ทำไมสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQI จึงสำคัญ

การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในองค์การสหประชาชาติเกิดขึ้นจากนำหลักความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชน (Principle of universality) และหลักการห้ามเลือกปฏิบัติ (Principle of non – discrimination) ที่มีอยู่ตามตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนมาปรับใช้ให้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ การวางแนวทางดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเป็นพันธกรณีของรัฐสมาชิกที่จะต้องกำหนดมาตรการคุ้มครองกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศเหล่านั้นเข้าเป็นภาคี โดยพันธกรณีที่สำคัญประการหนึ่ง คือ รัฐสมาชิกทั้งหลายมีหน้าที่สร้างหลักประกันความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจากการเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ ในหลายประเทศจึงได้พยายามปรับใช้หลักการห้ามเลือกปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความคุ้มครองแก่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามระบบกฎหมายของแต่ละประเทศ

หลักความเสมอภาคหรือหลักความเท่าเทียมกัน ถือเป็นหลักการที่สำคัญซึ่งได้รับการรับรองในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายประเทศต่าง ๆ เป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หลัก “ความเสมอภาค” เป็นหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับได้บัญญัติให้การรับรองไว้นอกเหนือจากหลัก “สิทธิ” “เสรีภาพ” และ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หลักการนี้ได้รับการบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในมาตรา 27 ว่า “มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียม ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะของบุคคลฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้”

การยอมรับและปฏิบัติต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างถูกต้องและเท่าเทียม

ปัจจุบัน บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับ และโอบรับโดยสังคมมากขึ้น ดังนั้น บุคคลในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพหรือเพศวิถีใด จึงควรให้ความเคารพ และปฏิบัติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างเช่น เพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและอีกหนึ่งแรงผลักดัน และกำลังใจสำคัญ คือ การเป็นที่ยอมรับจากสังคมรอบตัว และสมาชิกในครอบครัว ดังนั้น หากมีคนในครอบครัวเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ สมาชิกในครอบครัวควรทำความเข้าใจ และเรียนรู้แนวทางปฏิบัติ ดังนี้

  • ไม่เปรียบเทียบเรื่องเพศของสมาชิกในครอบครัวกับใคร และควรส่งเสริมการรู้คุณค่าในตนเอง
  • เพิ่มการสื่อสารในเชิงบวก พูดคุย เปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้บอกเล่าเรื่องราว
  • ใส่ใจความรู้สึก ให้ความสำคัญ และชื่นชมในสิ่งที่สมาชิกในครอบครัวทำได้
  • สังเกตพฤติกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจาก อาจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งทางร่างกาย และทางด้านจิตใจ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่า ตนเองรู้สึกแปลกแยกจากสังคม หรือมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม ใช้ความรุนแรง มีอาการซึมเศร้า เป็นต้น
  • ปฏิบัติต่อบุคคลในครอบครัว โดยให้เกียรติความหลากหลายทางเพศ “ที่บุคคลนั้นเป็นผู้เลือก”
  • เคารพสิทธิส่วนบุคคล ไม่ถามถึง รสนิยมทางเพศ ของสมาชิกในครอบครัว
  • ไม่ตัดสินเพศวิถีจากรูปลักษณ์ภายนอก และการแสดงออกของสมาชิกในครอบครัว

โลกมีมนุษย์ที่มี “เพศ” หรือ “เพศสรีระ” แค่เพียง 2 เพศ เท่านั้น คือ “เพศชาย” และ “เพศหญิง” แต่ถ้าเรามองให้พ้นจากเพศสรีระ และมองให้ลึกถึงอารมณ์ความรู้สึกทางเพศ รสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ เราจะค้นพบว่า โลกใบนี้ไม่ได้มีแค่ 2 เพศ แต่มีความหลากหลายที่ลึกล้ำ และงดงามสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญในสังคมของเรา ในยุคปัจจุบันทุกคนต่างมองหาความเท่าเทียมกันในสังคมตลอดเวลา โดยเราจะเห็นได้ว่า จากข่าวการชุมนุมต่าง ๆ อย่างมากมายจากทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นเรื่องควาเท่าเทียมในด้านการเงิน สังคม หรือการอยู่อาศัย แต่ยังมีกลุ่มคนอีกหนึ่งกลุ่มที่ยังรอให้สังคมยอมรับ เคารพและเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาเป็น นั้นคือ กลุ่มคน LGBTQI หรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ออกมาเรียกร้องถึงความเท่าเทียมในสังคมให้กับตัวเองตลอดเวลา ถึงแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ หลาย ๆ ประเทศเริ่มมีการยอมรับในกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น แต่ในทางกฎหมายบุคคลเหล่านี้ยังไม่ได้รับความเท่าเทียมเหมือนเพศหญิง เพศชายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการแต่งงาน การลดหย่อนทางภาษี หรือการยอมรับทางด้านจิตใจ ซึ่งมนุษย์ทุกคนสมควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน และไม่ควรมีมนุษย์ผู้ใด ที่จะกีดกัน หรือเลือกปฏิบัติต่อบุคคลใด บุคคลหนึ่ง มิให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *