พระตรีมุรติเทพ (1)

“ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู” เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย มีอายุเก่าแก่กว่าพระพุทธศาสนาประมาณ 900 ถึง 1,000 ปี จึงจัดเป็นศาสนาที่เก่าแก่กว่าบรรดาศาสนาทั้งหลายที่มีผู้นับถืออยู่ในปัจจุบัน มีลักษณะเป็น “ศาสนาพหุเทวนิยม” ซึ่งมีเทพเจ้าองค์สำคัญ 3 องค์ ประกอบด้วย พระพรหม พระวิษณ พระศิวะ ที่เรียกรวมกันว่า พระตรีมูรตีเทพหรือ “ตรีมูรติ” และ “ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู” มีเทพเจ้าเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะศาสนิกชนมีอิสรภาพเสรีเต็มที่ในการนับถือและการจินตนาการทางเทวรูปแต่ทิ้งหลักว่า เทพเจ้าที่เราได้รู้แล้วหรือจะได้รู้ในอนาคตเป็นส่วนของพระปรมาตมัน จึงถือกันวว่า มีเอกภาพในพหุภาพ คือ มีเทพเจ้าองค์เดียวในรูปร่างต่าง ๆ กัน แต่ละสถานที่มีเทพเจ้าแต่ละองค์ดูไม่ออกว่า องค์ไหนสำคัญกว่าหรือสูงกว่า แต่ละกลุ่มนับถือแต่ละองค์ บางทีในครอบครัวเดียวกัน แต่ละคนในครอบครัวก็นับถือเทพเจ้าต่าง ๆ กัน

เซอร์ เมอเนียร์ วิลเลียส์ อธิบายแยกให้เห็นว่า “ศาสนาพราหมณ์” นั้น วางหลักลงไปด้วยคำสันสกฤตว่า “เอกเมว อทวิดียม” ซึ่งแปลว่า “หนึ่งเท่านั้น ไม่มีสอง” หมายความว่า “ไม่มีอะไรมีอยู่เป็นอยู่เลย นอกจากพระพรหม และนอกจากพระพรหม เป็นมายาหรือสิ่งลวงทั้งสิ้น” ข้อกำหนดนี้ ถือกันว่า เป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์ และเป็นบทบัญญัติอันแท้จริงของพระเวท แต่ “ศาสนาฮินดู” ได้พัฒนาขึ้นจาก “ศาสนาพราหมณ์” โดยได้เพิ่มเติมอะไร ใหม่ ๆ ลงไป กล่าวคือ

  1. ตามหลักดั้งเดิมในศาสนาพราหมณ์ ทางแห่งความหลุดพ้นที่เรียกว่า “ชฺญานมารฺค” (ทางแห่งญาณหรือปัญญา) ศาสนาฮินดูก็รับรองด้วย และได้เพิ่มทางอีก 2 คือ “กรฺมารฺค” (ทางแห่งกรรม) กับ “ภกฺติมารฺค” (ทางแห่งความภักดี) ว่าเป็นทางแห่งความหลุดพ้นเช่นกัน
  2. ทางแห่งกรรมหรือ “กรฺมมารฺค” นั้น หมายถึง การบูชายัญ การประกอบพิธีกรรม การทรมานตัวเอง การบำเพ็ญตบะ จะเห็นได้ว่า “กรรม” ที่หมายถึง ในศาสนาฮินดูนั้น ไม่ตรงกับทางพระพุทธศาสนา ซึ่งหมายถึง การกระทำทางกายวาจาใจที่เป็นสุจริต อันเป็นส่วนแห่งศีลธรรม กับการกระทำทางสมาธิ และอบรมปัญญา อันเป็นส่วนแห่งการทำกิเลสให้ลดน้อยลงจนสิ้นไปในที่สุด ไม่ถือการบูชายัญ หรือการทรมานตัวเป็นหลักกรรมทางพระพุทธศาสนา
  3. ทางแห่งความภักดี หรือ “ภกฺติมารฺค” หมายถึง ความรักความอุทิศตัวเองต่อเทพเจ้าที่มีตัวตน คำว่า “ภกติ” หรือ “ภักดี” นี้ตรงกับคำในคัมภีร์อุปนิษัทว่า “อุปสานา” แปลว่า “การเข้าไปนั่งใกล้.” ความหลุดพ้น จะมีได้ด้วยความจงรักภักดีต่อเทพเจ้า นั้นเป็นหลักการทั่วไปของศาสนาฝ่ายนิยมเทวนิยม และบางศาสนาถือว่า เพียงข้อนี้ข้อเดียวเป็นหลักการใหญ่และสำคัญที่สุด[1]

ศาสดาของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏว่า “ศาสนาพราหมณ์” มีศาสดาผู้ก่อตั้งหรือเผยแผ่คำสอน ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า “ศาสนาของตนสืบเนื่องมาจากพระผู้เป็นเจ้า คือ “พระพรหม” ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ ศาสนาพราหมณ์ถือกำเนิดขึ้น เมื่อพวกอารยันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และมีอำนาจบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ และนำความเชื่อเรื่องการนับถือสุริยเทพ และเทพเจ้าประจำธรรมชาติของตนเข้ามาผสมผสานกับการนับถือและบูชาวิญญาณประจำโลกธาตุทั้ง 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ของชาวพื้นเมือง (มิลักขะ) ด้วยเหตุนี้ ศาสนาพราหมณ์จึงกำเนิดขึ้นในลักษณะของ “ศาสนาพหุเทวนิยม”

สัญลักษณ์ทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

สัญลักษณ์ทางศาสนาพราหรมณ์ – ฮินดูที่สำคัญที่สุด คือ ตัวอักษรที่อ่านว่า “โอม” ประกอบด้วย อ + อุ + มะ เป็นแทน พระตรีมูรตีเทพหรือ “ตรีมูรติ” คือ

แทน “พระนารายณ์” หรือ “พระวิษณุ”
อุแทน “พระพรหม”
แทน “พระศิวะ” หรือ “พระอิศวร”

เมื่อรวมกันเข้าเป็น อักษรเดียวกลายเป็นอักษร “โอม” แทนพระปรมาตมัน พระเจ้าสูงสุด ไม่มีตัวตน สัญลักษณ์นี้ทุกนิกาย ทุกลัทธิในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ต้องใช้เป็นประจำ

เทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู นับถือเทพเจ้ามากมาย โดยมีความคิดว่า เทพเจ้ามีความรู้สึก รัก โกรธ เกลียด ชัง เหมือนกับมนุษย์ และอาจบันดาลประโยชน์หรือหายนะแก่มนุษย์ได้ ทำให้มนุษย์รู้สึกกลัว และหาทางเอาใจเทพเจ้า ก่อให้เกิดการสรรเสริญเยินยอเทพเจ้า การบูชายันเพื่อสังเวยเทพเจ้า

เทพเจ้าองค์สำคัญมี 3 องค์ ที่เรียกรวมกันว่า พระตรีมูรตีเทพหรือ “ตรีมูรติ” คือ

พระพรหมเทพเจ้าผู้สร้างโลก
พระวิษณุเทพเจ้าผู้พิทักษ์คุ้มครองโลก
พระศิวะเทพเจ้าผู้ทำลายโลก (ทำลายเพื่อกวาดล้างความชั่ว และให้อาตมันได้พักผ่อนจากการเวียนว่ายตายเกิด)

ความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

เชื่อในพระเป็นเจ้า “ตรีมูรติ” ทั้ง 3 องค์ (พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ) ยังคงมีอิทธิพลควบคู่ไปกับการนับถือพระพุทธศาสนา ประกอบกับในโบสถ์ของชาวฮินดู มักจะตั้งพระพุทธรูปรวมกันกับรูปปั้นของมหาเทพ ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องอวตารของพระวิษณุ ทำให้คนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา นิยมมาสวดอ้อนวอนขอพรและบนบานต่อมหาเทพ เช่น การบนบานต่อพระพรหมหลายคนก็เข้าร่วมพิธีกรรมของฮินดู จึงเรียกได้ว่า มีผู้คนจำนวนมากที่นับถือทั้งพุทธ ทั้งฮินดู ปนเปกันไป แบบนิกายพุทธตันตระ

หลักความเชื่อที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

คำสอนในคัมภีร์อุปนิษัทนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องวิญญาณเวียนว่ายตายเกิด และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ผี สาง เทวดาต่าง ๆ ขึ้นมา รวมทั้งเรื่องอาวตารของพระนารายณ์ที่เกิดมาเพื่อช่วยโลก เช่น อวตารมาเป็นพระรามเพื่อฆ่ายักษ์ หรือแม้เรื่องอวตารมาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อสอนพวกอสูรผิด ๆ จะได้ไม่มีฤทธิ์เดช จะได้กำจัดได้ง่าย เป็นต้น นี่เองที่ให้ผู้ที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาอย่างถูกต้องก็จะเชื่อกันว่า พุทธศาสนานั้นแยกออกมาหรือเป็นเพียงสาขาหนึ่งของศาสนาฮินดูเท่านั้น ซึ่งความเชื่อนี้ก็ได้เข้าไปปะปนอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาในระดับศีลธรรมเต็มไปหมด และก็ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาสูญหายไปจากอินเดียอีกด้วย[2]

ความเชื่อและหลักปฏิบัติของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

ชาวอินเดียจะมีการแบ่งผู้คนออกเป็นพวก ๆ หรือวรรณะตามความเชื่อจากศาสนาฮินดู คือ

  1. วรรณะพราหมณ์เป็นวรรณะสูงสุด ได้แก่ พวกผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ
  2. วรรณะกษัตริย์ ได้แก่ พวกกษัตริย์ผู้ปกครองบ้านเมือง
  3. วรรณะแพศย์ ได้แก่ พวกพ่อค้า ช่างฝีมือ
  4. วรรณะศูทร ได้แก่ พวกคนใช้

ทั้งนี้ ตั้งแต่อดีตชาวอินเดียนั้น จะยึดถือเรื่องวรรณะกันมาก ซึ่งถ้าใครแต่งงานกันคนต่างวรรณะ ลูกที่ออกมาจะถูกจัดเป็นพวกจัณฑาล ซึ่งมีวรรณะเป็นคนชั้นต่ำสุดที่สังคมรังเกียจ และในของส่วนวรรณะพราหมณ์ชาวอินเดียถือว่า เป็นวรรณะสูงสุด เพราะชาวอินเดียเชื่อว่า พราหมณ์เกิดมาจากพรหม

หลักปฏิบัติของศาสนาฮินดูนั้น ก็มีหลักศีลธรรมอยู่มากมาย แต่เน้นไปที่การบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือ และยังมีความอดทนที่จะรับความทุกข์ยากโดยไม่คิดจะปรับปรุงแก้ไข เพราะถือว่า นี่เป็นกรรมของตนหรือเป็นพรหมลิขิตที่ไม่สามารถหลีกหนีได้ ไม่มีใครจะมาช่วยเหลือได้ จึงทำให้เกิดความนิ่งดูดาย หรือใจดำ ไม่ค่อยจะมีใครช่วยเหลือใคร เพราะถือว่า เป็นกรรมของเขาเองที่ทำไว้ในชาติก่อน ส่วนคนที่ไปช่วยก็ช่วยเพราะอยากให้ตนมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ได้ช่วยเพราะความสงสารอย่างแท้จริง

ประเพณีที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

ศาสนาฮินดูมีประเพณีต่าง ๆ มากมาย ส่วนมากเป็นประเพณีบูชาเทพเจ้า เช่น การฆ่าสัตว์บูชายัญต่อเจ้าแม่กาลี ซึ่งบางครั้งก็มีการฆ่ามนุษย์เพื่อบูชายัญ เพราะเชื่อว่า เทพเจ้าจะพอใจและดลบันดาลให้ความหายนะหรือโรคระบาดหายไปได้

สถานที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

สถานที่สำคัญแห่งหนึ่งอยู่เมืองพาราณสีที่ตั้งอยู่ที่ฝั่งของแม่น้ำคงคาที่เรียกว่า “กาสี” ซึ่งคนที่เคร่งครัดในศาสนาฮินดูทุกคนจะต้องดิ้นรนมาตายที่วงกลมศักดิ์สิทธิ์ที่มีรัศมีประมาณ 10 ไมล์จากจุดศูนย์กลางของตัวเมืองที่เรียกว่า “ปัญจะโกสี” ซึ่งผู้คนจะมีแสวงบุญกันที่นี่ให้มากครั้งเท่าที่จะทำได้ และลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคาที่ถือว่า ศักดิ์สิทธิ์ชำระล้างบาปได้ ดังนั้น เมื่อมีคนตายจึงนิยมนำมาเผาที่บริเวณนี้ และทิ้งศพลงแม่น้ำคงคา จนทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่เศร้าโศกตลอดกาล เพราะมีแต่งานศพและควันลอยโขมงอยู่ตลอดเวลา

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่ง คือ “เมืองมธุรา” ที่เป็นเมืองสำคัญศักดิ์สิทธิ์ของนิกายไวษวะที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำยมนา ที่ถือว่า เป็นบ้านเกิดของพระกฤษณะ เมื่อถึงเทศกาลจะมีนักแสวงบุญมาที่เมืองนี้ และมีพิธีฟ้อนรำให้เกียรติแก่พระกฤษณะ ซึ่งนอกจากสถานที่สำคัญทั้งสองแห่งนี้แล้ว ยังมีศูนย์กลางศาสนาอีกหลายแห่ง


[1] จากบทที่ 10 ศาสนาฮินดู (ไม่ทราบที่มา)

[2] บทที่ 6 เรื่องเทศกาลและพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู (ไม่ทราบที่มา)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *