พัฒนาการของศาสนาฮินดู ปรัชญาฮินดู ทรรศนะทั้งหก “มายาของพรหม” มายาของโลก

เมื่อเกิดศาสนาใหม่ขึ้นจึงมีผู้พยายามเผยแพร่แนวคิดของตนเองออกไปก่อให้เกิดปรัชญาฮินดูขึ้นมาหลากหลายสกุล แต่อย่างไรก็ตาม ปรัชญาฮินดูเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะได้รับอิทธิพลและพัฒนาแนวคิดของตนจากแนวคิดในพระเวทและอุปนิษัทจึงทำให้ปรัชญาฮินดูมีลักษณะร่วมกันบางประการ อย่างเช่น ปรัชญาฮินดูล้วนแต่มีเป้าหมายอยู่โมกษะ การยอมรับว่า “โยคะ” เป็นวิธีการเข้าถึงความรู้อันแท้จริง หรือปรัชญาฮินดูนั้นต่างก็แนะนำการครองชีวิต เพื่อให้บรรลุความจริงขั้นปรมัตถ์

แม้ว่าจะมีปรัชญาฮินดูมากมายหลายสกุล แต่ชาวฮินดูมักจะแบ่งปรัชญาของตนออกเป็น 6 สกุลใหญ่ และเชื่อว่า ทั้ง 6 สกุลไม่ขัดแย้งกัน เรียกกันว่า “ทรรศนะทั้งหก” ทรรศนะในที่นี้หมายถึง การเห็น นั่นคือ เป้าหมายของการเห็น คือ “โมกษะ” ดังนั้น ทุกสกุลจึงสนับสนุนกันไม่ขัดแย้งกัน เพราะต่างมีเป้าหมายเดียวกัน ทรรศนะทั้งหกเชื่อว่า เกิดขึ้นและแพร่หลายเมื่อประมาณสมัยพุทธกาล และหลังจากนั้นก็มีพัฒนาการของแนวคิดหลักธรรมฮินดูซึ่งแตกต่างไปจากเดิมปรากฏขึ้นแต่ก็มิได้ปฏิเสธทรรศนะทั้งหกโดยสิ้นเชิง เพียงเป็นการเสริมสร้างแง่มุมใหม่ ๆ ในศาสนาฮินดู

ทรรศนะทั้งหก

  • นยายะ : ตั้งขึ้นโดยเคาตมะมีลักษณะเป็นตรรกวิทยาชั้นสูง เชื่อว่า ความรู้ขั้นปรมัตถ์นั้นอาจบรรลุได้โดยอาศัยการคิดอย่างมีเหตุผลทุกขั้นตอนเท่านั้น
  • ไวเศษิกะ : ตั้งขึ้นโดยคณาทะ จัดเป็นคู่กับนยายะ ปรัชญาทรรศนะนี้แบ่งสิ่งต่าง ๆ ในโลกออกเป็นสัจธรรม 9 ประเภท การผูกพัน การผสมกันระหว่างสัจธรรมทั้ง 9 ก่อให้เกิดสิ่งต่าง ๆ เมื่อแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ก็จะไม่พบอะไรอื่น นอกจาก สัจธรรมทั้ง 9 หากมนุษย์ระลึกว่า ในโลกนี้มีสัจธรรม 9 อย่างเท่านั้น ก็จะสามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้
  • สางขยะ : กปิละเป็นผู้สถาปนาขึ้น สกุลนี้เป็นการแบ่งแยกสิ่งต่าง ๆ ในโลกออกเป็น 25 ชนิด (มากกว่าของสกุลไวเศษิกะ) โดยสามารถจะจำแนกสิ่งต่าง ๆ ทั้ง 25 ชนิดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ สสารและวิญญาณ หากมนุษย์สามารถแยกแยะสสารออกจากวิญญาณได้ก็จะบรรลุโมกษะ
  • โยคะ : เป็นคู่กับสางขยะ ปตาญชลิเป็นผู้ตั้งขึ้น สกุลนี้เน้นวิธีปฏิบัติให้หลุดพ้นโดยการดับทุกข์ทางจิต
  • มิมางสา : ผู้คิดค้นปรัชญานี้ คือ ไชมินิ ปรัชญานี้เกี่ยวข้องกับการตีความพิธีกรรมและคัมภีร์พระเวท
  • เวทานตะ :  ตั้งขึ้นโดย พราทรายณะ เป็นปรัชญาว่า ด้วยการสืบค้นหาพรหม และดูเหมือนว่าจะได้รับอิทธิพลจากอภปรัชญาของอุปนิษัทอย่างชัดเจนที่สุด เป็นที่ยอมรับกันว่า ปรัชญาสกุลนี้มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของศาสนาฮินดูมากที่สุด

ปรัชญาเวทานตะ กล่าวถึง พรหมว่า ย่อมมีหนึ่งเดียว สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกล้วนเกิดมาแต่พรหม ที่เรามองเห็นว่า มีรูปและนามต่าง ๆ กันนั้นล้วนเป็น “มายาของพรหม” แท้ที่จริงแล้วทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน คือ อาตมันอันเกิดจากพรหม

“พรหม” คือ ความจริงขั้นปรมัตถ์ หากมนุษย์สำนึกในความเป็นเอกภาพของพรหม มนุษย์ก็จะบรรลุโมกษะ

ในสมัยต่อ ๆ มาปรัชญาเวทานตะได้เข้าไปมีอิทธิพลต่อศาสนาฮินดูอย่างมากจนทำให้เมื่อคิดถึงปรัชญา ศาสนาฮินดูก็จะคิดเอาว่า เวทานตะเป็นเหมือนตัวแทนของศาสนาฮินดูทั้งหมด ซึ่งก็เป็นความจริงส่วนหนึ่งที่ว่า ศาสนาฮินดูในยุคหลังที่ยังมีอิทธิพลจนถึงปัจจุบันนี้ ล้วนแล้วแต่พัฒนาจากความคิดที่ปรากฏอยู่ในเวทานตะ

อิทธิพลของเวทานตะปรากฏในปรัชญาสกุลอทไวตะของศังกระ (Shamkara) ซึ่งมีบทบาทอยู่ราว ๆ คริสต์ศตวรรษที่ 9 ปรัชญาอทไวตเป็นปรัชญาที่พยายามสืบค้นหาและอธิบาย พรหมในความคิดของศังกระ ถือว่า พรหมสูงกว่าพระเจ้า เขาได้อธิบายเอาไว้ว่า พรหมเป็นสิ่งสูงสุด มีสภาพเป็นหนึ่งเดียว เป็นความจริงขั้นปรมัตถ์เพียงหนึ่งเดียว ไม่สามารถนำสิ่งใด ๆ มาเปรียบเทียบได้ ดังนั้น จึงเรียกปรัชญาสกุลนี้ว่า “อทไวตะเวทานตะ” ซึ่งหมายถึง เวทานตะที่ปฏิเสธความเป็นคู่ของพรหม

ศังกระเชื่อว่า นอกจากพรหมแล้วไม่มีอะไรที่เป็นความจริงโลกที่เรามองเห็นกันอยู่นี้มิใช่ความจริงเป็นมายาหรือภาพลวงตา แต่ดูเหมือนเป็นจริงสำหรับผู้มีอวิทยา คือ ความไม่รู้ในพรหม เชื่อว่า แนวคิดของศังกระได้รับอิทธิพลบางประการจากคัมภีร์ภควัตคีตา ซึ่งสอนว่า โลกดังที่เรารู้จักกันนี้เป็นมายา ซึ่งผู้มีอวิทยาเห็นเป็นจริง เมื่อใดมนุษย์กำจัดอวิทยาได้ มนุษย์ก็จะเห็นความจริงสูงสุด คือ เข้าถึงพรหม ส่วนขณะที่ยังมีอวิทยา มนุษย์จะต้องยึดมั่นในพระเจ้า ซึ่งถือสคุณพรหม หมายถึง พรหมอันมีลักษณะที่มนุษย์เข้าใจได้ (ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์ ภควัตคีตา : ปรัชญาสำหรับผู้ไม่พอใจสวรรค์)

ดังนั้น ตามแนวคิดของสกุล อทไวตะเวทานตะ มนุษย์จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หรือบรรลุโมกษะได้ก็โดยการสำนึกอย่างลึกซึ้งในเอกภาพของพรหม

มาถึงสมัยนี้ดูเหมือนว่า พิธีกรรมจะลดความสำคัญลงไปโดยเชื่อว่า พิธีกรรมยังมีความสำคัญสำหรับผู้มีอวิทยาและกามะเพื่อจะทำให้จิตบริสุทธิ์ ส่วนเมื่อมนุษย์เข้าถึงวิทยา (ความเป็นเอกภาพของพรหม หรือความจริง ความขั้นปรมัตถ์) แล้วพิธีกรรมก็หมดความสำคัญ

หลังสมัยศังกระแล้วยังคงมีอิทธิพลของเวทานตะปรากฏอยู่หลายแขนง แต่ที่มีชื่อเสียง และมีอิทธิพลต่อศาสนาฮินดูมากที่สุด คือ ทฤษฎีของรามานุชา ซึ่งปรากฏเมื่อราว ๆ คริสต์ศตวรรษที่ 11 นั่นคือ ปรัชญาสกุล “วิศิษฏาทไวตะ” (ความเป็นคู่โดยมีเงื่อนไข)

รามานุชาไม่เห็นด้วยกับศังกระในเรื่อง “มายาของโลก” เขาเชื่อว่า พระเจ้าและโลกเป็นสิ่งเดียวกันเช่นเดียวกับร่างที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิญญาณ ฉะนั้น โลกจึงเป็นจริง โลก คือ ร่างของพระเจ้า ซึ่งพระเจ้าสร้างขึ้นจากพระองค์เอง โลกขึ้นอยู่กับพระเจ้าเช่นเดียวกับร่างกายขึ้นอยู่กับวิญญาณ พระเจ้ากับวิญญาณเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มิใช่เพราะทั้งสองเหมือนกัน แต่เพราะพระเจ้าอยู่ในวิญญาณ แต่มนุษย์ไม่ทราบความจริงข้อนี้ จนกว่าจะมีวิทยาซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการรับใช้พระเจ้าอย่างสุดกายสุดใจ ผู้ที่พระเจ้าโปรดปรานเท่านั้นจึงเกิดศรัทธาที่แท้จริงต่อพระเจ้า รามานุชาเชื่อในความรักอย่างลึกซึ้งที่มนุษย์พึงมีต่อพระเจ้า ความศรัทธา ความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในความรักของพระเจ้าที่ชนะทุกสิ่งทุกอย่าง

ความหลุดพ้นของรามานุชา คือ การได้รับใช้พระเจ้าอย่างใกล้ชิดในไวกุณฐ์ หมายถึง การผ่านพ้นกาลเวลาและที่อันมีขอบเขต โดยสรุปก็คือ รามานุชาเน้นความรักที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์และที่มนุษย์มีต่อพระเจ้าว่า เป็นสิ่งประเสริฐสุด (ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์)

สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากแนวคิดของรามานุชานั้น ไม่ใช่เพียงพัฒนาการของปรัชญาเวทานตะ แต่แนวคิดของรามานุชาได้สิ่งอิทธิพลสำคัญทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางศาสนา ซึ่งเรียกกันว่า “ภักติ” ที่เน้นความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าโดยเชื่อว่า ภักติเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่ทำให้มนุษย์และระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าโดยเชื่อว่า ภักติเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่ทำให้มนุษย์บรรลุโมกษะ

ที่มาบทความ http://www.human.cmu.ac.th/courseonline/course/004233/pdf/doc05.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *