พฤติกรรมการชมซีรี่ย์เกาหลี “ละครโทรทัศน์เกาหลี” ของวัยรุ่นไทย

กระแส “Korean Wave” หรือ “Hallyu” นั้นก็คือ ละครโทรทัศน์ของประเทศเกาหลีหรือซีรี่ย์เกาหลี ต่อจากนี้ไปใช้คำว่า “ซีรี่ย์เกาหลี” แทน “ละครโทรทัศน์เกาหลี” ซึ่งละครโทรทัศน์เป็นสื่อบันเทิงที่มีมานานอยู่คู่กับทุกสังคม โดยให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินกับผู้ชม อีกทั้งยังพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยละครโทรทัศน์ของแต่ละประเทศก็มีลักษณะการดำเนินเรื่องที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตและกำกับ ดังนั้น ละครโทรทัศน์ที่นำเสนอจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป ซึ่งรวมไปถึงเนื้อหาของละครแล้ว ยังทำให้ทราบถึงสิ่งที่ปรากฏในละคร เช่น ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ การแต่งกาย ฯลฯ แต่สิ่งที่ได้รับจากการชมละครที่ไม่ได้แตกต่างกันไปเลยนั่นก็คือ ความสนุกสนาน เพลิดเพลินและสาระที่แฝงตัวมากับละครเรื่องนั้น ๆ

โดยซีรี่ย์เกาหลีในแต่ละเรื่องนั้น ก็จะมีความแตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อเรื่องที่สามารถสร้างเรื่องราวออกมาในแบบที่ผู้ชมคาดเดาได้ยากหรือซับซ้อน หรือนักแสดงที่มีคาแรคเตอร์และหน้าตาที่โดดเด่น รวมทั้งสถานที่และสภาพแวดล้อมที่ใช้ในการถ่ายทำ จะเน้นความเป็นธรรมชาติเพื่อให้เกิดความสมจริงมากที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมรับรู้ทันทีว่า เป็นซีรี่ย์ที่ถูกผลิตขึ้นโดยประเทศเกาหลี นั้นก็คือ เอกลักษณ์วัฒนธรรมเกาหลีที่จะปรากฏให้เห็นในซีรี่ย์เรื่องนั้น

หากย้อนดูซีรี่ย์เกาหลีในบ้านเราก็จะเห็นถึงวิวัฒนาการเชิงปริมาณที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากอดีตชองไอทีวีในช่วงประมาณ ปี พ.ศ. 2546 ที่ใช้การนำเข้าซีรี่ย์เอเชียมาเป็นกลยุทธ์หลักในการต่อสู้ ซึ่งเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ในการบริโภคละครให้กับผู้ชมชาวไทย ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของผู้ชมดังกล่าวจะเน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ทั้งชาย และหญิง จากกระแสซีรี่ย์เกาหลีในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้กลุ่มคนหลายกลุ่มเกิดการคลั่งไคล้ซีรี่ย์เกาหลีกันเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ซีรี่ย์ดังกล่าวมักมีเนื้อหาวนเวียนอยู่กับประเด็นความสัมพันธ์ในแบบเอเชียโบราณที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาเรื่องครอบครัวและความรัก รวมทั้งยังมีการนำเสนอภาพสวย ๆ ในซีรี่ย์ที่กระตุ้นจินตนาการให้กับผู้ชมชาวไทยในการสร้างมายาคติแบบเกาหลี (Korean dream) รวมทั้งในปัจจุบันช่องทางการรับชมมีความหลากหลายมากขึ้น จึงทำให้โอกาสในการรับชมซีรี่ย์เกาหลีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรับชมทางโทรทัศน์ช่องปกติ เคเบิ้ลทีวี ดีวีดี และอินเทอร์เน็ต และการรับชมผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีปัจจัยในหลาย ๆ ด้านที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผู้รับชมเกิดความสนใจและติดตามซีรี่ย์เกาหลีที่ตัวเองชื่นชอบ

จากการศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยในการเลือกชมซีรี่ย์เกาหลีของวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร พบว่า วัยรุ่นที่รับชมซีรี่ย์เกาหลีส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 19 – 22 ปี กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี อาชีพนักเรียนหรือนักศึกษา ชมซีรี่ย์เกาหลีผ่านช่องทางออนไลน์ในอินเทอร์เน็ตบนคอมพิวเตอร์ รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับซี่รี่ย์เกาหลีผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อนเป็นผู้ชักวนหรือผุ้มีอิทธิพลให้เริ่มชมซีรี่ย์เกาหลี ช่วงเวลาค่ำ 19.00 น. เป็นต้นไป เป็นเวลาในการชมซีรี่ย์เกาหลี ประเภทของเนื้อหาของซีรี่ย์เกาหลีส่วนใหญ่ คือ รักโรแมนติก เนื้อเรื่องที่น่าสนใจเป็นเหตุผลที่ทำให้เลือกชมซีรี่ย์เกาหลี ความสนุกสนานกับเรื่องราวที่ได้รับชม คือ ความรู้สึกหลังจากได้รับชมซีรี่ย์เกาหลี

ผลการศึกษาเหตุผลการเลือกชมซีรี่ย์เกาหลีด้านเอกลักษณ์ของซีรี่ย์เกาหลี พบว่า การใช้เทคนิคพิเศษในการถ่ายทำซีรี่ย์เกาหลีการแต่งหน้าได้สมจริง กับบทบาทในซีรี่ย์เกาหลี ซีรี่ย์เกาหลีมีเนื้อหาหลากหลายประเภทในการดึงดูดใจให้รับชม

เหตุผลการเลือกชมซีรี่ย์ด้านนักแสดงและตัวละครในซีรี่ย์เกาหลี พบว่า หน้าตาและรูปร่างของนักแสดงมีผลต่อการเลือกชมซีรี่ย์เกาหลี นักแสดงในเรื่องมีชื่อเสียงและได้รับรางวัลต่าง ๆ จึงทำให้เกิดความน่าเชื่อถือของซีรี่ย์เกาหลีเรื่องนั้น คุณภาพและความสามารถของนักแสดงมีผลต่อการเลือกชมซีรี่ย์เกาหลี นักแสดงที่ท่านชื่อชอมเป็นสิ่งจูงใจให้ชมซีรี่ย์เกาหลี และการแสดงที่สมบทบาทของนักแสดงมีผลต่อการเลือกชมซีรี่ย์เกาหลี

เหตุผลการเลือกชมซีรี่ย์ด้านวัฒนธรรมเกาหลี พบว่า ในการเลือกชมซีรี่ย์เกาหลีของวัยรุ่นมีผลมาจากด้านวัฒนธรรม วิถีความเป็นอยู่ของคนเกาหลีเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ผู้ชมเกิดความสนใจ รวมทั้งประเพณีของเกาหลีที่มีความเป็นเอกลักษณ์อยู่ในซีรี่ย์จนกลายเป็นสิ่งที่ผู้ชมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นเลือกชมซีรี่ย์ และเหตุผลการเลือกชมด้านเนื้อเรื่องของซีรี่ย์เกาหลีโดยซีรี่ย์เกาหลีมีการปรับเปลี่ยนให้มีความคล้ายกับละครโทรทัศน์ไทยมากขึ้น

จากการศึกษาพบว่า สิ่งเหล่านี้สามารถใช้ในการคาดการณ์กระแสความนิยมวัฒนธรรมเกาหลีที่มีอยู่ในประเทศไทยของกลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบัน และเพื่อเป็นประโยชน์ในการประยุกต์วิธีการต่าง ๆ ในการเสริมสร้างวัฒนธรรมไทยให้แข็งแกร่งและมั่นคงต่อไป[i]


[i] ขอขอบคุณที่มาบทความ “พฤติกรรมและปัจจัยในการเลือกชมซีรี่ย์เกาหลีของวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร” เกตุวดี สมบูรณ์ทวี, ณัฏฐัชกุญช์ ทิพย์ภักดี และสุนิสา อภิพงษ์. การกระชุมวิชาการการวิจัยสถัน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 1.

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/frog0338

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *