พฤติกรรมและสาเหตุความรุนแรงในวัยรุ่น

คำจำกัดความ “พฤติกรรมความรุนแรงของวัยรุ่น” หมายถึง ความก้าวร้าวรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น (10 – 18 ปี) ทั้งความคิด ความรู้สึกที่ต้องการแสดงความก้าวร้าวรุนแรงจากภายในตนเองต่อผู้อื่นหรือสิ่งมีชีวิต โดยอาจจะแสดงออกมาเป็นเพียงความรู้สึก ความคิด ท่าทาง คำพูด ไปจนถึงการกระทำที่รุนแรงกว่าระดับคนปกติ หรือมีการข่มขู่จะใช้กำลัง / อาวุธต่อบุคคล อันอาจจะทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจ การบาดเจ็บไปจนกระทั่งการเสียชีวิตทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา

ลักษณะพฤติกรรมความรุนแรงในวัยรุ่นแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบ ดังนี้

1. การทะเลาะวิวาท

การทะเลาะวิวาท เป็นพฤติกรรมที่พบบ่อย การทะเลาะกันมีทั้งการใช้วาจาด่าทอ การใช้กำลังต่อสู้ทำร้ายร่างกาย เช่น เตะ ต่อย ถีบ ตบ กระชาก ไปจนถึงการชักชวนพรรคพวกมาช่วยกันรุมทำร้าย

2. การล้อเลียนปมด้อย

การล้อเลียนปมด้อย ไปประเด็นการล้อเลียนเรื่องทาง

  • ด้านร่างกาย เช่น รูปร่าง อ้วน ดำ เตี้ย ขี้เหร่ มีสิว เป็นต้น
  • ด้านความสามารถ เช่น เรียนไม่เก่ง ขี้แพ้ เล่นกีฬาไม่เก่ง เป็นต้น
  • ด้านบุคลิกภาพ เช่น ขี้อาย การเป็นเพศที่ 3 การพูดติดอ่าง พูดไม่ชัด มีสำเนียงภาษาถิ่น เป็นต้น โดยใช้คำพูดด่าทอ เสียดสี เยาะเย้ย ล้อเลียนและไปจนถึงการไม่ยอมรับเข้ากลุ่ม

3. การข่มขู่รีดไถเงิน

วัยรุ่นที่มีพฤติกรรมการข่มขู่รีดไถมักจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ ส่วนผู้ที่ถูกกระทำมักเป็นเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างทะนุถนอม ท่าทางอ่อนแอ พูดน้อย หรือท่าทางไม่มีทางสู้ วัยรุ่นที่มีพฤติกรรมข่มขู่รีดไถมีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมใหญ่ ๆ ในอนาคต

4. การละเมิดทางเพศ

การละเมิดทางเพศ มักเป็นการลวนลามระหว่างวัยรุ่นชายหญิง ทั้งการใช้คำพูด สายตาและการกระทำที่ส่อไปในทางลวนลาม หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือปลูกฝังการให้เกียรติเพศตรงข้ามจะทำให้นำไปสู่การก่อเหตุที่รุนแรงได้ เช่น การฉุด การลวนลามทางกาย ไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศ (ข่มขืน)

สาเหตุความรุนแรงในวัยรุ่น

ปัจจัยส่วนบุคคล

ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่

  1. ลักษณะทางชีวภาพ เช่น ฮอร์โมน พัฒนาการทางสมอง สติปัญญา ภาวะแทรกซ้อน ระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นต้น
  2. สุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช เช่น การตระหนักรู้ในคุณค่าตัวเองต่ำ ขาดทักษะชีวิต มีทัศนคติที่ไม่เหมาะสม (เช่น คิดว่า ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ / ธรรมดา) มีแรงจูงใจเกี่ยวกับความต้องการการตื่นเต้น เป็นต้น และวัยรุ่นที่เป็นโรคจิตเวช ได้แก่ โรคดื้อต่อต้าน โรคเกเร โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า โรคบุคลิกภาพแปรปรวน รวมถึงการใช้สารเสพติด

ปัจจัยจากครอบครัว

ลักษณะของครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมความรุนแรงในวัยรุ่นมีลักษณะ ดังนี้
  1. ลักษณะครอบครัว เป็นครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรง มีความขัดแย้งสูง การทำหน้าที่ต่าง ๆ ของสมาชิกในครอบครัวบกพร่อง ครอบครัวแตกแยก ขาดความใกล้ชิด เด็กถูกทอดทิ้ง พ่อแม่เป็นโรคทางจิต หรือมีปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงสภาพครอบครัวที่ยากจนและขาดความอบอุ่น มีความตึงเครียดในครอบครัวสูง
  2. รูปแบบการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น
    1. การเลี้ยงดูที่ไม่คงเส้นคงวา
      • .พ่อแม่ปราศจากแนวทางในการแนะนำ สั่งสอนไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจน ไม่มีการกำกับ ติดตาม สอดส่องดูแลพฤติกรรมของลูก แต่มาควบคุมตอนเด็กโตและใช้การลงโทษด้วยความรุนแรง
      • พ่อแม่ขัดแย้งกันในการเลี้ยงดูเด็ก เช่น พ่อเข้มงวด แต่แม่ตามใจ
      • การเลี้ยงดูแบบส่งเสริมการสนใจแต่เพียงเรื่องของตนเอง มีอิสระไร้ขอบเขต จะทำให้เด็กเกิดความสับสน และมีความพยายามหาช่องทางหลีกเลี่ยงกฎระเบียบ
    2. พฤติกรรมใช้ความรุนแรงของบิดามารดา ได้แก่ การลงโทษถ้าไม่สู้คนอื่น ยุยงชักจูงให้เด็กต่อสู้ มองคนที่ไม่สู้ว่าอ่อนแอ ปลูกฝังค่านิยมความเชื่อผิด ๆ เช่น การไม่สู้คนไม่เป็นลูกผู้ชาย รวมทั้งการลงโทษที่รุนแรง เช่น การทุบตี ตบหน้า ส่งผลให้เด็กเกิดอาการหวาดกลัว มองโลกในแง่ร้าย ไม่ไว้วางใจผู้อื่น เป็นเด็กเก็บกด และนำไปสู่การมีพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรง
    3. ความกดดัน ได้แก่ การเข้มงวดกวดขันในเรื่องกฎระเบียบการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การคบหาเพื่อน เด็กที่ได้รับการกดดันมาก จะส่งผลไปสู่การกระทำความรุนแรงทั้งต่อบุคคลในครอบครัวและที่โรงเรียน

ปัจจัยจากเพื่อนและโรงเรียน

การคบเพื่อนหรือวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยง การถูกปฏิเสธจากกลุ่มเพื่อน ขาดการเข้าใจ การสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ และความรุนแรงจากการถูกลงโทษ

ปัจจัยทางสังคม

ภาวะสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง การเข้าถึงปัจจัยเสี่ยงและอบายมุขต่าง ๆ เช่น สุรา สารเสพติด การพนัน และอาวุธ ขาดการบังคับใช้กฎหมาย การลอกเลียนแบบจากสื่อและเกมออนไลน์ เป็นต้น

ผลกระทบจากความรุนแรงในวัยรุ่น

  1. ผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่น คือ ขาดความพร้อมในการเรียนหนังสือ การเรียนตกต่ำ เสี่ยงต่อการหยุดเรียนหรือออกจากสถาบันการศึกษา ได้รับการปฏิเสธจากกลุ่มเพื่อนปกติ นำไปสู่การเข้าร่วมกลุ่มเพื่อนกลุ่มเสี่ยง
  2. ผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่น คือ มีปัญหาเรื่องความประพฤติ ถูกพักการเรียน / ไล่ออกจากโรงเรียน การกระทำผิดกฎหมาย ก่อคดี เกิดภาวะซึมเศร้ารุนแรง สูญเสียโอกาสทางการศึกษาและอาชีพ สูญเสียค่าใช้จ่ายในกระบวนการขึ้นศาล ผลกระทบต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง ครอบครัวและชุมชน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *