ทับทิม (Ruby) ราชาแห่งหินมีค่า

ทับทิม “Ruby” มาจากภาษาลาติน “Ruby” หรือ “Rubeus” แปลว่า “สีแดง” ส่วนรากศัพท์เดิมมาจากภาษาสันสกฤตนั้น คือ Ratnaraj หรือ Ratnanayaka แปลว่า “ราชาแห่งหินมีค่า” หรือ “ผู้นำแห่งหินมีค่า” คำว่า “มณีแดง” ในคำกลอนนพรัตน์นั้น หมายถึง ทับทิมหรือกะรุนที่มีสีแดงนั่นเอง จะมีสีแดงอ่อนแก่อย่างไรนั้น แล้วแต่ธรรมชาติของทับทิมที่พบ อาจมีสีแดงเข้มจนกระทั่งสีชมพูอ่อน ๆ หรือสีแดงอมชมพู แดงอมส้ม แดงอมม่วง เป็นต้น สีของทับทิมในแต่ละเม็ด อาจจะไม่สม่ำเสมอเท่ากันตลอดทั้งหมด โดยมีส่วนไม่มีสีสลับปนอยู่ในส่วนสีแดงก็ได้ กรณีเช่นนี้สามารถที่จะทำให้พลอยมีสีสม่ำเสมอได้ โดยการให้ความร้อน แต่จะต้องเพิ่มความร้อนทีละน้อยจนกระทั่งมีความร้อนสูงพลอยจะไม่แตก

สีของทับทิมที่นิยมกันมากที่สุด คือ สีแดงเข้มบริสุทธิ์ และอมสีน้ำเงินหรือฟ้าอ่อนนิด ๆ แต่ก็มิใช่ว่า มีสีน้ำเงินมากเกินไปจนกระทั่งสีของทับทิมเปลี่ยนจากแดงบริสุทธิ์ไปเป็นแดงอมม่วงมาก ซึ่งจะทำให้ราคาตก สีดังกล่าวเทียบได้กับสีแดงดั่งเลือดนกพิราบสด ๆ ความนิยมในเรื่องสีของทับทิมนั้น อาจแตกต่างกันบ้างในแต่ละแห่ง เล่ากันว่า ทางไทยเรานิยมสีแดงอมส้ม ส่วนทางพม่านิยมสีแดงอมชมพู แต่ทางประเทศในยุโรปและประเทศอเมริกาส่วนใหญ่นิยมสีแดงเข้มสด และหากเป็นไปได้ก็จะเลือกชนิดที่มีเนื้อใสสะอาด ส่วนชาวจีนและญี่ปุ่นนิยมสีชมพู ทับทิมเป็นรัตนชาติที่มีราคาแพงที่สุด ในกลุ่มแร่ตระกูลคอรันดัมทั้งหมด ชนิดเม็ดโตที่มีน้ำไฟและมีสีสวย คุณภาพชั้นหนึ่งนั้น ราคาแพงกว่าเพชรในขนาดเท่า ๆ กันเสียอีก

ทับทิมแบบหนึ่งมีสีขาวขุ่น หรือใส และมีสีแดงแทรกปนอยู่บางส่วน เรียก กินบ่อเชียงนิยมกันพอสมควร คำนี้หมายถึง กินไม่หมด และก็เชื่อกันว่า ใครมีในครอบครองจะเป็นสิริมงคลต่อตนเอง จะร่ำรวยมีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต ซึ่งก็แล้วแต่ความเชื่อถือของแต่ละบุคคล คาดว่า แต่เดิมคงหมายถึง สีขาวกินสีแดงไม่หมด จึงยังคงมีสีแดงหลงเหลือปนอยู่ภายในเนื้อพลอยเม็ดเดียวกัน

มีส่วนประกอบทางเคมีเป็น AI2O3 เป็นแร่ที่จัดอยู่ในระบบผลึกเฮกซะโกนอลจะพบเห็นในลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยม ลักษณะรูปผลึกของทับทิม ขนาดสัดส่วนไม่สูงไม่ยาวมากนัก มีความแข็ง 9 ตามสเกลความแข็งแรงของโมห์ ค่าความถ่วงจำเพาะ 3.94 – 4.08 ค่าดัชนีหักเห 1.769 – 1.760 มีความวาวเป็นประกายคล้ายเพชรไปจนกระทั่งมีความวาวด้อยลงคล้ายแก้ว

คำว่า “มณีแดง” ในคำกลอนนพรัตน์นั้น หมายถึง ทับทิมหรือกะรุนที่มีสีแดงนั่นเองจะมีสีแดงอ่อนแก่ขนาดใดนั้น แล้วแต่ธรรมชาติของทับทิมที่พบ อาจมีสีแดงเข้มไปจนกระทั่งสีชมพูอ่อนหรือแดงอมชมพู แดงอมส้ม แดงอมม่วง เป็นต้น สีของทับทิมแต่ละเม็ดอาจจะไม่สม่ำเสมอเท่ากันตลอดทั้งหมด โดยมีส่วนไม่มีสีแทรกสลับปนอยู่ในส่วนสีแดงได้ กรณีเช่นนี้สามารถที่จะทำให้พลอยมีสีสม่ำเสมอได้โดยการให้ความร้อน แต่จะต้องเพิ่มความร้อนทีละน้อยจนกระทั่งมีความร้อนสูง พลอยจะไม่แตก

ทับทิมมีคุณสมบัติการเปลี่ยนสีได้สองสี จะเห็นได้ชัดในทับทิมที่มีสีเข้มโดยการมองทิศทางที่แตกต่างกัน ทับทิมจะมีสีแดงเข้มชัดอย่างเดียว หรือแดงอมม่วงเล็กน้อย เมื่อมองดูในทิศทางที่ตั้งฉากกับฐานผลึก และจะมีสีอ่อนจางลงไปแตกต่างกันชัดเมื่อมองดูในทิศทางที่ตั้งฉากกับการมองเป็นครั้งแรก ดังนั้น ช่างเจียระไนพลอยมักจะทำการเจียระไนโดยใช้พื้นหน้าบนขนานกับฐานผลึกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดสีเข้มที่สวยงาม

ทับทิมอาจเกิดในหินชนิดต่าง ๆ ได้หลายชนิด เช่น พบในหินปูนที่ถูกแปรสภาพ ในหินแปรชนิดไมกาชิสต์ หรือหินไนส์ หรือในหินอัคนีบางชนิด เช่น เนฟฟีลีนไซยีไนส์ เป็นต้น แต่ของประเทศไทย ออสเตรเลีย ลาว และเขมร พบเกิดในหินภูเขาไฟชนิดบะซอลต์ แหล่งทับทิมที่สำคัญของโลก คือ พม่า (ที่มีชื่อเสียงมาก คือ บ่อพลอยโบกุก) ไทย ศรีลังกา และแทนซาเนีย นอกจากนั้น ก็มีที่ อัฟกานิสถา อินเดีย ออสเตรเลีย บราซิล มาลาวี ปากีสถาน ซิมบับเว รัฐมอนตานา และคาโรไลนาเหนือ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ สำหรับประเทศไทย ทับทิมมาจากจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราดส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตจังหวัดตราด ทับทิมไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวต่างประเทศในชื่อของ “ทับทิมสยาม” ซึ่งเป็นสีแดงจัดอมม่วงในเนื้อ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *