ผลกระทบและโรคแทรกซ้อนที่เกิดในเด็กและวัยรุ่นที่อ้วน ด้านจิตใจและสังคม

ผลกระทบที่เกิดในเด็กและวัยรุ่นที่อ้วนด้านจิตใจและสังคม

เด็กที่อ้วนมักถูกล้อและอาจไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน ทำให้ขาดความมั่นใจ ความภูมิใจในตนเอง สุดท้ายอาจแยกตัวออกจากกลุ่มจากสังคม ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า บางคนในวัยเด็กรูปร่างโตกว่าอายุ ผู้ใหญ่ที่พบเห็นมักจะคาดหวังเด็กมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะเครียด ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มักแก้ปัญหาด้วยการกินยิ่งทำให้เด็กอ้วนมากขึ้น

ผลกระทบและโรคแทรกในเด็กและวัยรุ่นที่อ้วนทางร่างกาย

1. โครงสร้างทางร่างกาย

เด็กและวัยรุ่นที่อ้วน พบว่า มีความผิดปกติของกระดูกและข้อได้ร้อยละ 50 – 70 คือ ขาโก่ง การเลื่อนหลุดของหัวกระดูกต้นขา เท้าแบน (ส่วนโค้งของฝ่าเท้าหายไป) ทำให้เดินลำบากมีท่าเดินที่ผิดปกติ ปวดขาปวดสะโพก แก้ไขโดยการลดน้ำหนักและใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน นอกจากนี้ มีการศึกษาพบว่า คนที่อ้วนมากอาจมีผลต่อความแข็งแรงของกระดูกได้

2. การเจริญเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติ

ในเด็กที่อ้วนมีปริมาณไขมันสะสมในร่างกายมากมักจะเป็นหนุ่มสาวเร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน โดยเฉพาะในเด็กหญิงจะมีประจำเดือนเร็วกว่าวัยเดียวกัน (โดยทั่วไปเด็กหญิงไทยจะเริ่มมีประจำเดือนมีอายุเฉลี่ย 11 – 12 ปี) ในเด็กที่อ้วนมักจะมีเร็วกว่า และบ่อยครั้ง พบว่า เด็กมีหน้าอกก่อนอายุ 8 ปี ซึ่งภาวะนี้อาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อให้คำปรึกษา

3. โรคเบาหวานหรือความผิดปกติของการเผาผลาญอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล

ความผิดปกติของการเผาผลาญอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน เด็กหรือวัยรุ่นที่อ้วนและมีผิวหนังหนาคล้ำบริเวณคอและรักแร้ที่เรียกว่า “อแคนโธซิส นิกริแคน” พบว่า มีภาวะดื้ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้โดยเฉพาะถ้ามีญาติพี่น้องเป็นเบาหวานร่วมด้วย มีข้อมูลพบว่า เด็กที่มีพ่อหรือแม่เป็นเบาหวานมีโอกาสร้อยละ 14 ถ้าพ่อและแม่เป็นมีโอกาสเป็นร้อยละ 40

4. ภาวะไขมันในเลือดสูง

เมื่อตรวจเลือดในผู้ป่วยที่อ้วนพบว่า มีระดับไขมันสูงทั้งโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดไม่ดี LDL-C ทำให้พบอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดและหัวใจมากขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า เด็กวัยรุ่นอ้วนที่เป็นเบาหวาน เริ่มมีความผิดปกติของการเผาผลาญอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล มีไขมันโคเลสเตอรอลสูง มีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง

5. ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงเป็นผลที่สืบเนื่องจากภาวะดื้อดึงต่ออินซูลินมีผลต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด นำไปสู่โรคหัวใจต่อไป

6. ภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ พบได้ในเด็กที่น้ำหนักเกินร้อยละ 150 ของเด็กวัยและเพศเดียวกัน ระยะแรกจะเหมือนการนอนกรนต้องพลิกตัวไปมา ถ้ายังอ้วนต่อไปก็จะเกิดภาวะคล้ายอาการสำลัก สะดุ้งตื่นเป็นผลจากการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ ขณะที่นอนหลับ มีผลทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ง่วงนอนตอนกลางวัน ผลการเรียนแย่ลง ถ้าเป็นมากอาจทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อการควบคุมการหายใจ เกิดภาวะที่เรียกว่า “พิควิคเกียน” ควรรีบให้การดูแลรักษาเพราะสุดท้ายอาจทำให้เสียชีวิตได้

7. ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และภาวะมีบุตรยาก

ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอและภาวะมีบุตรยาก พบในวัยรุ่นหญิงที่อ้วนเป็นผลจากภาวะดื้ออินซูลิน มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ บางครั้งอาจทำให้ประจำเดือนขาดหายไปเป็นผลให้มีบุตรยาก อาจพบร่วมกับการมีสิวขึ้นมากและมีขนดกขึ้น ภาวะนี้ดีขึ้นได้ ถ้าลดน้ำหนักหรือบางครั้งอาจต้องรักษาด้วยยาฮอร์โมน

8. ภาวะตับอักเสบและถุงน้ำดีอักเสบ

ภาวะตับอักเสบและถุงน้ำดีอักเสบ พบได้บ้างไม่มาก มักไม่มีอาการชัดเจนแต่ตรวจเลือดพบเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น ถ้าได้รับการดูแลรักษาในระยะนี้การทำงานของตับอาจกลับมาเป็นปกติได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา ต่อมาจะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบและตับแข็งได้ มีการศึกษาพบว่า ภาวะถุงน้ำดีอักเสบในเด็กและวัยรุ่นจะพบมากขึ้นในเด็กที่อ้วน และพบนิ่วในถุงน้ำดีได้เหมือนผู้ใหญ่ที่อ้วน

9. โรคผิวหนัง

โรคผิวหนังพบได้บ่อย คือ โรคเชื้อราที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ทำให้อักเสบรุนแรงลุกลามเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *