ประธานาธิบดีเกาหลีที่ครองอำนาจนานที่สุด “นายพล ปัก จุง ฮี”

“ประเทศเกาหลีใต้” หรือ “สาธารณรัฐเกาหลี” แต่เดิมมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งประเทศญี่ปุ่นเข้าปกครองในปี ค.ศ. 1910-1945 เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริการจึงได้เข้าปกครองประเทศเกาหลีใต้ตั้งแต่ ค.ศ. 1945-1948 และสหรัฐอเมริกาได้มอบเอกราชให้แก่ประเทศเกาหลีใต้ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1948 และถือเป็นวันชาติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้ ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เรียกว่า “สาธารณรัฐเกาหลี” โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นประมุข และเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีนายรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดีในการบริหารประเทศ ประเทศเกาหลีใต้มีระบบสภาเดียว คือ “สภานิติบัญญัติ” แห่งชาติ และมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมานับแต่นั้นมา หลังจากได้เอกราชประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่มีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน และผ่านความรุนแรงมาไม่น้อย รวมทั้งผ่านความพยายามในการจัดการลงโทษผู้ที่กระทำการรัฐประหาร และปราบปรามการชุมนุมอย่างไม่ค่อยปรากฎในประเทศอื่น และเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนแปลง”

ใน ค.ศ. 1961 ประเทศเกาหลีใต้ ได้เกิดการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 โดยนายพล ปัก จุง ฮี ซึ่งต่อมาได้ลาออกจากกองทัพเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี และในที่สุดนายพล ปัก จุง ฮี ก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1963 และได้รับเลือกอีกในวาระที่ 2 ค.ศ. 1967

ประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี มีความต้องการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในวาระที่ 3 จึงพยายามทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีสามารถต่ออายุได้โดยไม่จำกัด จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงบนท้องถนน และตามเองต่าง ๆ มากมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญของประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี ก็สำเร็จลง โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกเรียกว่า “รัฐธรรมนูญยูชิน” ซึ่งถูกประกาศใช้ปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1972 โดยมีสาระสำคัญ คือ  ให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้คราวละ 7 ปี และสามารถต่ออายุได้ไม่จำกัด หลังรัฐธรรมนูญฉบับยูชินถูกประกาศใช้ ได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้น โดยประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี ก็ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1972 เป็นสมัยที่ 3

ประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี เข้าดำรงตำแหน่งและสถาปนาสาธารณรัฐที่ 4 ที่เรียกว่า “ระบอบยูซิน” หรือการปกครองที่อำนาจเบ็ดเสร็จรวมศูนย์อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลขึ้นมา ประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจากประชาชนทั่วไป เนื่องจาก ความสำเร็จของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่รัฐบาลริเริ่มขึ้น และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ถึงต้นทศวรรษที่ 1970

ระบอบยูซินของประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี ต้องเผชิญกับกระแสการต่อต้านที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะภายหลักการตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในปี 1967 เพื่อให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้มากกว่าสองวาระ สัญญาณของการต่อต้านเริ่มปรากฎชัดเจนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1971 (การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกหลังการแก้รัฐธรรมนูญ) ที่ประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่าคู่แข่งคนสำคัญ คือ นาย คิม แด-จุง เพียงเล็กน้อย ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้กุมปัจจัยต่าง ๆ ทั้งอำนาจรัฐ และการเงินไว้เกือบทั้งหมด ความวิตกกังวลต่อการสูญเสียอำนาจทำให้ประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี ตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งในปี 1972 โดยสถาปนาระบอบเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ เพื่อให้รัฐบาลสามารถยึดกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จผ่านการควบคุมในเรื่องสิทธิมนุษยชน และสิทธิทางการเมืองอย่างเคร่งครัด และทำให้ ปัก จุง ฮี สามารถอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปได้ชั่วชีวิต

การกระชับอำนาจดังกล่าวกลับทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลย่ำแย่ลง โดยเฉพาะเมื่อเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จากการลดลงอย่างรวดเร็วของตัวเลขความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง การส่งออกชะลอตัว และหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น หลักฐานสำคัญที่สะท้อนความตกต่ำย่ำแย่ของความนิยมในรัฐบาลของประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี คือ ความพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล (พรรครีพับลิกัน) ในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี 1978

ความยุ่งยากในการบริหารประเทศของรัฐบาล ปัก จุง ฮี มาถึงจุดที่เลวร้ายที่สุดเมื่อแรงงานทอผ้าผู้หญิงของบริษัท วาย เอช เทรดดิ้ง ได้นัดหยุดงาน และรวมตัวกันที่หน้าสำนักงานใหญ่ของพรรคฝ่ายค้านเพื่อประท้วงการเลิกจ้างงานแรงงานครั้งใหญ่ รัฐบาล ปัก จุง ฮี ได้สั่งการให้ตำรวจปราบจลาจลเข้าสลายการชุมนุม มีผลให้แรงงานหญิงหนึ่งคนเสียชีวิต และมีคนที่ถูกทำร้ายร่างกายอีกนับสิบคน การใช้กำลังเข้าปราบปรามแรงงานผู้หญิงที่ทำการประท้วงอย่างสันติได้แสดงให้สาธารณชนเริ่มตระหนักถึงความเหี้ยมโหด และไม่ใยดีต่อทุกข์สุขของประชาชนของระบบยูซิน ทันทีที่รัฐบาลใช้อำนาจบีบบังคับให้นายคิม ยองซัม ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นออกจากการเป็นสมาชิกรัฐสภา ประชาชนในบ้านเกิดของนายคิม ยองซัม ได้รวมตัวกันประท้วงการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าวของรัฐบาลในเหตุการณ์ที่ต่อมาถูกเรียกว่า “การต่อสู้ปู-มา” ตามชื่อมเองหลักที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น คือ เมืองปูซานและมาซาน

การประทะกันระหว่างผู้ชุมนุม และกองกำลังฝ่ายความมั่นคงที่ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกไม่มีท่าว่าจะยุติลงโดยง่าย ซ้ำร้ายการชุมนุมประท้วงยังได้ขยายประเด็น และพื้นที่ความขัดแย้งออกไปจนกลายเป็นการต่อต้านระบอบยูซินทั้งระบบ ประชาชนที่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมของระบอบยูซินได้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงมากขึ้น ทำให้ความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจของประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี ถูกท้าทายอย่างหนัก วิกฤติความชอบธรรมดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้นำในรัฐบาลเริ่มแตกคอกัน กระทั่งในวันที่ 26 ตุลาคม 1979 นายคิม แจกิล ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติได้กระทำการสังหารประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี ด้วยอาวุธิปืน ถือเป็นการสิ้นสุดลงของการครองอำนาจอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบสองทศวรรษของประธานาธิบดี ปัก จุงฮี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *