พิธีกรรมและความเชื่อเทศกาลนวราตรี ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี ถนนสีลม กรุงเทพมหานคร

ชนชาติต่าง ๆ เข้ามาอาศัยและตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน ชนชาติที่เข้ามาอาศัยและตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย เช่น แขก ลาว พม่า มอญ จีน อังกฤษ ญวน เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การผสมผสานระหว่างชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ทำให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมและประเพณีหลากหลาย ทำให้มีพิธีกรรมสืบเนื่องจากความหลากหลายนั้น สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชนดังที่ ศิราพร ณ ถลาง (2548) ได้กล่าวว่า พิธีกรรมและประเพณีเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมที่ใช้สร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มชนหรือชาติพันธุ์ เมื่อเรานึกถึงพิธีกรรมเราจะนึกถึงกลุ่มชนหรือชาติพันธุ์ที่เป็น “เจ้าของ” พิธีกรรมนั้น ๆ ด้วย

ดวงธิดา ราเมศวร์ (2537) กล่าวว่า รากเหง้าของความเชื่อและความศรัทธาของชาวตะวันออกเกิดจาก 2 ศาสนาเท่านั้น คือ ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ถึงแม้จะมีลัทธิอื่น ๆ เกิดขึ้นมากมายอย่างใดก็มักต้องเกี่ยวเนื่องกับ 2 ศาสนานี้เป็นหลัก แม้ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่จะนับถือพุทธศาสนาแต่อิทธิพลของศาสนา ฮินดูก็ยังคงดำรงอยู่ในวัฒนธรรมและประเพณีไทย จะเห็นได้ว่า ในรัฐพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และประเพณีส่วนบุคคล เช่น งานแต่งงาน งานตั้งศาลพระภูมิงานโกนจุก ฯลฯ มีพิธีพราหมณ์ – ฮินดูแทรกอยู่ด้วยเสมอและนอกจากนี้ คนเชื้อสายอินเดียในประเทศไทยต่างมีส่วนอย่างมากในการสืบสานรักษาวัฒนธรรม ประเพณีอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาฮินดูให้ปรากฏในสังคมไทย เพื่อแสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอินเดีย

กิจกรรมทางประเพณีและวัฒนธรรมในสังคมไทยอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า อิทธิพลของศาสนาฮินดูยังคงได้รับความนิยมนับถือในประเทศไทย คือ การจัดงานเทศกาลนวราตรี เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการบูชาพระศรีมหาอุมาเทวีผู้เป็นเทพเจ้าสำคัญพระองค์หนึ่งในศาสนาฮินดูโดยจัดในวันขึ้น 1 ค่ำถึง 9 ค่ำเดือน 11 (เดือนตุลาคม) ของทุกปี ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

วัดพระศรีมหาอุมาเทวีเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู ศาสนิกชนของศาสนสถานแห่งนี้นับถือลัทธิศักติหรือศักตินิกาย คือ ลัทธิที่ให้ความสำคัญกับชายาของเทพเจ้า (พระศิวะ) โดยเชื่อว่า อิทธิฤทธิ์ของเทพเจ้านั้น ๆ จะแสดงออกมาโดยผ่านชายาของพระองค์ (วิทยา ศักยาภินันท์, 2549) ดังนั้น ผู้ศรัทธาในศาสนาฮินดูร่วมกับคณะกรรมการของวัดพระศรีมหาอุมาเทวีจึงจัดพิธีกรรมและกิจกรรมเพื่อสรรเสริญพระศรีมหาอุมาเทวีในงานเทศกาลนวราตรี

พระศรีมหาอุมาเทวีเป็นชายาของพระศิวะ ผู้เป็นเทพที่มีบุคลิก 2 แบบ คือ กรุณาและดุร้าย ศักดิของพระองค์จึงมีบุคลิก 2 แบบนี้ในภาคที่เป็นพระนางปารวตี จะปรากฏเป็นหญิงงามใจดี ในภาคที่เป็นเจ้าแม่กาลีและเจ้าแม่ทุรคา จะดุร้ายและเป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรมให้แก่บรรดามนุษย์และเทวดา

ในงานเทศกาลนวราตรี ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวีของทุกปี จะมีการจัดพิธีกรรมขึ้นเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลและเฉลิมฉลองในการที่เจ้าแม่ทุรคาประทานพรให้พระรามปราบทศกัณฑ์ได้สำเร็จ ในการนี้ประเพณีฝ่ายประเทศอินเดียตอนเหนือจะมีการทำหุ่นทศกัณฑ์และบรรดาอสูรขึ้นเมื่อพิธีกรรมดำเนินไปจนถึงวันสุดท้ายของเทศกาลนวราตรีก็จะทำการเผาหุ่นทศกัณฑ์และบรรดาอสูรเป็นนัยว่าธรรมะมีชัยฝ่ายอธรรม

พิธีกรรมรวราตรีจะเริ่มตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ จนถึง 9 ค่ำเดือน 11 เพื่อบูชาพระศรีมหาอุมาเทวีในภาคอวตารต่าง ๆ วันละ 1 ปาง เรียงตามลำดับ คือ มหากาลี ทุรคาหรือมหิษาสุรมรรทินี จามุณฑา กาลี นันทา รักธาฮันตี สัคคมพารี ทุรคา และลัคภรมารี โดยในแต่ละวันจะมีการบูชาไฟและการแสดงฟ้อนรำ พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาสักการะบูชาเพื่อขอพร ส่วนในวันสุดท้าย จะมีพิธีกรรมแตกต่างกับวันอื่น ๆ คือ จะมีการอัญเชิญเทวรูปสำคัญออกจากเทวาลัยเพื่อแห่ให้ประชาชนได้สักการะบูชาหรือเรียกว่า งานแห่พระแม่อุมาวัดแขกสีลมนั่นเอง ซึ่งขบวนแห่มี 5 ขบวนด้วยกัน คือ

ขบวนที่ 1 ขบวนคนทรงพระศรีมหาอุมาเทวี ผู้ที่เป็นคนทรงในนามของพระศรีมหาอุมาเทวี จะทูนหม้อกลาฮัมทำด้วยทองเหลือง ซึ่งชาวฮินดูถือว่า เป็นหม้อศักดิ์สิทธิ์ ภายในบรรจุด้วยทราย น้ำเหรียญและเครื่องบูชาหนักไม่ต่ำกว่า 20 กิโลกรัม โดยคนทรงจะทูนอยู่บนศีรษะเพื่อแสดงว่าขณะนี้จิตเข้าสภาวะทรงไม่รู้สึกหนักขณะแห่ไปตามท้องถนน ส่วนผู้ที่เป็นคนทรงเจ้าแม่กาลี จะเสียบตรีศูลที่กระพุ้งแก้ม เมื่อเข้าสู่ขบวนบุปผชาติจะเปลี่ยนจากเสียบตรีศูลที่กระพุ้งแก้มมาแทงที่ปลายลิ้น

ขบวนที่ 2 ขบวนราชรถของพระกัตตวรายัน ขบวนนี้จะมีราชรถอยู่ในขบวนที่ตกแต่งด้วย บุปผชาติสวยงามพระกัตตวรายัน เป็นเทพที่มีนิสัยดุดันจึงไม่นิยมเข้าทรง เพราะหากเข้าทรงแล้วจะรุนแรงอาจเป็นอันตรายได้

ขบวนที่ 3 ขบวนคนทรงของพระขันธกุมาร ขบวนนี้จะมีคนทรงในนามพระขันธกุมาร ซึ่งเป็นโอรสของพระศรีมหาอุมาเทวี ร่างทรงนั้นจะเสียบเหล็กแหลมที่แก้ม และเกี่ยวตะขอเบ็ดห้อยผลมะนาวตามร่างกาย พร้อมกับแบกกาวาดี ซึ่งทำด้วยโครงเหล็ก ประดับด้วย หางนกยูงและดอกไม้นานาชนิด

ขบวนที่ 4 ขบวนราชรถของพระขันธกุมาร ขบวนนี้จะเป็นราชรถที่ตกแต่งด้วยดอกไม้บุปผชาติงดงาม

ขบวนที่ 5 ขบวนบุษบกขององค์พระศรีมหาอุมาเทวี ซึ่งขบวนนี้จะมีบุษบก ภายในบุษบกจะมีพระศรีมหาอุมาเทวี  พระพิฆเณศวร และพระกฤษณะ ประดับประดาด้วยดอกไม้อันงดงาม

ทั้งสองข้างทางตั้งแต่ถนนสาธรจนถึงถนนสีลมจะมีผู้คนมาตั้งโต๊ะหมู่บูชาพร้อมนำเทวรูปเคารพมาประดิษฐาน ได้แก่ พระศรีมหาอุมาเทวีในภาคต่าง ๆ และพระพิฆเณศวร วัตถุประสงค์ของการตั้งโต๊ะบูชาเพื่อถวายสักการะพระศรีมหาอุมาเทวี เพื่อเป็นการเสริมพลังเทวรูป และเพื่อเบิกเนตรเทวรูปที่ได้มาใหม่ หลังจากนั้น 2 วัน ศาสนิกชนจะร่วมกันสรงน้ำพราหมณ์และผู้เป็นม้าทรงพราหมณ์จะผูกด้ายมงคลสีแดงให้ผู้มาร่วมพิธีถือเป็นการสิ้นสุดเทศกาลนวราตรี (ธนเดช เดชสวัสดิ์, 2549) เทศกาลนวราตรีเป็นประเพณีสืบทอดให้เห็นอิทธิพลความเชื่อของลัทธิศาสนาฮินดูของประเทศอินเดีย มาสู่ประเทศไทย ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี ถนนสีลม กรุงเทพมหานคร ความเชื่อศรัทธานี้มิได้จำกัดอยู่แต่ในหมู่ผู้นับถือศาสนาฮินดูเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธด้วย

ที่มาภาพ https://www.thairath.co.th/news/society/2507320

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *