ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสของบุคคลที่มีเพศเดียวกัน หรือบุคคลในกลุ่ม LGBT

หญิง – ชายนั้นเป็นเพียงการแบ่งแยกทางสรีระ สรีระที่ตอบสนองต่อหน้าที่สืบทอดเผ่าพันธุ์ ลึกลงไปกว่านั้นเป็นเรื่องของจิตใจ คนเรารักกันไม่ได้หวังแค่เพียงสืบพันธุ์อย่างเดียว หากแต่มีความรักที่อยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้องเลยก็ได้ ความรักมีหลากหลายรูปแบบ ความรักในเพศเดียวกันก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความรัก เหตุเพราะสิทธิในการสมรสเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล และการสมรสนี้ก็ยังเป็นทางเลือก หรือความตั้งใจเฉพาะบุคคลของปัจเจกชนที่เป็นคู่รักกันเพศเดียวกัน ที่ต้องการจะผูกมัด และผูกพันรวมถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับคนรักของตนอย่างครอบครัวเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ ด้วยเหตุผล และความเชื่อที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักเพศเดียวกัน กับความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักต่างเพศไม่แตกต่างกัน แต่ความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันมักจะถูกกดดันจากสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยมากกว่า จนกระทั่งยากที่จะสร้างความผูกพันอย่างลึกซึ้งต่อกันให้ยาวนานได้ จนกระทั่ง กลายเป็นความสัมพันธ์ในเรื่องของกามารมณ์เพียงด้านเดียว และนี่เองก็คือ ตัวปัญหาที่คู่รักเพศเดียวกันแสวงหาหนทางในการแก้ไข ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า ถ้าหากสังคมยอมรับ และแบ่งปันพื้นที่ให้ได้ยืนอยู่ได้โดยเปิดเผยไม่หลบซ่อนความสัมพันธ์นั้น และจะไม่ถูกผลักดันส่งให้ไปยืนอยู่ชิดชายขอบ (จนตกขอบ) ของสังคม ปัญหาของพวกเขาก็จะเบาบางลงไปได้

ในปัจจุบันนี้ มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในประเด็นปัญหาทางข้อกฎหมาย เรื่องการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันว่า สมควรหรือไม่ที่จะให้สิทธิบุคคลเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ย่างถูกต้องตามกฎหมายเช่นคู่ชายหญิงทั่วไป และจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อสังคมส่วนรวม โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ถูกปลูกฝังแนวความคิดว่า ด้วยเรื่องการครองเรือนที่ต้อง ประกอบไปด้วย บุคคลทั้งสองเพศ คือ ชายและหญิงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษา และพิจารณาโดยใช้วิจารณญาณ และการให้เหตุผลอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้บรรลุถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานี้

สิทธิเสรีภาพของมนุษย์เราเองมีหลายด้านหลายประการ ดังนั้น ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงสิทธิมนุษยชนของบุคคลอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ เพศที่สาม ซึ่งไม่ได้หมายความถึงเพียงแค่สตรีข้ามเพศเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึง เพศหญิงที่รักหญิงด้วยกัน หรือที่เรียกว่า ทอมดี้ รวมถึงเกย์ด้วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ถ้าหากมีบุคลิก หรือลักษณะทางด้านร่างกาย หรือจิตใจที่ตรงตามเพศที่เขาเกิดมาคงจะโชคดีมากกว่า ไม่ต้องถูกสังคมรังเกียจ ไม่ถูกล้อเลียน และที่สำคัญคือ สามารถที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงได้มากกว่านี้ เพราะในบางคนนั้นยังไม่กล้าเปิดเผยตัวตน ทั้งนี้ก็เพราะกลัวคนหรือสังคมรอบข้างไม่ยอมรับ ไม่คบค้าสมาคม ถูกมองเป็นคนที่ผิดปรกติ เนื่องจาก มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนทางเพศ แต่จะให้ทำอย่างไร ในเมื่อเราทุกคนไม่สามารถที่จะเลือกเกิดได้ สำหรับกลุ่มคนที่ยังมีแนวคิดว่า เขาเหล่านี้เป็นคนไม่ปรกติ ซึ่งอภิวัฒน์ สาระภักดี[1] มีความเห็นว่า ควรที่จะมีการปรับทัศนคติใหม่ และต้องเปิดใจให้กว้างมากขึ้น เพราะเขาเหล่านั้นไม่ใช่ฆาตกร ไม่ใช่ผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย หรือผิดระเบียบของสังคม เพียงแต่เขายังเป็นจำเลยของคนที่มีแนวคิดที่ล้าสลัย และจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนี้โลกของเรานั้นได้ก้าวหน้าไปมากแล้ว ซึ่งอยู่ในยุคศตวรรษที่ 21 คนที่ผิดปรกติน่าจะเป็นคนที่ยังไม่สามารถยอมรับในสิ่งที่เขาเหล่านั้นเป็นอยู่มากกว่า และเป็นที่ยืนยันแล้วว่า เขาเหล่านี้ไม่ได้ผิดปรกติ แต่อย่างใด ใช่อยู่ว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีแค่สองเพศ คือ ชายและหญิงเท่านั้น แต่ธรรมชาติไม่ได้กำหนดสภาพจิตใจของเขาเหล่านี้ให้ตรงตามเพศที่เกิดมาได้ ถ้าหากมนุษย์สองคนแรกของโลกที่เกิดมานั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับเขาเหล่านี้ ชีวิตของเพศที่สามก็คงจะมีสิทธิ เสรีภาพ ในบางเรื่องได้เท่าเทียมกับคนที่เกิดมาแล้วมีจิตใจตรงกับเพศของตน ถ้าเรามองอย่างผิวเผินนั้น อาจจะไม่เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในการมีสิทธิมนุษยชนของเพศที่สามว่าไม่เท่าเทียมกับหญิงหรือชายอย่างไร เพราะภาพภายนอกที่เราเห็นนั้นเพศที่สามก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข แต่เมื่อมองลึกลงไปแล้วจะเห็นได้ว่า ยังมีอีกหลายด้านมากที่เขาเหล่านี้ยังไม่ได้รับสิทธิจากสังคมไทย ที่ยกยอว่า เป็นสังคมที่มีความทันสมัยไม่น้อยไปกว่าชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของความรัก ถ้าหากให้เราพูดถึงความรัก หลาย ๆ คนคงนิยามความรักแตกต่างกันออกไป เป็นสิ่งสวยสดงดงามเพราะความรักนั้นย่อมเป็นพื้นฐานของทุกสิ่งในตัวมนุษย์ หรือที่เรียกว่า ความรักมักสร้างโลกให้น่าอยู่ แม้แต่ในคำสอนของทุก ๆ ศาสนา ยังสอนให้มนุษย์นั้นรู้จักมอบความรักให้แก่กัน โดยไม่ต้องมีการเลือกชาติ เลือกศาสนา และไม่จำเป็นต้องเลือกเพศด้วยเช่นกัน เพศเดียวกันรักกันย่อมไม่ใช่เรื่องผิดอะไร และก็ไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามมิให้เขาเหล่านั้นใช้ชีวิตร่วมกัน ถึงแม้ว่า กฎหมายจะไม่ได้ห้ามก็ตาม แต่กฎหมายก็ยังปิดกั้นการแสดงความรักที่ถูกต้องตามแบบของกฎหมาย ไม่เหมือนที่เปิดโอกาสให้แก่ชายและหญิงที่สมรสกันสามารถทำได้ นั่นคือ เขาเหล่านี้ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมายไทย ถ้าจะกล่าวถึงความหมายของรักอีกสักครั้ง คงหนีไม่พ้นกับคำว่า “ความรัก” คือ การให้เราทุกคนเมื่อรักใครสักคนหนึ่ง ก็คงต้องการให้คนที่เรารักกันนั้น ได้รับในสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดเป็นประโยชน์สำหรับในปัจจุบันและอนาคต แม้ในวันข้างหน้าเราจะไม่ได้อยู่บนโลกนี้ แต่สิ่งสุดท้ายที่เราสามารถทำให้คนที่เรารักได้ก็คือ การมอบทรัพย์สมบัติ หรือทรัพย์ที่เป็นมรดกเพื่อให้คนที่เรารักนั้น ได้ประโยชน์จากส่วนนี้และดูแลต่อไป ซึ่งอภิวัฒน์ สาระภักดีเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เพศเดียวกันที่เขารักกันก็มีความคิดที่ไม่ต่างจากนี้เท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม แม้การจดทะเบียนสมรสอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่มากเมื่อเทียบกับความรู้สึกดี ๆ ที่เขาเหล่านี้มีให้แก่กัน เพราะยังมีอีกหลายหนทางที่เขาเหล่านี้สามารถมอบสิ่งมีค่าหรือทรัพย์สินให้แก่กันได้ เช่น การไปจดทะเบียนสมรสที่ประเทศอื่นซึ่งให้การยอมรับ แต่ข้าพเจ้าคิดว่า เมื่อเขาเหล่านี้เป็นคนไทยบางคนอาจจะเกิดในไทย หรือไม่ได้เกิดในไทยก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่จะมอบความรักให้แก่ใครสักคนที่เป็นคู่ชีวิต เพียงแต่เป็นเพศเดียวกัน โดยการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องไปทำที่ประเทศอื่น ซึ่งไม่ใช่แผ่นดินเกิดของตนเอง แผ่นดินนั้นไม่เคยได้รับประโยชน์ในความเป็นคนชาติจากเขาเหล่านี้ แต่สามารถมอบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้เขาเหล่านี้ได้โดยไม่มีข้อแม้ และเป็นที่น่าเห็นใจอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับชายและหญิงที่สมรสกัน สามารถเลือกสถานที่ในการจดทะเบียนได้อย่างสนุกสนาน หรือแม้แต่ชาวต่างชาติเองก็ดี ที่เป็นชายและหญิงสมรสกันก็สามารถที่จะเข้ามาสมรสในประเทศไทย พร้อมด้วยพิธีสมรสที่สวยงามซึ่งรัฐไทยเป็นคนจัดทำขึ้นสำหรับการร่วมยินดีในการแต่งงานของคนต่างชาติเหล่านี้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า กฎหมายไทยนั้นไม่ดี เพียงแต่กฎหมายไทยนั้นยังตามไม่ทันในความเปลี่ยนแปลงของโลกในบางเรื่องก็เท่านั้น เนื่องจาก ไม่สามารถที่จะให้ประชาชนทุกคนที่เป็นคนไทย สามารถใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาในชีวิตที่เกิดขึ้นได้ หรือจะเรียกว่า กฎหมายนั้นยังเข้าไม่ถึงประชาชนก็ว่าได้

แนวความคิดที่สนับสนุนให้มีการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวคือ การให้ความเท่าเทียมกันของคนทุกคนในสังคม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ประชาชนมีอิสระที่จะเลือกการดำเนินชีวิตของตน และไม่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของคนจากสาเหตุเรื่องเพศ ภายใต้แนวความคิดเรื่องการสมรสที่ว่า เป็นความผูกพันระหว่างคนสองคนไม่ว่าจะเป็นคนต่างเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน และเรื่องวัตถุประสงค์ของการสมรสที่ว่า การสมรสเป็นการสร้างครอบครัวที่เริ่มต้นจากความรัก และความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันของคนสองคน ถึงแม้ ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะไม่สามารถให้กำเนิดบุตรตามธรรมชาติได้ ก็ไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องที่จะไม่อนุญาตให้คนรักเพศเดียวกันทำการสมรสเพียงด้วยเหตุผลการไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้

สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีคนรักเพศเดียวกันอยู่ในจำนวนนี้ไม่น้อย ทั้งที่เปิดเผยเองและไม่เปิดเผย สภาพสังคมไทยเป็นสังคมเปิดที่ยอมรับกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบันมีการยอมรับคนรักเพศเดียวกันมากขึ้นดังที่สากลยอมรับ อีกทั้งสังคมมีแนวปฏิบัติ และทัศนคติที่เป็นไปในทางบวกกับคนรักเพศเดียวกัน โดยมีแนวความคิดว่า ควรให้มีการยอมรับในสถานะทางกฎหมาย ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคในการดำรงชีวิต ตามหลักในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ และขจัดการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานความแตกต่างทางเพศ

การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้ในมาตรา 1448 โดยบัญญัติวา “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิง…” อันเป็นการให้สิทธิเฉพาะชายกับหญิงเท่านั้นที่สามารถทำการสมรสได้ ในขณะที่คนรักเพศเดียวกันไม่สามารถสมรสกันได้ แม้จะเป็นบัญญัติที่ไม่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแต่ก็ถือได้ว่า เป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชน และสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับคนรักเพศเดียวกัน

เนื่องจาก ถือได้ว่า เป็นกฎหมายที่ล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมที่มีคนรักเพศเดียวกันอยู่ในสังคม โดยมีความประสงค์ที่จะทำการสมรสด้วย อีกทั้งคนในสังคมก็มีทัศนคติไปในทางที่เห็นว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของคนเหล่านั้น ซึ่งสังคมไม่ควรไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว แต่กลับควรที่จะส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคกันอย่างทั่วถึง ตามหลักที่ว่า บัญญัติกฎหมายจะต้องให้สอดคล้องกับสังคม เพื่อให้กฎหมายสามารถป้องกัน และแก้ไขปัญหาของสังคมได้ ดังนั้น จึงควรมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนของการกำหนดเงื่อนไขขึ้นมา เพื่อรองรับสิทธิของบุคคลที่รักเพศเดียวกันก็ได้[2]


[1] อภิวัฒน์ สาระภักดี. ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสของบุคคลที่มีเพศเดียวกัน หรือบุคคลในกลุ่ม LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual and Trans) สิทธิในการรับมรดก มหาวิทยาลัยรามคำแหง

[2] ขอขอบคุณที่มาบทความ อภิวัฒน์ สาระภักดี. ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสของบุคคลที่มีเพศเดียวกัน หรือบุคคลในกลุ่ม LGBT (Gesbian, Gay, Bisexual and Trans) สิทธิในการรับมรดก มหาวิทยาลัยรามคำแหง จาก http://www.lawgrad.ru.ac.th/AbstractsFile/6124011841/161404898111038c5401445591bc7ff9655a8ade21_abstract.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *