แรงงานผิดกฎหมาย ผีน้อย

นางณคประภา บำรุงสุข ฝ่ายพิจารณาการไปทำงานตามระบบ EPS สาธารณรัฐเกาหลี สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งเคยได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายแรงงานประจำเกาหลีใต้เป็นเวลา 3 ปี แสดงความเห็นว่า ที่จริงแล้วแรงงานไทยส่วนใหญ่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องผ่านระบบ EPS แต่มีปัญหานารสอบภาษาเกาหลีจึงจำเป็นต้องหาทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งนาย Choi Sang Geon, Director General of the EPS Center in Thailand, HRD Korea เห็นพ้องว่า ตั้งแต่ที่ตนมารับตำแหน่งในประเทศไทย 1 ปีเศษ พบว่า ปัญหาสำคัญของแรงงานไทยมี 2 เรื่อง คือ 1) คนไทยสอบภาษาผ่านน้อยมาก และ 2) ความล่าช้าในการส่งตัวแรงงานไปทำงานหลังจากสอบผ่านแล้ว โดยมีรายละเอียดของปัญหา ดังนี้

ปัญหาการสอบภาษาเกาหลี

  1. แรงงานไทยมีปัญหาสอบภาษาเกาหลีไม่ผ่าน และไม่ค่อยมีความพยายามที่จะเรียนภาษาเกาหลี หรือเตรียมตัวให้ดีก่อนไปสอบ ทำให้ได้คะแนนต่ำมาก คะแนนสอบของแรงงานไทยอยู่อันดับท้ายสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่ร่วมโครงการ EPS 15 ประเทศ โดยอัตราการสอบผ่านของแรงงานไทย เพียงร้อยละ 20 – 30
  2. ข้อสอบภาษาเกาหลีของ HRD Korea เป็นการสอบแบบปรนัย 50 ข้อ คะแนนเต็ม 200 โดยเกณฑ์ผ่าน คือ ต้องได้คะแนน 80 (ร้อยละ 40) แต่ในปี 2557 มีแรงงานไทยสอบผ่านเกณฑ์เพียง 4,119 คน จากจำนวนผู้เข้าสอบประมาณ 20,000 คน (สอบปีละ 2 รอบ) ทำให้ไม่สามารถส่งแรงงานไปทำงานได้ตามโควตาที่ได้รับจำนวน 5,400 คน
  3. ก่อนปี 2556 แรงงานไทยสามารถศึกษาและ “ท่องจำ” คำถามตัวอย่าง 2,000 ข้อล่วงหน้า โดยข้อสอบจริง 50 ข้อดังกล่าวจะออกจากคำถามตัวอย่าง 2,000 ข้อนี้ แต่หลังจากปี 2556 HRD Korea ได้เปลี่ยนข้อสอบให้ยากขึ้น โดยเป็นคำถามที่ต้องอาศัยความเข้าใจและไม่มีตัวอย่างข้อสอบให้ศึกษาท่องจำก่อน ทำให้ผลการสอบของแรงงานไทยยิ่งลดระดับลงไปอีก
  4. แรงงานไทยไม่ค่อยได้เตรียมตัวสอบล่วงหน้า ส่วนมากจะเริ่มเรียนภาษา 2 เดือนก่อนสอบ โดยมักเข้าเรียนในสถาบันสอนภาษาเกาหลี (ค่าเรียนหลักสูตรละประมาณ 8,500 บาท) แต่อาจจะด้วยข้อจำกัดด้านความสามารถ และความที่มีการศึกษาพื้นฐานต่ำ จึงเรียนรู้ได้ช้า โอกาสที่จะสอบผ่านจึงมีน้อย และมีแรงงานหลายคนที่เสี่ยงดวงไปลองสอบโดยไม่ได้รียนภาษามาเลย
  5. โรงเรียนหรือสถาบันสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทยเป็นอีกปัญหา เนื่องจาก มีคุณภาพต่ำ ครูสอนภาษาเกาหลีตามสถาบันสอนภาษาไม่ได้มีความรู้ภาษาเกาหลีลึกซึ้ง โดยมีความรู้ภาษาเกาหลีเพียง 2 หรือ 3 ตามมาตรฐาน TOPIK (Test of Proficiency in Korean) กระทรวงแรงงานเคยจัดหลักสูตรสอนภาษาเกาหลีสำหรับแรงงานเกาหลีเพื่อเตรียมตัวสอบภาษา แต่ไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งต่างจากแรงงานเวียดนาม หรืออินโดนีเซียที่สนใจ และทุ่มเทเรียนภาษาเกาหลีเป็นเวลาหลายเดือนล่วงหน้า ทำให้สอบได้คะแนนสูง เช่น กรณีแรงงานอินโดนีเซียโดยเฉลี่ยสอบได้คะแนน 140 จาก 200 จึงมีแรงงานที่ขึ้นทะเบียนรอการเรียกตัวจำนวนมาก ประเด็นนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ไทยถูกปรับลดโควตาลงในระยะหลัง (จาก 5,700 คนในปี 2556 เหลือ 5,400 คนในปี 2557) เนื่องจาก ไม่สามารถหาแรงงานที่สอบผ่านได้ตามจำนวนโควตา และไปเพิ่มโควตาสำหรับประเทศอื่นที่มีแรงงานที่สอบผ่านและขึ้นทะเบียนจำนวนมากแทน

ปัญหาความล่าช้าในการเรียกตัว

  1. แรงงานที่สอบผ่านการทดสอบภาษาเกาหลีผ่านเกณฑ์ จะได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อรอการเรียกตัวจากนายจ้างเกาหลี แต่ปัญหาที่ประสบ คือ ความล่าช้าในการเรียกตัวแรงงานไปดำเนินการเซ็นสัญญาจ้างงาน และเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิงมักจะต้องรอนานมาก หรือไม่ได้รับการเรียกตัวเลย เนื่องจาก โดยค่านิยม และลักษณะของงานที่ต้องไปทำ นายจ้างเกาหลีใต้ชอบแรงงานชายมากกว่า ส่งผลให้แรงงานหญิงที่สอบได้หลายคนตัดสินใจไม่รอ และหาทางลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ หรือบางกรณีแรงงานหญิงรอการเรียกตัวจนครบ 2 ปี ซึ่งผลการสอบหมดอายุ จึงตัดสินใจหาทางเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้โดยวิธีอื่น
  2. นอกจากนั้น นาย Choi ให้ข้อมูลว่า มีความล่าช้าในขั้นตอนการขอ CID (หนังสือรับรองความประพฤติ) ซึ่งแรงงานที่ได้รับการคัดเลือกจากนายจ้างจะต้องขอจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อใช้ประกอบการขอรับการตรวจลงตรา ซึ่งในอดีตใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ในปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เป็นผลให้การจัดส่งแรงงานไปทำงานล่าช้า อนึ่ง จากการสัมภาษณ์แรงงาน EPS ในเกาหลีใต้ มีแรงงานบางคนกล่าวหาว่า มีการเรียกเงินสินบนจากแรงงาน หากต้องการเร่งรัดการออกหนังสือรับรองความประพฤติ
  3. โดยรวมแล้ว เมื่อเทียบกับอีก 15 ประเทศ ไทยมีความล่าช้าในกระบวนการส่งแรงงานไปทำงานเป็นอันดับเกือบสุดท้าย โดยของไทยใช้เวลา 69.1 วันในการจัดส่ง ในขณะที่คีร์กิซสถานใช้เวลาเพียง 44 วัน ซึ่งอาจส่งผลให้นายจ้างยกเลิกการทำสัญญาจ้าง เนื่องจาก ขาดความเชื่อมั่นในแรงงานไทย และยังอาจมีผลให้ไทยถูกปรับลดโควตาลงในปีถัดไปด้วย

ระยะเวลารอส่งแรงงานไปทำงาน (นับจากวันเซ็นสัญญาจ้างงาน)

ประเทศระยะเวลาการจัดส่ง
คีร์กิซสถาน44.0
ปากีสถาน48.2
บังกลาเทศ53.2
เวียดนาม55.7
มองโกเลีย56.7
เนปาล58.1
จีน59.2
ติมอร์59.9
ศรีลังกา61.7
อุซเบกีสถาน65.6
ฟิลิปปินส์67.7
เมียนมาร์68.9
ไทย69.1
กัมพูชา69.8
อินโดนีเซีย73.8
ข้อมูลสิ้นสุด 13 ก.ค. 2558 (หน่วยนับ : วัน)
ที่มา : HRD Korea ประจำประเทศไทย

ข้อจำกัดของ EPS

ถึงแม้ว่า โดยรวมแล้ว ระบบ EPS ถือว่า เป็นระบบจากนำเข้าแรงงานที่ดี ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากนายหน้า และให้ความคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติขั้นพื้นฐาน แต่การศึกษาวรรณกรรม บทความต่าง ๆ และการสัมภาษณ์แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ พบว่า ระบบ EPS ยังมีข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  1. การจำกัดอายุผู้เข้าร่วมโครงการ โดยกำหนดไว้ที่อายุ 40 ปี ณ วันเดินทาง ทำให้แรงงานที่ประสงค์จะไปทำงานอย่างถูกต้อง แต่มีอายุเกิน 40 ปี ไม่สามารถไปได้ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ช่วยทูตด้านแรงงานของไทย และฟิลิปปินส์เคยร่วมกันผลักดันฝ่ายเกาหลีใต้ให้ขยายเพดานอายุดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
  2. การที่นายจ้างมีอำนาจต่อรองเหนือแรงงานในการกำหนดเงื่อนไขการทำสัญญาจ้าง แรงงานมีข้อจำกัดในการเจรจาค่าจ้าง โดยมีสิทธิเพียงตอบรับ หรือปฏิเสธ (take it or leave it) ข้อเสนอจ้างงาน ซึ่งหากมีการปฏิเสธ 2 ครั้งก็อาจถูกตัดชื่อออกจากทะเบียน (roster) นอกจากนั้น หากแรงงานที่ทำงานไปแล้วไม่พอใจกับงาน หรือนายจ้าง ก็จะสามารถย้ายงานได้ต่อเมื่อนายจ้างเซ็นอนุมัติการย้ายงานได้เท่านั้น
  3. มีหลายกรณีที่แรงงานที่ไปทำงานในระบบ EPS แจ้งว่า งานที่ไปทำไม่ตรงกับลักษณะงานตามที่ระบุในสัญญาจ้าง

ปัจจัยสนับสนุนการเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย

ด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่แรงงานไทยประสบในข้างต้น โดยเฉพาะปัญหาการสอบภาษาเกาหลีไม่ผ่าน ทำให้แรงงานจำนวนมากที่ประสงค์จะไปทำงานในเกาหลีใต้ แต่ไม่สามารถไปในระบบ EPS ได้ จึงตัดสินใจเสี่ยงโชคหาทางเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ โดยผิดกฎหมาย แต่นอกเหนือจากปัญหาที่ได้ระบุมาแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีส่วนสนับสนุนให้แรงงานไทยตัดสินใจเสี่ยงโชคเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้แบบนอกระบบ ดังนี้

  1. ระบบ EPS เป็นความร่วมมือลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล และเป็นระบบที่มีหลายขั้นตอน ทั้งในด้านเอกสาร และในการ “เดินเรื่อง” อาทิ การยื่นเอกสารสำคัญ การไปตรวจสุขภาพ การขอหนังสือรับรองความประพฤติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการเข้ารับการอบรม ซึ่งแรงงานไทยหลายคนรู้สึกว่า เป็นภาระที่ยุ่งยากและไม่อยากจะทำ จึงเลือกทางออกที่ง่ายกว่า คือ การเดินทางไปแบบนักท่องเที่ยว หรือผ่านบริษัททัวร์/บริษัทนายหน้า ซึ่งมีคนดำเนินการต่าง ๆ ให้หมดทุกอย่าง โดยเก็บค่าบริการ หรือค่านายหน้าซึ่งมีราคาสูงมาก ระหว่าง 50,000 – 300,000 บาท
  2. เพื่อนและญาติมิตร แรงงานส่วนใหญ่มีเครือข่ายเพื่อน ญาติมิตร หรือคนรู้จักที่ทำงานอยู่ในเกาหลีใต้อยู่แล้ว หรือเคยทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการชักจูงให้แรงงานตามไปทำงานในเกาหลีใต้ด้วยกัน โดยให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับลู่ทางในการหางานทำ เรื่องความเป็นอยู่ ตลอดจนวิธีการหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม และที่สำคัญ คือ เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการได้งานทำและมีรายได้ที่สูงเป็นแนวทางให้แรงงานอื่น ๆ ดำเนินรอยตาม
  3. อุปสงค์สำหรับแรงงานต่างชาติในเกาหลีใต้ การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางตามชานเมือง และความต้องการของนายจ้างเกาหลีใต้ที่จะจ้างแรงงานต่างชาติในราคาถูก กอปรกับค่าแรงที่สูงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่ดึงดูดให้แรงงานไทยหาทางไปทำงานในเกาหลีใต้โดยทุกวิถีทาง โดยปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 5,580 วอน/ชั่วโมง หากทำงานวันละ 8 ชั่วโมงก็เท่ากับ 44,640 วอนหรือประมาณ 1,428 บาทต่อวัน ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าล่วงเวลาในอัตราเพิ่มอีกร้อยละ 50 ของค่าจ้างต่อชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่อยู่ที่เพียง 300 บาทต่อวัน

อนึ่ง การจ้างแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายถือว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้ และบริษัท หรือโรงงานที่พบว่า มีการแจ้งแรงงานผิดกฎหมาย หรือที่เรียกกันว่า “แรงงานผี” (ผีน้อย) มีโทษปรับเป็นเงิน 20 ล้านวอน หรือประมาณ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ และหากเป็นโรงงานที่มีแรงงาน EPS ทำงานอยู่ด้วย ก็จะถูกตัดสิทธิในการจ้างแรงงาน EPS ไปช่วงเวลาหนึ่ง แต่หากพบว่า การจ้างแรงงานผี (ผีน้อย) มากกว่า 10 คนขึ้นไป จะถือว่า เป็นความผิดทางอาญาซึ่งมีโทษสูงกว่า แต่ในความเป็นจริง ทางการเกาหลีใต้ไม่ได้ตรวจตรา หรือปราบปรามนายจ้างที่ว่า จ้างแรงงานผี (ผีน้อย) อย่างเข้มงวด โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้เคยยอมรับกับผู้ศึกษาอย่างไม่เป็นทางการว่า ฝ่ายเกาหลีใต้ไม่มีบุคลากรเพียงพอที่จะไปตรวจสอบทุกโรงงาน และฟาร์มตามเมืองต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน นอกจากนั้น เกาหลีใต้ยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมากเพื่อรักษาระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐบาลเกาหลีคงไม่ได้มุ่งหวังที่จะขจัดแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายออกไปทั้งหมดโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ต้องการลดจำนวนลงให้เหลือในระดับที่เหมาะสมและรับได้

ความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ

อีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนการเดินทางเข้าไปลักลอบทำงานในเกาหลีใต้ คือ ความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ เนื่องจาก ไทยกับเกาหลีใต้มีความตกลงยกเว้นวีซ่าการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งสามารถพำนักอยู่ในประเทศของแต่ละฝ่ายได้ถึง 90 วัน ซึ่งในปี 2557 กว่าร้อยละ 60 ของคนไทยที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้โดยไม่ใช้วีซ่าทั้งหมด 67,482 คน หรือคิดเป็นจำนวน 40,928 คน กลายเป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากแรงงานคนใดไม่ผ่านการคัดกรองของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกจะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศและถูกกักตัวไว้ที่สนามบินเพื่อรอส่งกลับประเทศ โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนตั๋วเครื่องบินประมาณ 100,000 วอน หรือประมาณ 3,000 บาท

นอกจากนี้ สืบเนื่องจากการที่ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ทางการเกาหลีใต้จึงได้ออกนโยบายเพิ่มแรงจูงใจให้แรงงานไทยที่ผิดกฎหมายสมัครใจเดินทางกลับประเทศไทย โดยนโยบายจูงใจดังกล่าว ได้แก่

  1. ไม่ว่าจะพำนักอยู่ในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายนานเท่าใดก็จะได้รับการยกเว้นค่าปรับ จะไม่ถูกกักขัง และสามารถเดินทางกลับประเทศไทยอย่างอิสระ
  2. ผู้ที่สมัครใจเดินทางออกนอกประเทศจะได้รับการลดหย่อนมาตรการถูกห้ามเข้าประเทศเกาหลีใต้อีก (blacklist) เหลือ 2 ปี เทียบกับกรณีที่ถูกจับและส่งตัวกลับประเทศจะถูกห้ามเข้าประเทศเป็นเวลา10 ปี

การแพร่หลายของบริษัทนายหน้าหรือตัวแทนหางานในรูปแบบต่าง ๆ

การแพร่หลายของบริษัทนายหน้าหรือตัวแทนหางานในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ บริษัทหางาน บริษัททัวร์ โดยมีนายหน้าอยู่ในทั้งไทยและเกาหลีใต้ ประสานงานกันและรับช่วงต่อกัน รวมทั้งมีคนไทยที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้จำนวนมากที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าเอง โดยอาศัยเครือข่ายกับโรงงานและธุรกิจของชาวเกาหลี บางบริษัทมีการจัดอบรมให้กับแรงงานที่จะเดินทางไปเกาหลีใต้เกี่ยวกับการปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยว รวมทั้งด้านบุคลิก อาทิ แนะนำเรื่องการแต่งตัว การตอบคำถาม การประพฤติตัว เพื่อให้สามารถผ่านการสอบถามของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้ ปัจจุบันการโฆษณาชักจูงแรงงานของนายหน้า และบริษัททัวร์ดังกล่าว กระทำผ่านช่องทาง social media อาทิ Line และ Facebook ซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศไทย และในหมู่แรงงานไทยอย่างแพร่หลาย จากการค้นหาในอินเทอร์เน็ตสามารถพบเว็บไซต์โฆษณาการหางานในเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก โดยมักเสนอค่าแรงที่สูง และความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายเป็นที่ดึงดูดความสนใจของแรงงานไทย

ขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง ปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ โดยนายประพันธ์ ดิษยทัต สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *