พัฒนาการทางเพศของมนุษย์ ตั้งแต่ระยะแรกเกิด

พัฒนาการทางเพศของมนุษย์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ

1. พัฒนาการทางเพศระยะแรกเกิด ถึง 6 ขวบ

ระยะแรกเกิด ถึง 6 ขวบ เป็นระยะรักตัวเอง (Auto sexual) เด็กจะมีความสุขความสนใจอยู่กับตัวเอง ความสุขความพอใจอยู่ที่การสัมผัส กอดรัด เด็กที่หงอยเหงา ซึมเซา อาจคลายความเหงาด้วยการลูบ คลำ เล่นอวัยวะตัวเอง เด็กชายบางคนอาจ ปัสสาวะบ่อย อวดอวัยวะกับญาติหรือคนคุ้นเคย เด็กหญิงจะพูดถึงอวัยวะเพศกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างความแน่ใจความเป็นเพศหญิงหรือชายให้กับตนเอง ถ้าผู้ใหญ่ไม่ถือเป็นเรื่องวุ่นวายใหญ่โต หรือผิดบาป เป็นความชั่วร้าย สัปดน พฤติกรรมต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายไป ก่อนอายุ 5 ขวบ แต่ถ้าถูกห้ามปราบ ยับยั้ง ลงโทษ จะเป็นเสมือนการสกัดกั้นพัฒนาการทางเพศของเด็กให้หยุดชะงักลง เด็กอาจเก็บกดความต้องการนี้ไว้ และอาจแปรรูปเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีของฟรอยด์ที่เชื่อว่า เด็กอายุ 3 – 6 ขวบ จะอยู่ในขั้นพัฒนาการทางบุคลิกภาพขั้นที่ 3 คือ อวัยวะเพศแอบแฝง เป็นขั้นที่บุคคลได้รับความพึงพอใจจากกิจกรรมบริเวณอวัยวะเพศ หรือกิจกรรมเกี่ยวช้องกับอวัยวะเพศ เด็กวัยนี้จะเริ่มถือตน (Identify) ตามแบบบิดา หรือมารดาที่เป็นเพศเดียวกับตน มีความอิจฉาหรือมีปฏิกิริยาต่อคู่แข่งของตน ซึ่งคือ บิดา หรือมารดา ปมขัดแย้งในใจหรือปมยุ่งยากทางจิตมาเกิดขึ้นเรียกว่า อิติปุส คอมเพล็กซ์ (Oedipus Complex) อีกทั้งปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงนี้ คือ ปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และเนื่องจากฟรอยด์เชื่อว่า เด็กระยะ 3 – 6 ขวบ มีความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องความแตกต่างทางเพศ ทางด้านกายวิภาคสนใจเกี่ยวกับการเกิดของตนเองว่า เกิดมาได้อย่างไร สนใจเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศของบิดามารดา เริ่มเรียนรู้ถึงความแตกต่างทางเพศ เริ่มมีความรักและความสนใจทางเพศอย่างเลือนรางเกิดความรักความผูกพันและความต้องการความรักจากบิดามารดา ที่เป็นเพศตรงข้ามกันตน มีความอิจฉา และมีปฏิกิริยาต่อคู่แข่งของตน แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความกลัวในระดับจิตใต้สำนึกว่า บิดา มารดา ที่เป็นเพศเดียวกับตนจะทราบถึงความปรารถนาดังกล่าว จึงลดความวิตกกังวลความขัดแย้ง และพยายามเก็บกดความต้องการของตน ความขัดแย้ง และพยายามเก็บกดความต้องการของตน โดยการถือตนตามบิดา หรือมารดา ที่เป็นเพศเดียวกัน ด้วยวิธีนี้เด็กจะเรียนรู้บทบาทเพศ รับเอาค่านิยม ท่าที การแสดงออก และมาตรฐานทางสังคมที่บิดาหรือมารดา ยึดถือมาเป็นมาตรฐานเป็นแนวทางปฏิบัติของตนเอง เป็นการพัฒนาความรู้สึกผิดชอบชั่วดี แต่หากเด็กประสบความล้มเหลวจากการถือตนตามแบบบิดา มารดา ที่เป็นเพศเดียวกับตน เด็กจะเกิดความขัดแย้งในใจวิตกกังวล เกิดความรู้สึกไม่เหมาะสม เกิดความสับสนในบทบาททางเพศของตนลักษณะและปัญหาความขัดแย้งในใจที่เกิดจากปมด้อย อิติปุสนี้ จะเป็นตัวกำหนดบุคลิกภาพของบุคคลในเวลาต่อมา

2. พัฒนาการทางเพศเด็กวัย 6 ถึง 12 ขวบ

วัย 6 ถึง 12 ขวบ เป็นระยะรักร่วมเพศ (Homosexual) เด็กจะมีความสุขความพอใจที่จะคบหา เล่น คลุกคลี อยู่กับเพื่อนเดียวกับตน รู้สึกรังเกียจ เบื่อหน่าย ต่อต้านเพศตรงข้าม ความพอใจอยู่ที่การรวมกลุ่มกับเพื่อนเพศเดียวกัน ถ้าเด็กวัยนี้ไปเล่นรวมกลุ่มกับเพศตรงข้ามเป็นสัญญาเตือนภัยว่า เขากำลังประสบปัญหาความยุ่งยากในการปรับตัว ปรับใจ ให้เป็นหยิงชาย ตรงตามเพศทางร่างกายของตน เด็กวัย 6 ถึง 12 ขวบ มักชอบถามเรื่องเพศ เพราะอยากทราบข้อมูล อยากรู้ข้อเท็จจริงคำตอบที่บิดา มารดา จะตอบจึงควรเป็นข้อเท็จจริง อาจต้องดูรูปภาพหรือหุ่นจำลอง

3. พัฒนาการทางเพศ ตั้งแต่อายุ 13 ขวบขึ้นไป

ตั้งอายุ 13 ขวบขึ้นไป คือ ตั้งแต่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นเป็นระยะของการรักเพศตรงข้าม (Heterosexual) เด็กจะค่อย ๆ คลายความรังเกียจเพศตรงข้าม หันมาสนใจ คบหา ทำกิจกรรมและใช้ชีวิตร่วมกับเพศตรงข้ามมากขึ้น จนสามารถรัก แต่งงาน ร่วมชีวิตครอบครัวกันในที่สุด ข้อสำคัญ บิดา มารดา ต้องสร้างเจตคติที่ดีงาม ถูกต้อง ในเรื่องเพศและการครองเรือนให้กับเด็กด้วย

สังคมและวัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อการพัฒนาทางเพศ ทารกวัย 18 เดือน ถึง 4 ปีเป็นระยะที่มีการรับรู้และพัฒนาเอกลักษณ์ทางเพศ ซึ่งเมื่อเกิดแล้วจะเปลี่ยนได้ยาก การเรียนรู้บทบาททางเพศมีกระบวนการดังนี้

  1. เด็กเรียนรู้ก่อนวัย 2 ขวบว่า ตนเองเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง จากการบอกเล่าถึงเพศของตน ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างเด็กชายและเด็กหญิง และการอบรมให้ปฏิบัติเหมือนผู้ใหญ่เพศเดียวกัน
  2. การสังเกต และเลียนแบบผู้ใหญ่ที่เป็นเพศเดียวกัน
  3. เด็กถูกกระตุ้นด้วยการชมเชย และความรัก ที่เลียนแบบได้สำเร็จ กระบวนการนั้นเกิดขึ้นตลอดวัยเด็ก และเข้าสู่จุดสูงสุดในวัยรุ่น เด็กจะหยุดทำกิจกรรมที่สังคมกำหนด ว่าเป็นกิจกรรมของเพศตรงข้าม เช่น เด็กหญิงหยุดเล่นฟุตบอล ซึ่งถือว่า สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดบทบาททางเพศของเด็ก สิ่งแวดล้อมที่สำคัญนั้นคือ บิดา มารดา การขาดบิดา พี่น้องโรงเรียน เพื่อน และสื่อมวลชน

ทุกขั้นตอนของการพัฒนาการทางเพศนั้น เป็นสิ่งสำคัญ เด็กที่มีพัฒนาการทางเพศที่ไม่ถูกต้อง มีผลทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการแสดงบทบาททางเพศ หรือการแสดงพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศก็ตามมา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *