พลอยตระกูลคอรันดัม (แร่มีค่า)

พลอยตระกูลคอรันดัม คือ แร่มีค่า จัดเป็นอัญมณีหรือรัตนชาติชนิดหนึ่ง ได้แก่ ทับทิม ไพลิน เขียวส่อง พลอยบุษร์ พลอยสตาร์ เป็นต้น ในทางวิชาการ “แร่” คือ ธาตุหรือสารประกอบอนินทรีย์ที่เกิดขึ้นทางธรรมชาติ มีโครงสร้างภายในเป็นระเบียบ มีสูตรเคมีและสมบัติอื่น ๆ ที่แน่นอน หรือเปลี่ยนแปลงได้ในวงจำกัด

พลอยตระกูลคอรันดัมเป็นแร่ที่มีคุณสมบัติเด่นพิเศษ ได้แก่ ความสวยงามขึ้นอยู่กับความใส คือ ความสามารถในการยอมให้แสงผ่าน กระจายแสงที่เราเรียกว่า “ไฟ” คือ การกระจายแสงออกเป็นสีต่าง ๆ แบบเดียวกับรุ้งเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ผ่านพลอย การหักเหของแสงเป็นความสามารถในการหักเหลำแสงที่ทะลุผ่านเข้าไปในตัวพลอยแล้วเบนออกจากแนวเดิมไปได้มากกว่าแร่ธรรมดา

พลอยเป็นแร่ที่สามารถนำมาตบแต่งเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์โดยการเจียระไนจนแลดูสวยงาม มีคุณค่าสำหรับนำไปใช้เป็นเครื่องประดับ เครื่องตบแต่งสถานที่สำคัญ เช่น ประดับราชบัลลังก์มงกุฎ ฯลฯ ใช้บรรจุในหลุมฝังศพเพื่อเป็นสมบัติติดตัวผู้ตายไปภพหน้า ใช้สลักเป็นรูปต่าง ๆ อาจสลักเป็นพระพุทธรูปไว้เคารพบูชา เป็นต้น

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการขุดพลอยเพื่อนำมาเจียระไนขายทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเป็นเวลานาน โดยคัดเลือกพลอยที่มีสีสวย น้ำงาม ขนาดใหญ่ เหมาะแก่การทำเครื่องประดับมาเจียระไน ส่วนพลอยที่มีสมบัติต่าง ๆ ด้อยลงมาก็ถูกคัดทิ้งไป ต่อมา เมื่อปริมาณพลอยคุณภาพดีลดลงและหาได้ยากมากขึ้น จึงได้มีการหุงพลอยหรือการเผาพลอยเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าพลอย ประเทศไทยนับว่า ได้เปรียบกว่าหลายประเทศที่มีแหล่งกำเนิดของพลอยตระกูลนี้ภายในประเทศ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเป็นผู้นำระดับโลกประเทศหนึ่งในเรื่องตลาดพลอยพวกทับทิมและไพลิน ในวงการเพชรพลอยในระดับชาติด้วยกันจะรู้สึกว่า ฝีมือในด้านการเจียระไนของคนไทยนั้นอยู่ในระดับแนวหน้า ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะคนไทยมีความประณีตละเอียดอ่อนอยู่ในตัว ค่าแรงงานก็ต่ำเป็นเหตุให้มีการส่งวัตถุดิบเข้ามาเจียระไนในประเทศมากขึ้น

ลักษณะของพลอยคอรันดัมอีกอย่างหนึ่งก็คือ แถบสี ซึ่งเรียกว่า ลายหิน แถบสีเกิดขึ้นเนื่องจาก มีมลทินชนิด impurities ปะปนภายในเนื้อของผลึกแร่ จะเป็นมลทินคนละแบบกับแร่มลทินชนิด inclusions แถบสีหรือลายหิน เกิดขึ้นได้ในระหว่างที่พลอยกำลังเกิดการตกผลึกนั้น มีส่วนประกอบทางเคมีเปลี่ยนแปลงหรือมีมลทินปะปนรวมอยู่ภายในเนื้อ จึงทำให้เกิดแถบสีหรือลายหินขึ้นได้ หรืออาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากโครงสร้างภายในผลึกเกิดมีการแปรเปลี่ยนบิดเบี้ยวไปจากเดิม แถบสีอาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจาก มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และความดันในขณะที่แร่ตกผลึก ตัวอย่างของพลอยตระกูลคอรันดัม ได้แก่

  1. ทับทิม (Ruby) ตามธรรมชาติในแต่ละแหล่ง จะพบมีสีแดงแตกต่างกันออกไป อาจมีสีเข้มมากไป จนกระทั่งสีแดงปานกลาง สีแดงอมชมพู สีแดงอมส้ม แดงอมม่วง เป็นต้น ในแต่ละเม็ดของทับทิมอาจมีสีแดงไม่สม่ำเสมอเท่ากันตลอดทั้งเม็ด สีของทับทิมที่นิยมกันมากที่สุด คือ สีแดงเข้มบริสุทธิ์ และอมสีน้ำเงินหรือสีฟ้าอ่อนนิด ๆ ถ้ามีมากเกินไปจะทำให้ราคาต่ำลง สีที่นิยมนี้เทียบได้กับทับทิมพม่าที่เรียกว่า สีแดงเลือดนกพิราบ (Pigeon’s blood red) ซึ่งนิยมกันมากและถือว่า เป็นทับทิมคุณภาพเยี่ยม ความนิยมในเรื่องของสีทับทิมนั้นอาจแตกต่างกันไป เช่น ชาวไทยส่วนใหญ่นิยมสีแดงอมส้ม ชาวพม่านิยมสีแดงอมชมพู ชาวจีนและญี่ปุ่นนิยมสีชมพู ส่วนชาวยุโรปนิยมสีแดงเข้าที่มีเนื้อใสสะอาด ทับทิมเป็นพลอยตระกูลคอรันดัม เป็นอัญมณีที่มีค่าราคาแพงมากที่สุด ชนิดเม็ดใหญ่ที่มีน้ำไฟและสีสวยคุณภาพชั้นหนึ่งราคาแพงกว่าเพชรเสียอีกในขนาดเท่า ๆ กัน
  2. กินบ่เซี่ยง เป็นทับทิมอีกแบบหนึ่งที่มีสีขาวขุ่นหรือใส และมีสีแดงปนบางส่วน สีไม่สม่ำเสมอ ซึ่งมีราคาดีเป็นที่นิยมกันพอสมควรเพราะเชื่อกันว่า เป็นมงคลแก่ผู้มีไว้ในครอบครอง จะร่ำรวยมีกินมีใช้ตลอดชีวิต
  3. ไพลิน (Blue Sapphire) เป็นพลอยที่มีสีน้ำเงินจัด มีผู้บรรยายว่า มีสีเหลืองกำมะหยี่ที่สวยงามเป็นเลิศ พบมากที่บ่อไพลินในกัมพูชาในประเทศไทยก็มีพลอยลักษณะนี้เช่นกัน ความสวยงามของไพลินจึงขึ้นกับสีที่ปรากฏให้เห็นตามธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ โดยทั่วไปไพลินที่พบสีน้ำเงินอ่อนหรือมีสีเป็นพื้นแทรกสลับเป็นชั้นในเนื้อใสไร้สี อาจมีสีอ่อนแก่ต่างกัน มีสีเขียวปนภายในก้อนเดียวกันก็ได้ สีน้ำเงินที่ยอมรับกันทั่วไปว่าสวยที่สุด คือ Cornflower blue วาวคล้ายน้ำนม (fine milky luster) แคชเมียร์ – แซปไฟร์ เป็นพลอยสีน้ำเงินกำมะหยี่ที่มีคุณภาพเยี่ยมของโลก ในประเทศอินเดียเรียกไพลินจากแคชเมียร์ที่มีสีชนิดนี้ว่า “คอนกยูง” พลอยสีน้ำเงินที่ราคาแพงที่สุดเทียบกับไพลินคุณภาพเยี่ยมของแคชเมียร์มาจากพลอยแซปไฟร์จากแหล่งโยโก เขตจูดิทเบซิน “นิเหล่า” เป็นภาษาพม่าใช้เรียกชื่อพลอยสีน้ำเงิน สีค่อนข้างขุ่นหรือมีสีครามปนเทา
  4. พลอยสีขาว (Green Sapphire, Oriental Emerald) ที่ชาวจันทบุรีเรียกว่า “เขียวส่อง” จะมีสีเขียวเป็นน้ำข้าง มีสีน้ำเงินเป็นน้ำหน้า คือ มีสีเขียวอมน้ำเงินเหมือนเขียวใบไม้แก่ ๆ อาจมีเหลืองปนเล็กน้อย ชนิดที่มีสีเข้มและไม่มีสีน้ำเงินปนเลยจะสวยงามมาก และมีราคาแพง พลอยที่มีสีเขียวใบตองอ่อนหรือเขียวสดใสเรียก เขียวมรกต หรือมรกต ชนิดที่มีสีเขียวที่มีเหลืองอมเล็กน้อย เรียกว่า เขียวบุษร์ พลอยชนิดนี้จะพบตามแหล่งพลอยสีน้ำเงินอยู่ทั่วไป
  5. พลอยน้ำบุษร์หรือบุษราคม (Yellow Sapphire, Topaz Sappoaire, Oriental Topaz) จะมีสีเหลืองอ่อนแก่ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ สีที่นิยมและมีราคาแพงอาจเปรียบได้กับสีน้ำชาแก่ ๆ หรือสีเหลืองคล้ายเหล้าแม่โขงหรือสีขมิ้นเน่าหรือสีดอกจำปา พลอยน้ำบุษร์ที่มีสีเหลืองปนสีเขียวอยู่ภายในเนื้อเรียก บุษร์น้ำแดง ส่วนที่มีสีออกเหลืองทองเรียก บุษร์น้ำทอง มีราคาแพงมากเช่นเดียวกัน
  6. พลอยสตาร์หรือพลอยสาแหรก (Star Sapphire) นิยมเจียระไนในรูปหลังเบี้ยเมื่อถูกแสงจะพบลักษณะรูปดาว 6 แฉก ดูคล้ายแสงดาวบนพื้นหน้าของพลอยซึ่งมีสีดำ เส้นที่เห็นเป็นแฉกนี้เรียกว่า Asterism เป็นเส้นเห็นชัดและคมพาดตลอดลงมาเต็มหน้าพลอย เรียกว่า สตาร์ดีทำให้ราคาแพงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีพลอยสีม่วงเป็นสีม่วงคล้ายดอกตะแบกเหมือนแอเมทิสต์เรียกว่า โอเรียนตัล แอเมทิสต์ แอแมทิสต์ แซปไฟร์ หรือแซปไฟร์สีม่วง ชื่อเรียก ในไทยไม่แน่ชัดบ้างก็เรียกจ้าวสามสี เพราะแลดูคล้ายกันมากชนิดที่มีหลายสีเช่นนี้มีสีน้ำเงิน เขียวและเหลืองปนอยู่ภายในเม็ดเดียวกันเรียกว่า “พลอยตลก” หรือต๊ะยี่หว่า

พลอยตระกูลคอรันดัมนอกจากมีประโยชน์ซื้อขายกันในลักษณะของอัญมณีและเครื่องประดับอันเป็นสินค้าออกของประเทศแล้ว ยังมีการนำทับทิมมาเป็นส่วนประกอบของเครื่องมือผลิตแสงเลเซอร์ และใช้ในการส่งคลื่นวิทยุ คอรันดัมที่ด้อยคุณสมบัติไม่สามารถใช้เป็นอัญมณีได้ ก็นำมาใช้ในอุตสาหกรรมทำกระดาษทราย ทำแท่นหมุนเจียระไนพลอย ทำแท่นหินสำหรับบดไม้เพื่อทำกระดาษใช้เป็นวัตถุดิบทำสีต่าง ๆ ใช้ในปุ๋ยเกษตรกรรม ใช้เป็นเครื่องประดับกาย สถานที่ รูปภาพ เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *