ปัญหาความไม่เป็นธรรมการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ

ปัญหาในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยที่ไม่เป็นธรรม

การจ่ายเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับนี้ ส่วนใหญ่จะจ่ายเป็นค่าบริหารจัดการ และมีผลกำไรเป็นอย่างมาก ซึ่งพบว่า การจัดทำเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับนี้มีความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บ เพราะอัตราเบี้ยประกันภัยที่เรียกเก็บนั้นยังมีองค์ประกอบของค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าอากรค่าบำเหน็จ และค่าดำเนินการอื่น ๆ ของบริษัทประกันภัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้ไม่สมควรจะมีในการประกันภัยในระบบภาคบังคับนี้ กรณีดังกล่าวนี้ยังทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งระบบนี้เป็นภาคบังคับ รัฐควรดำเนินการเอง ด้วยการบังคับให้รถยนต์ต้องมีประกันภาคบังคับตามกฎหมายนี้ ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ตัวแทน หรือนายหน้าในการแนะนำให้ผู้คนมาเอาประกันภัยภาคบังคับอีก และบริษัทประกันวินาศภัย และผู้เอาประกันภัยก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าบำเหน็จสำหรับตัวแทน หรือนายหน้าอีกต่อไป ดังนั้น รัฐจะต้องเข้าไปควบคุมดูแล และปรับเปลี่ยนอัตราให้เหมาะสม โดยต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน ซึ่งไม่พบว่ากฎหมายบัญญัติในเรื่องนี้ไว้แต่อย่างใด

ปัญหาจากการไม่เป็นไปตามหลักการของการไม่มุ่งการค้าหรือหากำไร

ปัญหาจากการไม่เป็นไปตามหลักการของการไม่มุ่งการค้า หรือหากำไร พบว่า ไม่ได้บัญญัติหลักการของ No Loss – No Profit (ไม่มีกำไร ไม่มีขาดทุน) ไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด โดยโครงสร้างอัตราเบี้ยประกันรถยนต์ภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 นี้ ควรจะเป็นเบี้ยประกันร้อยละ 100 ทั้งนี้ ตามหลักการหลัก No Less – No Profit พบว่า การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับของประเทศไทย แม้จะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ใช้บังคับอยู่แต่ในเนื้อหาสาระก็ยังไม่มีหลักการของหลัก No Less – No Profit (ไม่มีกำไร ไม่มีขาดทุน) บัญญัติไว้ในกฎหมายในเรื่องของการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับไว้แต่อย่างใด

ปัญหากับองค์กรกำกับดูแลในเรื่อง การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ

ปัญหากับองค์กรกำกับดูแลในเรื่อง การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ พบว่า กฎหมายได้กำหนดองค์กรเป็นคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยเรียกว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้มีอำนาจ และหน้าที่ตามมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 คือ ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 7 และมาตรา 20 และประกาศตามมาตรา 10 ซึ่งมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้บริษัทต้องรับประกันความเสียหายตามมาตรา 7 หรือมาตรา 9 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ประกาศดังกล่าวจะกำหนดให้ข้อความในกรมธรรม์ประกันภัย หรืออัตราเบี้ยประกันภัยแตกต่างกันตามชนิด ประเภท หรือขนาดของรถ หรือลักษณะของผู้เอาประกันภัยก็ได้

แต่ในความเป็นจริง นายทะเบียนได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 29 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ทำคำสั่งนายทะเบียนเกี่ยวกับเรื่องของการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาโดยตลอด เพราะมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 บังคับให้เจ้าของรถทุกคันที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย โดยการประกันภัยกับบริษัทและด้วยนิยามศัพท์ของบริษัทประกันภัย ซึ่งหมายความว่า บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการประเภทประกันภัยรถ (ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535) จึงส่งผลให้บริษัทประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ต้องอยู่ภายใต้นิยามความหมาย และภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ดังนั้น แบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยตลอดจนอัตราเบี้ยประกันภัยของรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 จึงต้องได้รับความเห็นจากนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ทำให้การประกาศกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยรถภาคบังคับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถูกกำหนดโดยนายทะเบียน ในรูปของคำสั่งนายทะเบียนในการกำหนด และให้ใช้อัตราเบี้ยประกันภัย โดยนายทะเบียนได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มาอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาขององค์กรและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการคิดอัตราเบี้ยประกันภัยเพื่อกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้

ปัญหาขององค์กรและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการคิดอัตราเบี้ยประกันภัยเพื่อกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้ พบว่า ไม่มีองค์กร หรือบุคคลใด ๆ ระบุไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ทำให้บริษัทประกันภัยดำเนินการด้านการตลาด และสร้างเครือข่ายนายหน้า ทำให้มีนายหน้า และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ รวมถึงการคิดกำไรค่อนข้างสูง ซึ่งจะคิดรวมไปกับอัตราเบี้ยประกันภัยที่ประชาชนผู้ใช้รถจ่ายประกันภัยมาในตอนทำประกันภัย ทำให้การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อเป็นสวัสดิสงเคราะห์แก่ประชาชน

ซึ่งอุเทน สุขทั่วญาติ และรศ.พินิจ ทิพย์มณี ได้เสนอแนะว่า ให้จัดทำกฎหมายใหม่ โดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ภาคบังคับ ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ กำหนดให้กรมการขนส่งทางบกทำหน้าที่รับเบี้ยประกันภัยพร้อมกับการรับค่าจดทะเบียน หรือค่าต่อทะเบียนรถ และให้กรมบัญชีกลางซึ่งมีประสบการณ์ในการตรวจสอบ และการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล บริหารจัดการการจ่ายค่าเสียหาย และมีองค์กรตามกฎหมายต่างหากในการจัดทำอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับ และจัดทำกฎหมายโดยบัญญัติเรื่องอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับไว้เป็นอัตรา เบี้ยประกันภัยจะกำหนดไว้ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ โดยจะคำนวณเท่าที่คุ้มค่าใช้จ่ายจากการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่นนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้รับประกันภัยแสวงหาประโยชน์ และกำไรอย่างเป็นล่ำเป็นสันจากการรับประกันภัย โดยยึดถือหลัก No – Less No – Profit ไม่มีกำไร และไม่ขาดทุน และหากองค์กรนี้จัดทำเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับเสร็จแล้ว ต้องยื่นขออนุมัติจากหน่วยงาน หรือคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอีกชั้นหนึ่ง และต้องประกาศให้สาธารณชนทราบในราชกิจจานุเบกษา หรือหนังสือพิมพ์รายวันถึงจะประกาศใช้อัตราเบี้ยประกันภัยรถภาคบังคับได้ และเห็นควรยกเลิกกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยรถ พ.ศ. 2535 โดยยกเลิกระบบประกันภัยรถภาคบังคับของบริษัทประกันวินาศภัย และยกเลิกมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ที่ให้อำนาจนายทะเบียนไว้ และจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับ พ.ศ. … แทน[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ โดยอุเทน สุขทั่วญาติ และรองศาสาตราจารย์พินิจ ทิพย์มณี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *