยก่อนพุทธกาลตั้งแต่ยุคของศาสนาพราหมณ์ โดยที่ศาสนาพราหมณ์นั้นจะยึดถือและปฏิบัติตามคัมภีร์พระเวทย์ ซึ่งพระเวทย์หรือมนตราใช้สำหรับการสวดภาวนาในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ พระเวทย์แบ่งออกเป็น 3 ประการ เรียกว่า “ไตรเภท” เป็นที่มาของ “คัมภีร์ไตรเภท” ซึ่งถือว่า ได้รับมาจากโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการเรียกร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณทั้งหลายในการบูชาพระผู้เป็นเจ้า การบูชาด้วยเครื่องสักการะประเภทนี้เรียกว่า “การบวงสรวงเทวดา” เพื่อต้องการเน้นให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ การดลบันดาลให้บังเกิดสิ่งที่ดีของการตั้งจิตอธิษฐานขอให้สัมฤทธิ์ผลตามปรารถนา ต่อมาได้กลายเป็นพิธีกรรมยึดถือสืบทอดต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบันนี้

พิธีกรรมต่าง ๆ สามารถแยกประเภทออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท คือ

  1. พิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน อันได้แก่ พิธีบายศรี พิธีขอขมา พิธีแต่งงาน พิธีศพ พิธีเลี้ยงผี ฯลฯ
  2. พิธีเกี่ยวกับศาสนา ได้แก่ การทำบุญบ้าน พิธีสิบสองเดือน ฯลฯ

นอกจาก พิธีกรรมที่จัดเป็นประเภทใหญ่ ๆ เหล่านี้แล้ว ยังสามารถแบ่งเป็นประเภทย่อย ๆ อีก 10 ประเภท คือ

  1. พิธีกรรมที่ปฏิบัติเป็นประจำวัน อาทิ สวดมนต์ บำเพ็ญภาวนา สรรเสริญ กราบไหว้ ครูอาจารย์ หรือเทพยดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสำนักหรือโบสถ์ ฯลฯ
  2. พิธีกรรมที่ปฏิบัติเป็นครั้งคราว เป็นการกระทำในกรณีที่สถานการณ์ยังไม่อำนวยหรือพิธีกรรมที่กระทำเป็นปฐมฤกษ์ เช่น พิธีการวางศิลาฤกษ์ พิธีการบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ พิธีการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสถิตชั่วคราวแล้วเชิญกลับ ฯลฯ
  3. พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการชำระล้างบาป เป็นพิธีกรรมที่มีเกิดขึ้นในประเทศจีน และอินเดีย วันกระทำพิธีจะเป็นวันก่อนวันเพ็ญและเดือนแรมในแต่ละเดือน และในช่วงก่อนกระทำพิธีกรรมที่สำคัญ
  4. พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเลี้ยง ราชบัณฑิต พราหมณ์ หรือนักปราชญ์ ในวาระสำคัญของผู้ประสงค์เป็นเจ้าภาพ
  5. พิธีกรรมที่เกี่ยวกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
  6. พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเบิกปฐมฤกษ์ ด้วยการกระทำในฤกษ์งามยามดีสำหรับสถานที่การทำงาน หรือของนั้นอันเป็นการแสดงถึงการเริ่มต้น
  7. พิธีกรรมที่เกี่ยวกับประเพณี เป็นพิธีที่หน่วยงานราชการ หรือประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้กำหนดวัน โดยประชุมกัน เช่น วันพืชมงคล ประเพณีทำขวัญข้าว ฯลฯ
  8. พิธีกรรมเฉพาะบุคคลจะเป็นการกระทำในโอกาสอันพึงเกิดความปีติ เช่น การตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ โกนจุก แต่งงาน ฯลฯ โดยมากมักถือเอาวันฤกษ์ดี ซึ่งถูกโฉลกกับผู้เป็นเจ้าของงานพิธีนั้น ๆ เพื่อเสริมขวัญและกำลังใจ
  9. พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการอ้อนวอนพระเจ้า เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและสมหวัง เช่น พีการบนบานศาลกล่าว พิธีกรรมบูชาเพื่อขอบุตร ฯลฯ
  10. พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการพลีสุกรรม หรือการบูชาครู หรืองานพิธีประจำปี จะกระทำกันเพียงปีละหนึ่งครั้ง เช่น พิธีตรียัมพวาย พิธีพลีสุกรรมของพรหมสถาน ฯลฯ โดยพิธีตรียัมพวายเป็นวันที่มหาเทพเสด็จสู่โลกมนุษย์และวันพลีสุกรรมเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยโบราณ

ที่มาบทความ พิธีกรรมและประเพณี กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม https://www.nabon.go.th/news/doc_download/a_100717_140422.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *