บทบาทของหมอดู ตรวจดวงชะตา กับคนไทย

พฤติกรรมความเชื่อด้านโหราศาสตร์ จะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ประสบกับปัญหาต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ ทำให้มนุษย์ต้องพึ่งพากับอำนาจลี้ลับ ซึ่งอาศัยความเชื่อทางโหราศาสตร์ในการแก้ปัญหา ทำให้มนุษย์ตัดสินใจใช้บริการศาสตร์พยากรณ์ โดยจะพึ่งพาหมอดู หรือคนทรงที่มนุษย์ เชื่อว่า มีความสัมพันธ์กับอำนาจที่เหนือธรรมชาติ เพื่อทำนายทายทักตรวจดวงชะตา ที่สำคัญทำให้มนุษย์เกิดความสบายใจ อีกประการหนึ่งที่มนุษย์ต้องการใช้บริการศาสตร์พยากรณ์ เพราะว่ามนุษย์ต้องการรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตรวมทั้งในสิ่งที่ดำรงอยู่ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตามเปล่า ซึ่งมนุษย์แต่ละคนจะมีความเชื่อ และความศรัทธาที่ความแตกต่างกัน ทำให้เกิดรูปแบบของศาสตร์พยากรณ์มากมาย โดยคนไทยนิยมใช้บริการศาสตร์การพยากรณ์ที่นำเอาหลักการของศาสตร์พยากรณ์ทางประเทศตะวันออก และศาสตร์การพยากรณ์ทางประเทศตะวันตกมาประยุกต์เข้าด้วยกันเพื่อส่งผลต่อคำพยากรณ์มีความแม่นยำมากขึ้น โดยรูปแบบศาสตร์การพยากรณ์ที่ปรากฏในปัจจุบัน ได้แก่ หัตถศาสตร์ (ลายเส้นบนฝ่ามือ) ไพ่ยิบซี (ไพ่ทาโร่) บาทศาสตร์ (พยากรณ์ฝ่าเท้า) นรลักษณ์ศาสตร์ (โหงวเฮ้งพยากรณ์) การพยากรณ์เลข 7 ตัว (พยากรณ์ดวงดาว 7 ดวง และ 9 ดวง) และกราฟชีวิต (การทำนายแบบฐานเลข 12 ตัว) เป็นต้น[i]

ความเชื่อเรื่องดวงชะตาถูกนำมาตอบสารพันปัญหาชีวิต หลายคนที่ไปดูดวงย่อมหวังในใจว่า หมอดูจะให้คำทำนายที่แม่นเหมือนตาเห็นหรือได้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยผ่อนคลายความกังวลในใจลงได้บ้าง ดวงยังผูกพันและเหนี่ยวแน่นอยู่กับคนไทย วัฒนธรรมการดูหมอจึงเป็นที่นิยมมาทุกยุคทุกสมัย

ภิญโญ พงศ์เจริญ ศึกษาเรื่อง “บทบาทของโหรในสังคมไทย” โดยสัมภาษณ์ผู้ที่เป็นโหรและผู้รับบริการ พบว่า หมอดูมีบทบาทหน้าที่หลัก ๆ 4 ด้าน

  • ด้านการเป็นที่ปรึกษาเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นและช่วยวางแผนอนาคต
  • มีบทบาทในด้านครอบครัว คือ ช่วยแนะแนวทางการครองเรือน ช่วยตั้งชื่อบุตรธิดา ตลอดจนแนะนำการจัดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
  • มีบทบาทต่อองค์กร คือ ช่วยกำหนดและวางแผนนโยบายต่าง ๆ ในหน่วยงาน
  • มีบทบาทในด้านสังคม คือ มีส่วนช่วยชี้นำและทางออกต่าง ๆ ให้กับผู้คนในสังคม

นักพยากรณ์โชคชะตาหรือหมอดูจึงเป็นอาชีพที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะตอบสนองความต้องการและความอยากรู้ในเรื่องชะตาชีวิตของบุคคลได้ ปัจจุบันหมอดูได้กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นอาชีพที่มีอิทธิพลอย่างมาก

อาจารย์ศิวนาถ ฤชุพันธุ์นายกสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ บอกกับเราว่า “หมอดูก็ไม่ต่างจากหมอในโรงพยาบาลที่ให้ยาคนไข้เพื่อรักษาโรค เพียงแต่หมอดูให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาชีวิตตามหลักวิชาที่แต่ละคนศึกษา พยายามเอาปัญญา ความรู้ ความสามารถ มาให้คำแนะนำกับผู้ที่มาดูดวงหรือผู้ที่มารับการรักษาอย่างสุจริตใจ”

โดยเนื้อแท้แล้ว สิ่งที่อาจารย์ศิวนาถมองว่า สำคัญกว่าการทำนายว่าแม่นหรือไม่แม่น คือ การช่วยเหลือคน “คนที่มาหาผม ผมก็อยากให้เขามีความสบายใจกลับไป พยายามช่วยเขาในสิ่งที่เป็นไปได้” เหมือนกับหมอดูเป็นผู้ช่วยชี้ให้คนเห็นทางออกของปัญหา

หมอดูจึงเปรียบเสมือนจิตแพทย์คนหนึ่ง เพราะนอกจากทำนายทายทักแล้ว ยังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาชีวิตของผู้ที่มาดูดวง หมอดูจึงต้องทำงานที่เหมือนเป็นศาสตร์กับศิลป์ควบคู่กันไป รู้จักเลือกใช้ถ้อยคำ มีทักษะในการสื่อสารและท่าทางที่เป็นมิตร เพราะคำพูดของหมอดูมีผลต่อความคิดความเชื่อของคนในสังคมมาก

อาจารย์อรุณวิชญ์ วงศ์จตุพัฒน์ นักโหราศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องดวงชะตามากกว่า 23 ปี ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ mahamongkol.com กล่าวว่า “นักโหราศาสตร์หรือหมอดูควรมีจิตวิทยาที่ดี การที่ใครเดือดร้อนแล้วเราให้คำปรึกษาดี ๆ ให้กำลังใจ หาทางออกให้เขา ผมถือว่า นี่คือ การทำบุญมหาศาล”

อาจารย์อรุณวิชญ์เปรียบเทียบว่า หมอดูเหมือนไต๋ก๋งที่คอยแนะทิศทางเรือ “ชีวิตเราเหมือนลอยอยู่ในท้องทะเล ท้องทะเลก็เหมือนกรรม ถ้าปล่อยชีวิตไปตามกระแสน้ำ ก็เหมือนเราปล่อยชีวิตไปตามกรรม แต่หมอดูจะเป็นคนชี้แนะว่า เราต้องใช้กำลังหรือกลยุทธ์ให้เรือไปในทางที่เหมาะที่ควรเหมือนเรามีโค้ชแนะว่า เราควรออกแรงพายตรงนี้ถ้าเจอร่องน้ำ”

คนที่มาดูดวงก็ย่อมอยากรู้ชะตาชีวิต ต้องการหาลู่ทางแก้ปัญหา แต่สุดท้ายแล้วคำตอบของคำถามว่า หมอดูจะช่วยให้ช่วยดีขึ้นได้จริงหรือไม่นั้น มนุษย์เองต่างหากที่ต้องเป็นผู้กำหนดและหาคำตอบ “ชีวิตที่ดี” ในแบบที่ตัวเองนิยาม

ที่มาบทความ สิตานัน แผ้วสมบุญและคณะ. (2560). การศึกษาสร้างสรรค์ภาพยนตร์สันแนวตลกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการดูดวงของสังคมไทย เรื่อง It’s Not About Luck. ภาคนิพนธ์นวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.


[i] ธันยา นาคบุตร. (2556). ความสัมพันธ์ด้านความเชื่อด้านโหราศาสตร์กับความสุขในที่ทำงานของพนักงาน บจม.ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สายงานปฏิบัติการ. ภาคนิพนธ์ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *