4190212 (2)

โดยทั่วไปแล้ว “รัฐบาล” คือ กลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเองก็จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ ประเทศเกาหลีใต้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ คือ รัฐบาลเกาหลีใต้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ชัดเจน และสามารถก่อให้เกิดความมั่งคั่งแก่ประเทศได้ก็คือ การให้ความสำคัญ และสนับสนุนสินค้าด้านวัฒนธรรม และความบันเทิงที่ถือได้ว่า เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลัก และสร้างความเจริญ และความบันเทิงที่ถือได้ว่า เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลัก และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ดังนั้น จึงเป็นที่สังเกตได้ว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก และกำหนดนโยบายสำหรับการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลีใต้ในแผนพัฒนาประเทศ

รัฐบาลเกาหลีใต้ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลีใต้ หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเกาหลีใต้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนส่งเสริมการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ได้แก่ การก่อตั้งองค์กรเพื่อส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรมประจำชาติ การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง และการผลักดันให้มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาเฉพาะด้านสื่อ การสื่อสาร และความบันเทิง

1. การก่อตั้งองค์กรเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมประจำชาติ

รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ก่อตั้งองค์กรภายในประเทศ และต่างประเทศเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรมประจำชาติ องค์กรเหล่านี้ มีลักษณะเป็นเชิงพาณิชย์ และองค์กรที่เน้นการสร้าง และเผยแพร่ภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมเกาหลี โดยไม่มุ่งหวังผลกำไรทางธุรกิจ แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล อาทิ องค์กรเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านการค้าแห่งประเทศเกาหลีใต้ (Korea Trade – Investment Promotion Agency: KOTRA) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้การดูแลของรัฐที่ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกภายในประเทศ ในปี ค.ศ. 1999 เพื่อส่งเสริมการค้า และการลงทุนให้กับบริษัทต่าง ๆ ของประเทศเกาหลีใต้ หลังจากนั้น ได้เพิ่มการลงทุนด้านการค้าในสาขาใหม่ ได้แก่ ด้านวัฒนธรรม ด้านการบริการ ด้านยา และเวชภัณฑ์และด้านพลังงานใหม่ องค์กรนี้มีหน้าที่ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ และแอนนิเมชันในด้านการเผยแพร่ และจัดกิจกรรมทางการตลาดหลังจากบริษัทเหล่านั้นสร้างสรรค์ผลงานเชิงวัฒนธรรมออกมา นอกจากนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ยังก่อตั้งองค์กรส่งเสริมการสร้างแบรนด์ประเทศแห่งประเทศเกาหลีใต้ (Presidential Council on Nation Branding: PCNB) ขึ้นเพื่อดำเนินการในฐานะตัวแทนในการสร้างสรรค์ภาพลักาณ์ของประเทศ ซึ่งถือได้ว่า เป็นความพยายามอย่างจริงจังครั้งแรกของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่จะเปลี่ยนแปลงแบรนด์ประเทศ (Nation brand) ให้เป็นแบรนด์สากล (Global brand) ในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเกาหลีใต้

 ศูนย์บริการด้านข้อมูล และวัฒนธรรมแห่งประเทศเกาหลีใต้ (Korean Culture and Information Service: KOCIS) เป็นองค์กรที่มีบทบาทหลักในการส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกาหลีใต้อย่างครอบคลุม โดยจะเป็นผู้สร้างสรรค์เนื้อหาด้านวัฒนธรรมที่มีคุณภาพ เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับดนตรีเกาหลี อาหาร การแสดง และการท่องเที่ยวทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ให้แก่สื่อต่างประเทศในการช่วยเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลีใต้ต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้ก่อตั้ง องค์กร Korean Culture Promotion Task Force ที่มุ่งเน้นด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลีใต้ โดยนำเสนอผ่านละครโทรทัศน์ และวิถีชีวิตของดาราเกาหลีที่โด่งดัง และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

สำหรับการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลีใต้ในต่างประเทศ รัฐบาลเกาหลีใต้ก่อตั้งศูนย์ และสาขาขององค์กรเพื่อสนับสนุนการส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลีใต้ที่มีชื่อศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี (The Korea Cultural Centre) โดยก่อตั้งขึ้นกว่า 41 สาขาใน 31 ประเทศทั่วโลก ศูนย์แห่งนี้ คือ ผลจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเกาหลีใต้กับรัฐบาลของแต่ละประเทศ ภายในศูนย์แห่งนี้มีการแสดงเนื้อหาด้านวัฒนธรรมเกาหลีในหลากหลายรูปแบบ อาทิ ในประเทศไทย ศูนย์แห่งนี้จะถูกก่อตั้งขึ้นพร้อมกับจอแสดงสินค้า จอทีวีสำหรับคอนเสิร์ตของศิลปินเกาหลี (K – Pop) ละครเกาหลี ภาพยนตร์ ศูนย์ภาษา และห้องสมุด นอกจากนั้น ยังมีการจัดตั้งศูนย์เยาวชนเกาหลี (Korean Youth Centre) ในประเทศจีนเพื่อจัดการงานเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกาหลีใต้

จุดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแสดงบทบาทของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลีผ่านการก่อตั้งองค์กรด้านวัฒนธรรม คือ รัฐบาลไม่ได้พิจารณาก่อตั้งองค์กรบนพื้นฐานของสถานการณ์ปัจจุบันเท่านั้น หากแต่ยังคำนึงถึงสถานการณ์ของกระแสวัฒนธรรมเกาหลีในอนาคตอีกด้วย ดังนั้น จึงมีการก่อตั้งองค์กรแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ (KOFICE) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนอย่างเป็นแบบแผน และเต็มรูปบบเป็นกิจจะลักษณะ สำหรับการรักษาความนิยม และความก้าวหน้าของกระแสวัฒนธรรมเกาหลีในอนาคต ผ่านความหลากหลายทางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประชาคมนานาชาติ

2. การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

รัฐบาลเกาหลีใต้ริเริ่มจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างพลเมืองกับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศ โดยกิจกรรมจะถูกจัดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ งานนิทรรศการ การแสดงดนตรี การสอนการทำอาหารหรือการสอนภาษาเกาหลี เป็นต้น การจัดกิจกรรมลักษณะดังกล่าว เป็นการดำเนินงานแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างฐานความนิยมในกระแสวัฒนธรรมเกาหลีให้เกิดขึ้นภายในประเทศก่อน จากนั้น จึงขยายการจัดกิจกรรมไปยังต่างประเทศ เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลี โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลีใต้ โดยจัดงานนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ จากภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคบันเทิง

หลังจากที่เพลงเกาหลี (K – Pop) ได้เป็นที่นิยมไปทั่วโลก และมีฐานแฟนคลับไปทั่วโลก รัฐบาลเกาหลีจึงได้จัดให้มีงานกิจกรรมเทศกาลเพลงเค – ป๊อป (K – Pop Festival) ขึ้น โดยในช่วงแรกจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและเพลงป๊อบเกาหลี แต่หลังจากนั้น วัตถุประสงค์จะเน้นการส่งเสริมภาพลักษณ์ และประชาสัมพันธ์แบรนด์ประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย กิจกรรมในลักษณะนี้ เมื่อเริ่มแรกดำเนินการในประเทศเกาหลีใต้เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่น ๆ หากแต่รัฐบาลเกาหลีใต้ จะเน้นการให้ศิลปินบอยแบนด์หรือเกิร์ลกรุ๊ปเป็นตัวแทนในการเผยแพร่วัฒนธรรม และประชาสัมพันธ์งานกิจกรรมเทศกาลเพลงเค – ป๊อบ เนื่องจาก รัฐบาลเล็งเห็นแล้วว่า บุคคลดังกล่าวมีอิทธิพลทางความคิด และพฤติกรรมของแฟนคลับ และเมื่อประสบความสำเร็จจากการจัดกิจกรรมเทศกาลเพลงเค – ป๊อบดังกล่าวภายในประเทศ รัฐบาลเกาหลีจึงได้เริ่มให้มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับด้านความบันเทิงไปยังต่างประเทศ โดยเริ่มต้นครั้งแรกจากการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์และการแข่งขัน เค – ป๊อบ ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร ในงานนี้ ยังมีการเปิดตัวศูนย์ภาพยนตร์เกาหลี เพื่อเป็นศูนย์หลักของภาพยนตร์เกาหลีใต้ในยุโรป และเป็นสถานที่ตั้งของห้องสมุดภาพยนตร์เกาหลีใต้

รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มสร้างความนิยมแก่กลุ่มประเทศมุสลิมเป็นครั้งแรก ณ ประเทศมาเลเซีย โดยได้มีการจัดงานวันเกาหลีใต้ขึ้นในประเทศมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมเกาหลี เช่น สินค้าด้านความบันเทิง เครื่องสำอาง อาหาร และการศึกษา งานนี้จัดขึ้นในโคเรียนทาวน์ในมาเลเซีย หลังจากนั้น จึงเริ่มขยายกิจกรรมออกนอกเขตภูมิภาคเอเชีย ด้วยการขยายเป้าหมายไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และกิจกรรมต่าง ๆ ถูกจัดขึ้น โดย King Sejong Centre เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับกระแสวัฒนธรรมเกาหลี และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นทั้งแฟนคลับของศิลปินเค – ป๊อบและบุคคลทั่วไป ผลจากกิจกรรมเหล่านี้นำไปสู่การเรียนภาษา การแสดงออกทางพฤติกรรมเลียนแบบศิลปิน ความสนใจในอาหารเกาหลี และการท่องเที่ยวประเทศเกาหลีใต้

3.การสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง

ความสำเร็จของการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลีส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยเต็มตัว และเริ่มเปลี่ยนแปลงบทบาทจากผู้ควบคุมสื่อเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานของสื่อ โดยเฉพาะสื่อบันเทิงมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 อีกทั้งยังวางนโยบายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่จะก่อให้เกิดรายได้ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาดังกล่าว นโยบายของรัฐบาลในการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลีผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง คือ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาเสนอเนื้อหาด้านวัฒนธรรมและคุณค่าของประเทศ เช่น เพลงภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ประเภทละคร วาไรตี้ และสารคดี โดยส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนงบประมาณสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและให้ความช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรมสื่อในด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณแก่อุตสาหกรรมบันเทิง เพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมเกาหลีในตลาดโลก คือ ในช่วงปีแรกของการส่งออกกระแสวัฒนธรรมเกาหลี ได้แก่ ปี ค.ศ. 1998 รัฐบาลได้ตัดสินใจจัดงบลงทุนถึงประมาณ 83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,600 ล้านบาท) ให้กับธุรกิจการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งถือได้ว่า เป็นการลงทุนที่มีค่ามหาศาลในยุคนั้น โดยการสนับสนุนนี้ ช่วยให้การผลิตและการส่งออกเนื้อหาวัฒนธรรมเกาหลีผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น แอนนิเมชัน รายการโทรทัศน์ และมิวสิควิดีโอ ทำได้ง่าย และคล่องตัวมากยิ่งขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังกันงบประมาณไว้สำหรับพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอุตสาหกรรมการสื่อสารและบันเทิงอีกด้วย

การให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงจากรัฐบาลเกาหลีเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ดังจะสังเกตได้จากกรณีที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4,390 ล้านบาท) เพื่อก่อสร้าง Digital Media City ให้เป็นศูนย์รวมธุรกิจสื่อและความบันเทิง รวมไปถึงอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ รองรับการผลิตและการพัฒนาอุตสาหกรรมละคร ภาพยนตร์ เกม และแอนนิเมชันแบบระบบดิจิทัล และการท่องเที่ยวตายรอยละครโทรทัศน์ รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงโดยมีการเพิ่มงบประมาณสำหรับภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบางปีมีการอนุมัติวงเงินใช้จ่ายสำหรับอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงในการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลีเพิ่มขึ้นถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (18,860 ล้านบาท) เพื่อสร้างสรรค์ผลผลิตด้านความบันเทิงที่สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรม ภาพลักษณ์และแบรนด์ประเทศ งบประมาณนี้ ยังถูกนำไปใช้ในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมเพื่อป้องกันการต่อต้านกระแสวัฒนธรรมเกาหลีที่อาจเกิดขึ้นในบางประเทศ

4.การผลักดันในมีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาเฉพาะด้านสื่อ การสื่อสาร และความบันเทิง

ประเทศเกาหลีใต้ได้มีการผลักดันให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศออกแบบหลักสูตรเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านสื่อและการสื่อสาร นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันให้มีการให้มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาที่เน้นเฉพาะด้านการผลิตสื่อ การสื่อสาร และการเป็นศิลปินในวงการบันเทิง โดยมีทั้งสถาบันในระดับโรงเรียน หรือวิทยาลัย และระดับมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังพยายามสร้างศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงในวงการอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง เพื่อดึงดูดให้เยาวชนทั้งในและต่างประเทศเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า รัฐบาลเกาหลีได้ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนด้านศิลปะที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับอุตสาหกรรมบันเทิง มีการสอดแทรกเนื้อหาและกิจกรรมด้านศิลปะบันเทิงในทุกระดับของหลักสูตร ระดับประถมศึกษามีการบรรจุรายวิชาศิลปะ การแสดง และดนตรีรวมไปถึงการก่อตั้งชมรมด้านศิลปะ นอกจากนี้ ในระดับมัธยมศึกษา มีการก่อตั้งโรงเรียนหรือสถาบันที่เน้นการเรียนการสอนเฉพาะด้านศิลปะและความบันเทิง อาทิ School of Performing Arts Seoul (SOPA), Hanlim Multi Art School และ Seoul Broadcasting School เป็นต้น ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวส่วนใหญ่จะเน้นการเรียนการสอนด้านดนตรี การแสดง ศิลปะ และการทำงานเบื้องหลังงานสื่อสารมวลชน

นอกจากระดับมัธยมศึกษาจะมีโรงเรียนเฉพาะด้านที่เน้นการเรียนการสอนด้านอุตสาหกรรมบันเทิงแล้ว รัฐบาลเกาหลียังผลักดันให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ออกแบบและพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับสื่อและการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐ หรือเอกชนก็ตาม หลักสูตรมีทั้งการเรียนการสอนด้านสื่อและการสื่อสารสมัยใหม่ รวมไปถึงการเรียนการสอนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น สาขาวิชาการออกแบบรายการบันเทิง และการบริหารธุรกิจบันเทิง เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้สนับสนุนให้มีมหาวิทยาลัยด้านศิลปะและความบันเทิง โดยสถาบันเหล่านี้จะผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความชำนาญในด้านการทำงานในภาคอุตสาหกรรมบันเทิงที่เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลีต่อไป

ขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/pikisuperstar

ขอบคุณที่มาบทความ วารสารราชภัฏสุราษฎร์ธานี ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 เรื่อง ความสำเร็จในการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลี (Korean Wave) : บทบาทของรัฐบาลและอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *