แรงงานผิดกฎหมาย ผีน้อย เกาหลีใต้

ระบบการอนุญาตจ้างงานสำหรับแรงงานต่างชาติ (EPS) แรงงานเกาหลี

จากการที่เกาหลีใต้ได้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจนก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Country) ทำให้ค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แรงงานเกาหลีโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่โยกย้ายเข้าไปแสวงหางานทำในเมืองใหญ่ รวมกับค่านิยมของคนเกาหลีที่ชอบทำงานให้บริษัทใหญ่และไม่ชอบทำงานที่ใช้แรงงาน ทำให้ภาคการผลิตในชนบทหรือเมืองเล็ก ๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กขาดแคลนแรงงานอย่างมาก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเกาหลีใต้จึงได้เห็นถึงความจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติ เพื่อตอบสนองอุปสงค์สำหรับแรงงานของผู้ประกอบการรายย่อย

เดิมทีรัฐบาลเกาหลีใช้ระบบฝึกงานอุตสาหกรรม (Industrial Training System – ITS) โดยอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้าไปฝึกงานในเกาหลีใต้เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นสามารถทำงานต่อได้อีก 1 ปี และต่ออายุได้ 1 ปี แต่เนื่องจากการทำงานดังกล่าวถือว่าเป็นการฝึกงาน แรงงานต่างชาติจึงไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงาน และไม่ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ทำให้แรงงานต่างชาติที่เข้าไปทำงานในระบบ ITS จำนวนมากหลบหนีไปเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย รัฐบาลเกาหลีใต้จึงได้เริ่มนำระบบการอนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System: EPS) มาใช้ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2547 เพื่อสร้างความมั่นคงด้านแรงงานแก่ภาคอุตสาหกรรมที่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจาก คนรุ่นใหม่ของเกาหลีใต้นิยมทำงานประเภทใช้แรงงานน้อยลง ระบบ EPS มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองโอกาสในการทำงานของคนเกาหลี แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยอนุญาตนายจ้างที่ไม่สามารถว่าจ้างแรงงานในประเทศให้สามารถว่าจ้างแรงงานไม่มีฝีมือต่างชาติในจำนวนที่เหมาะสมอย่างถูกกฎหมาย และยังเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างชาติด้วย โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ (กระทรวงแรงงานและการจ้างงาน – Ministry of Employment and Labor) จะเป็นผู้คัดเลือกประเทศผู้ส่งออกแรงงานและกำหนดโควตาของแรงงานต่างชาติแต่ละปี รวมทั้งกำหนดเพดานการจัดส่งแรงงานต่างชาติแต่ละประเทศ

ภายใต้ระบบการอนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติ จำกัดให้ว่าจ้างงานแรงงานต่างชาติได้ใน 5 ภาค ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง ภาคเกษตร และการผสมพันธุ์สัตว์ ภาคประมง และภาคบริการ (คลังห้องเย็น ร้านอาหาร การกำจัดของเสีย บริการซ่อมรถยนต์ทั่วไป พยาบาลบริการในครัวเรือน ฯลฯ)

แรงงานต่างชาติที่ไปทำงานผ่านระบบ EPS จะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงาน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายมาตรฐานแรงงาน กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ กฎหมายอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน ฯลฯ เช่นเดียวกับแรงงานในประเทศ ยกเว้น แรงงานที่ทำงานในครัวเรือนจะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน ผู้ว่าจ้างสามารถตัดสินใจ และบังคับใช้เงื่อนไขต่าง ๆ ได้แก่ เวลาทำงาน การเลิกจ้างงาน วันลา วันหยุด ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย นอกจากนั้น บทบัญญัติของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องบางข้อ หรือบางมาตราจะไม่มีผลบังคับใช้กับแรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมเกษตร ป่าไม้ และประมง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ แรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมเกษตร การผสมพันธุ์สัตว์ และการประมง จะไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติ “กฎระเบียบสำหรับค่าล่วงเวลา” (Overtime) ของกฎหมายมาตรฐานแรงงาน

ปัจจุบัน 15 ประเทศเข้าร่วมอยู่ในโครงการ EPS ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา มองโกเลีย จีน อุซเบกิซสถาน ปากีสถาน กัมพูชา เนปาล พม่า คีร์กิซสถาน บังคลาเทศ และติมอร์ตะวันออก นอกจากนั้น เกาหลีใต้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับ สปป.ลาว เพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ระยะเวลาจ้างงาน

แรงงานต่างชาติที่เดินทางไปทำงานตามระบบ EPS จะได้รับวีซ่าประเภท E-9 และได้รับอนุญาตให้ทำงานในเกาหลีใต้ 3 ปี แต่หากนายจ้างพึงพอใจแรงงาน นายจ้างสามารถยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอจ้างต่อไปอีก 1 ครั้ง เป็นระยะเวลาอีก 1 ปี 10 เดือน รวมเป็นระยะเวลาจ้างงานต่อเนื่อง 4 ปี 10 เดือน โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศไทยหลัง 3 ปีแรก เมื่อครบ 4 ปี 10 เดือนแล้ว แรงงานจะต้องเดินทางกลับประเทศไทยเท่านั้น แต่หากแรงงานประสงค์จะกลับไปทำงานอีก สามารถทำได้ 4 วิธี ได้แก่

  1. หากอายุไม่เกิน 39 ปี สามารถสมัครสอบกลับไปทำงานในระบบ EPS ได้อีก
  2. หากนายจ้างเกาหลีประสงค์จะจ้างแรงงานคนเดิม นายจ้างจะต้องติดต่อกระทรวงยุติธรรมเพื่อขออนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติที่ไม่ใช่ประเภทแรงงานไร้ฝีมือ
  3. กรณีต้องการทำงานกับนายจ้างเดิม หากแรงงานสมัครใจกับประเทศในระยะเวลาที่อนุญาตทำงานโดยได้ทำงานกับนายจ้างรายสุดท้ายมากกว่า 1 ปี แรงงานสามารถกลับเข้าไปทำงานกับนายจ้างรายสุดท้ายหลังจากพักที่ประเทศ 6 เดือน โดยต้องสอบภาษาเกาหลีพิเศษ
  4. หากแรงงานไม่ได้มีการย้ายงานเลยในช่วงเวลา 4 ปี 10 เดือน สามารถกลับไปทำงานกับนายจ้างคนเดิม หลังจากพักที่ประเทศไทย 3 เดือน โดยไม่ต้องสอบภาษาและอบรมอีกครั้ง โดยนายจ้างจะต้องเป็นผู้ยื่นขออนุญาตก่อนที่ลูกจ้างจะเดินทางกลับประเทศไทย

ขั้นตอนการคัดเลือกและการรับแรงงานต่างชาติ EPS

ขั้นตอนการคัดเลือกและรับแรงงานต่างชาติไปทำงานในเกาหลีใต้ภายใต้ระบบ EPS มี 9 ขั้นตอน ดังนี้

  1. คณะกรรมการนโยบายแรงงานแห่งชาติ เกาหลีใต้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับจำนวนแรงงานต่างชาติที่นำเข้าและประเทศที่ส่งแรงงาน โดยพิจารณาประเด็นหลัก ๆ เกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จำนวนโควตาแรงงานต่างชาติที่นำเข้า ประเทศที่ส่งแรงงาน ฯลฯ ทั้งนี้ การกำหนดโควตาแรงงานต่างชาติจะดำเนินโดยกระทรวงการจ้างงานและแรงงาน (Ministry of Employment and Labor) โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย อาทิ ความพึงพอใจของนายจ้าง อัตราการอยู่อย่างผิดกฎหมาย อัตราการขอย้ายงาน รวมทั้ง ผลการสอบของแรงงานจากประเทศนั้น
  2. การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งแรงงาน (ระหว่างกระทรวงการจ้างงานและแรงงานเกาหลีใต้กับกระทรวงแรงงานของประเทศผู้ส่ง) โดยรัฐบาลเกาหลีใต้จะลงนามบันทึกความเข้าใจกับประเทศที่ยอมรับขั้นตอนการรับสมัครของเกาหลีใต้เพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานต่างชาติ โดยบันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้คราวละ 2 ปี จากนั้นจะประเมินผลการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจเพื่อประกอบตัดสินใจในการลงนาม MOU ครั้งต่อไป
  3. หน่วยงานรัฐบาลของประเทศผู้ส่งคัดเลือกแรงงานตามวิธีการและกระบวนการที่รัฐบาลเกาหลีกำหนด เช่น คะแนนการทดสอบภาษาเกาหลี และประสบการณ์การทำงาน และจัดส่งรายชื่อผู้หางานต่างชาติที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกไปยังสถาบันบริการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แห่งประเทศเกาหลี หรือ HRD Korea
  4. การสมัครขออนุญาตว่าจ้างแรงงานต่างชาติ (ระหว่างนายจ้างกับกระทรวงแรงงานเกาหลีใต้) นายจ้างที่ได้ประกาศว่าจ้างแรงงานในประเทศแล้ว 7 วัน แต่ไม่สามารถหาแรงงานชาวเกาหลีใต้ จะได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติผ่านศูนย์สนับสนุนการว่าจ้าง (Employment Security Center: ESC)
  5. การคัดเลือกแรงงานต่างชาติและการออกใบอนุญาตว่างจ้าง (ระหว่างนายจ้างกับกระทรวงแรงงานเกาหลีใต้) ศูนย์สนับสนุนการว่าจ้างจะให้ข้อมูลแรงงานต่างชาติจากบัญชีรายชื่อผู้หางานต่างชาติแก่นายจ้าง เพื่อให้นายจ้างคัดเลือกแรงงานต่างชาติที่มีคุณสมบัติตามความต้องการ เมื่อนายจ้างคัดเลือกแรงงานต่างชาติที่ต้องการแล้ว ศูนย์สนับสนุนการว่าจ้างจะออกใบอนุญาตว่าจ้างให้แรงงานต่างชาติที่ถูกคัดเลือก
  6. การลงนามสัญญาจ้างแรงงาน (ระหว่างนายจ้างกับแรงงานต่างชาติ) นายจ้างจะลงนามในสัญญาจ้างแรงงานตามแบบฟอร์มมาตรฐานกับแรงงานต่างชาติที่ถูกคัดเลือก โดยสัญญาจ้างจะกำหนดเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงต่าง ๆ ได้แก่ ค่าแรง เวลาทำงาน วันหยุด สถานที่ทำงาน ฯลฯ ทั้งนี้ นายจ้างอาจทำสัญญาจ้างโดยตรงกับแรงงานต่างชาติ หรือมอบหมายให้ HRD Korea เป็นผู้ดำเนินการแทน
  7. การออกใบรับรองเพื่อขอรับการตรวจลงตรา (ระหว่างนายจ้างกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรม) นายจ้างยื่นใบอนุญาตว่าจ้างแรงงานต่างชาติ และสัญญาแรงงานมาตรฐานเพื่อให้กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ออกใบรับรองเพื่อการขอตรวจลงตราแก่แรงงานต่างชาติ โดยนายจ้างอาจมอบหมายให้ KRD Korea เป็นผู้ดำเนินการแทน
  8. การรับแรงงานต่างชาติ (ระหว่างนายจ้างกับแรงงานต่างชาติ) นายจ้างส่งใบรับรองเพื่อการขอรับการตรวจลงตราให้แรงงานต่างชาติ จากนั้น แรงงานต่างชาติที่ถูกคัดเลือกจะได้รับการตรวจลงตราประเภททำงาน (E-9) จากสถานเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศผู้ส่ง และเดินทางเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ ทั้งนี้ เมื่อแรงงานต่างชาติเดินทางถึงเกาหลีใต้จะต้องเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการว่าจ้างภายใน 15 น ณ สถาบันฝึกอบรมการที่เกี่ยวข้อง
  9. การจัดการเกี่ยวกับการพำนักของแรงงานต่างชาติ (ระหว่างนายจ้างกับกระทรวงแรงงาน/กระทรวงยุติธรรม) ถึงแม้ว่า โดยหลักการแล้ว แรงงานต่างชิตจะถูกห้ามมิให้ย้ายไปทำงานที่อื่น อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างชาติสามารถย้ายไปทำงานที่อื่นได้ ในกรณีที่มีเหตุผลจำเป็น เช่น การหยุดกิจการชั่วคราวหรือการปิดกิจการ และการที่นายจ้างยกเลิกสัญญาจ้างแรงงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้เข้มงวดกับแรงงานที่อยู่อาศัยและทำงานอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งมีมาตรการป้องกันไม่ให้แรงงานต่างชาติตั้งรกรากในประเทศ โดยกำหนดระยะเวลาการว่าจ้างครั้งละ 3 ปี และต้องต่อการตรวจลงตราทุกปี

ขั้นตอนการสมัครเข้าไปทำงานในระบบ EPS เพื่อคัดเลือกแรงงานไทยที่มีความสนใจไปทำงานในเกาหลีใต้

กระทรวงแรงงานร่วมกับสถาบันบริการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แห่งประเทศเกาหลี หรือ Human Resources Development Service of Korea (HRD Korea) เป็นผู้จัดสอบภาษาเกาหลีเพื่อคัดเลือกแรงงานไทยที่มีความสนใจไปทำงานในเกาหลีใต้ โดยในประเทศไทยมีการจัดสอบปีละ 2 ครั้ง มีศูนย์สอบ 4 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ นครราชสีมา อุดรธานี และลำปาง โดยกระทรวงแรงงานจะประชาสัมพันธ์การจัดสอบให้ผู้สนใจทราบล่วงหน้าทางสื่อมวลชน อาทิ หนังสือพิมพ์ สำนักงานแรงงานจังหวัด ทางเว็บไซต์ http://eps.hrdkorea.or.kr และผ่านสื่อ social media ต่าง ๆ

คุณสมบัติสำหรับผู้สมัครทดสอบความสามารถภาษาเกาหลี

HRD Korea ได้กำหนดคุณสมบัติสำหรับผู้สมัครทดสอบความสามารถภาษาเกาหลี ดังนี้

  1. อายุตั้งแต่ 18 – 39 ปี
  2. ไม่มีประวัติอาชญากรรม
  3. สุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคต้องห้ามที่ทางการเกาหลีใต้กำหนด
  4. ไม่เคยมีประวัติการถูกเนรเทศออกจากสาธารณรัฐเกาหลี
  5. ไม่เป็นผู้ถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอนราชอาณาจักร

ข้อสอบภาษาเกาหลี (EPS – Test of Proficiency in Korean (TOPIK)) ประกอบด้วยการฟัง 25 ข้อ และการอ่าน 25 ข้อ รวมทั้งหมด 50 ข้อ โดยมีเวลาสอบ 70 นาที โดยผู้สอบสามารถศึกษาตัวอย่างข้อสอบล่วงหน้า โดยดาวน์โหลดได้ที่ http://eps.hrdkorea.or.kr

เกณฑ์การผ่านสอบภาษาเกาหลี : ผู้ที่ได้คะแนนตั้งแต่ 80 คะแนนขึ้นไป (คะแนนเต็ม 200 คะแนน) เรียงตามลำดับคะแนนผู้สอบได้สูงสุด

ผู้สมัครที่สอบผ่านความสามารถภาษาเกาหลี จะได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อคนหางาน (job seeker’s roster) เพื่อส่งให้ทางการเกาหลีใต้ และให้นายจ้างเกาหลีใต้พิจารณา และดำเนินการตามขั้นตอน ทั้งนี้ การสอบผ่าน และได้รับการขึ้นทะเบียนไม่ได้เป็นการรับประกันว่า จะได้รับคัดเลือกเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ หรือว่าจะได้รับการคัดเลือกเมื่อใด ผลการสอบใช้ได้ตั้งแต่วันที่ประกาศผลสอบไปจนถึง 2 ปี หากเกิน 2 ปีแล้วยังไม่ได้รับการเลือกไปทำงาน จะต้องทดสอบภาษาใหม่อีกครั้ง

เมื่อนายจ้างเกาหลีได้เลือกแรงงานจากทะเบียนผู้หางานเรียบร้อยแล้ว HRD Korea จะเตรียมสัญญาจ้างงานและส่งให้กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อแจ้งให้แรงงานทราบข้อเสนอ และแรงงานเป็นตัดสินใจว่า จะรับข้อเสนอหรือไม่ โดยจะต้องให้คำตอบภายใน 14 วัน หากแรงงานปฏิเสธสัญญาจ้างงาน 2 ครั้งโดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม HRD Korea อาจถอนชื่อแรงงานดังกล่าวออกจากทะเบียนได้

ค่าใช้จ่ายในการสมัครเข้าไปทำงานในระบบ EPS

ค่าใช้จ่ายในการทดสอบภาษาและอื่น ๆ ไม่เกิน 20,000 บาท ประกอบด้วย

  1. ค่าสมัครสอบ 25 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 830 บาท
  2. ค่าหนังสือเดินทาง 1,000 บาท
  3. ค่าตรวจสุขภาพ 1,500 บาท
  4. ค่าฝึกอบรมภาษา และวัฒนธรรมเกาหลี ก่อนเดินทางไปทำงาน ไม่เกิน 4,500 บาท
  5. เงินเข้ากองทุน 500 บาท
  6. ตั๋วเครื่องบิน 11,500 บาท (รวมค่าเสื้อ และรถโดยสารจากกรมจัดหางานไปสนามบินสุวรรณภูมิ)

สำหรับการตรวจลงตรา กรมจัดหางานเป็นผู้ดำเนินการให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายในเกาหลีใต้ที่จะต้องนำเป็นเงินติดตัว ประมาณ 25,000 บาท แบ่งเป็น

  1. ค่าประกันค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทย ประมาณ 12,000 บาท
  2. ค่าประกันอุบัติเหตุ นอกเวลาทำงาน ประมาณ 1,500 บาท
  3. เงินค่าใช้จ่ายส่วนตัวก่อนได้รับเงินเดือนในเดือนแรก 11,500 บาท

ผลกระทบของแรงงานไทย (ผีน้อย) ผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)

การที่มีคนไทยพำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายและลักลอบทำงานในเกาหลีใต้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ ย่อมนำไปสู่สภาพปัญหาต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ และประเทศไทยโดยรวม ไม่ในทางตรงก็ในทางอ้อม เป็นการเพิ่มภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตฯ ในด้านงานคุ้มครองคนไทยโดยเฉพาะในกรณีที่แรงงานคนไทยเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งค่ารักษาพยาบาลในเกาหลีใต้สูงมาก โดยที่เป็นแรงงานผิดกฎหมายที่ไม่มีประกันสุขภาพและส่วนมากมีฐานะทางบ้านที่ยากจน สถานเอกอัครราชทูตฯ มักจะต้องรับภาระในการทดรองค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปก่อน โดยให้ผู้ตกทุกข์เซ็นสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาว่าจะคืนเงินดังกล่าวให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา พบว่า การเรียกเก็บเงินดังกล่าวคืนจากผู้ตกทุกข์เป็นไปได้ยากมาก ดังนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ จะพยายามเจรจาต่อรองกับโรงพยาบาลให้ลดค่ารักษาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งบ่อยครั้งส่งผลให้โรงพยาบาลตกอยู่ในสภาวะจำยอม (take it or leave it) และก่อให้เกิดทัศนคติเชิงลบต่อคนไทย ซึ่งอาจส่งผลให้โรงพยาบาลดังกล่าวไม่เต็มใจที่จะรับคนป่วยชาวไทยในอนาคต สำหรับในกรณีที่แรงงานเสียชีวิต สถานเอกอัครราชทูตฯ จะทดรองค่าฌาปนกิจศพ ค่าจัดส่งอัฐิกลับประเทศไทยรวมทั้งค่ารักษาพยาบาลที่ยังค้างจ่ายให้กับโรงพยาบาล ซึ่งโอกาสได้รับเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวคืนจากญาติของแรงงานก็น้อยมากเช่นกัน การดำเนินการด้านการคุ้มครองแรงงานไทยผิดกฎหมายที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าวจึงถือว่า เป็นการเพิ่มภาระทางงบประมาณของประเทศชาติโดยรวมด้วย

การที่มีคนไทยพำนักอยู่ในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนมากย่อมก่อให้เกิดภาพพจน์ในเชิงลบต่อนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปเกาหลีใต้ ทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้เพ่งเล็งและระมัดระวังเป็นพิเศษในการคัดกรองนักท่องเที่ยวไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศ ส่งผลให้คนไทยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศมากขึ้น ในการดำเนินมาตรการเข้มงวดดังกล่าว แน่นอนในบางครั้งนักท่องเที่ยวไทยที่มีเจตนาไปท่องเที่ยวอย่างแท้จริงก็ถูก “ลูกหลง” ปฏิเสธไปด้วย ก่อให้เกิดความไม่พอใจและเสียความรู้สึกต่อฝ่ายเกาหลีใต้ สถานการณ์นี้สามารถส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระดับประชาชนได้ โดยเฉพาะในยุคของ social media ซึ่งผู้ที่ถูกกระทบสามารถระบายความรู้สึกและกระจายออกสู่สังคมในวงกว้างอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น อาจกล่าวได้ว่า ในระดับรัฐบาลก็ได้มีแรงกดดันให้ฝ่ายไทยตอบโต้มาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดของเกาหลีใต้โดยฝ่ายไทยก็ได้เริ่มเข้มงวดกับชาวเกาหลีใต้ที่มีพฤติกรรม เดินทางเข้า – ออกประเทศไทยหลายครั้ง (visa – runners) โดยอาศัยความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราฯ ซึ่งพบว่า ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากที่อาศัยช่องทางดังกล่าวประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ในประเทศไทย

การที่มีแรงงานไทยทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อความร่วมมือด้านแรงงานอย่างเป็นทางการระหว่างไทยและเกาหลีใต้ภายใต้โครงการ EPS ได้ 2 ประการ

  1. การที่มีแรงงานไทยผิดกฎหมายจำนวนมาก และหากรัฐบาลไทยไม่สามารถแสดงให้ฝ่ายเกาหลีใต้เห็นถึงความพยายามที่จะแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาดังกล่าว อาจส่งผลให้เกาหลีใต้ปรับลดจำนวนโควตาแรงงานที่ไทยได้รับอนุญาตไปทำงานในเกาหลีใต้ในแต่ละปีภายใต้ EPS
  2. การที่มีแรงงานไทยทำงานอยู่อย่างผิดกฎหมายจำนวนมากเป็นการตัดโอกาสของแรงงานไทยรุ่นใหม่ที่ประสงค์จะไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างถูกต้อง และได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกภายใต้โครงการ EPS แล้ว โดยการลดอุปสงค์ของนายจ้างเกาหลีสำหรับแรงงาน และเป็นการบั่นทอนระบบการส่งแรงงานไปทำงานภายใต้ EPS ในระยะยาว[1]

[1] ขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง ปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ โดยนายประพันธ์ ดิษยทัต สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *