ทันลูก ทันไอที

“ไอที” เป็นชื่อย่อของคำว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศ” (Information Technology) คือ การใช้ความรู้ เครื่องมือ ความคิด หลักการ เทคนิค ความรู้ ระเบียบวิธี กระบวนการ ตลอดจนผลงานทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ่งประดิษฐ์และวิธีการ มาประยุกต์ใช้ในระบบงานเพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานให้มีมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันไอทีมีบทบาทกับชีวิตมนุษย์เราเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า จรดเข้านอนตอนค่ำต้องเกี่ยวข้องกับคนทุกผู้ทุกวัย ซึ่งประโยชน์ของไอทีมีอย่างมหาศาล แต่ในทางกลับกันโทษของมันก็มีมหาศาลเช่นกัน ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้อย่างไร โดยเฉพาะวัยรุ่นในปัจจุบันแทบจะพูดได้เต็มปากเลยว่า ไม่มีใครที่ไม่รู้จักไอที ทั้งในโลกของสังคมออนไลน์ หรือการสื่อสารต่าง ๆ มากมายเกิดขึ้นพร้อมกับการใช้ชีวิตประจำวันของวัยรุ่นในแต่ละวัยที่เราตื่นขึ้นมา ถ้าวันนั้นไม่ได้เล่นอินเตอร์เน็ต ออนเฟสบุ๊ค เล่นโซเซียลแคม หรืออินสตาแกรม ชีวิตคงจะดูเฉา ๆ หรือขาดอะไรบางอย่างไป ขณะที่นั่งรถมาโรงเรียนก็ต้องส่งไลน์หาเพื่อน หรือไม่ก็ต้องนั่งฟังเพลงหรือเล่นเกมจากอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดเก็บไว้ พอไปถึงโรงเรียนต้องโทรหาเพื่อนก่อนเข้าห้องเรียน ถ้าวันนั้นมีเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องปฏิบัติ วันนั้นดูจะมีชีวิตชีวามากกว่าการเรียนในห้องเรียนธรรมดา ตกเย็นนั่งรถกลับบ้านก็นั่งดูหนังในสมาร์ทโฟน กลับถึงบ้านก็ต้องรีบเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์และนั่งเล่นเกมออนไลน์จนหว่าจะมีเสียงเรียกให้รับประทานอาหารเย็น ไม่งั้นไม่ยอมเลิก หลังจากรับประทานอาหารเย็นเสร็จต้องกลับมาออนเฟสบุ๊ค ฯลฯ และพร้อมที่จะเล่นเกมต่อจนดึกดื่น

จากการใช้งานไอทีเพื่อสืบค้น แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ จะมีข้อดีอยู่มาก แต่ไอทีก็มีข้อจำกัด และมีผลกระทบต่อผู้ใช้ในหลายลักษณะ เช่น

  1. ข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือนที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้รับสารที่ขาดวิจารณญาณหลงเชื่อ
  2. การเสนอขายสินค้าผิดกฎหมาย การล่อลวงทางเพศ และการขายบริการทางเพศที่แอบแฝงอยู่ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
  3. โฆษณาชวนเชื่อของมิจฉาชีพทำให้ผู้รับสารไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
  4. เป็นโรคติดอินเตอร์เน็ต (Webaholic) ซึ่งเป็นอาการทางจิตประเภทหนึ่ง
  5. มีปัญหาสุขภาพ ส่งผลเสียต่อระบบของร่างกายทั้งการขับถ่าย การนอน และการออกกำลังกาย
  6. ทำให้ขาดสังคม ขาดสัมพันธภาพที่ดีต่อคนรอบข้างและสังคม

แนวทางการดูแลลูกวัยรุ่นในยุคไอที

สิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรทำในการดูแลลูกวัยรุ่นในยุคไอที

  1. วางคอมพิวเตอร์ในที่โล่ง เพื่อให้สามารถติดตามการเล่นเกมและป้องกันการแอบเล่นได้
  2. ควรกำหนดเวลาการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นการควบคุมพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ของลูกหลานให้อยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะทางที่ดี คือ ต้องตกลงกันทั้งสองฝ่าย และควรเข้มงวดในเรื่องเวลาด้วย
  3. พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ควรพูดด้วยน้ำเสียงที่เข้มงวดนัก (เน้นทักษะการสื่อสารเชิงบวก)
  4. สร้างสัมพันธภาพแบบเพื่อน
  5. ให้คำชมแก่ลูกหลานเมื่อสามารถรักษาเวลาการเล่นคอมพิวเตอร์หรือเกมได้
  6. เข้าใจและแสดงความเห็นใจลูกหลานเมื่อไม่สามารถควบคุมตัวเองหรือตัดขาดจากเกมได้จริง ๆ หลีกเลี่ยงการบ่น ตำหนิ ใช้อารมณ์หรือถ้อยคำรุนแรง
  7. พ่อแม่ ผู้ปกครองควรจะปลูกฝังทักษะให้แก่ลูกหลาน เช่น เล่นคอมพิวเตอร์ให้ปลอดภัย หากพบปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นกับตัวเองจะแก้ปัญหาอย่างไร ทักษะในการปฏิเสธและการเอาตัวรอดหากเจอสถานการณ์ที่ล่อแหลม เป็นต้น
  8. ควรสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกหลาน เช่น มีการใช้โทรศัพท์มากขึ้น เล่นเกมนานขึ้น
  9. ทำความรู้จักกับโปรแกรม เว็บไซต์ เกมที่ลูกหลานชอบ หากเป็นเกมที่ไม่เหมาะสมหรือเกมที่ใช้ความรุนแรงพยายามเบี่ยงเบนให้มาสนใจเกมอื่นที่พอจะมีส่วนดีของเกมมาสอนลูกหลาน
  10. เมื่อสัมพันธภาพกับลูกหลานเริ่มดีขึ้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงค่อย ๆ ดึงลูกหลานให้มาสนใจในกิจกรรมอื่นทีละเล็กละน้อย
  11. ตักเตือนและเน้นเรื่องการให้ข้อมูลส่วนตัวบนอินเตอร์เน็ต
  12. พ่อแม่ ผู้ปกครองควรร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา อย่าปัดให้เป็นภาระความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง
  13. ควรติดตามข่าวสารเรื่องภัยไอทีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

สิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ควรทำในการดูแลลูกวัยรุ่นในยุคไอที

  1. ทำแต่งานจนไม่มีเวลาดูแลลูกหลาน
  2. ใช้คอมพิวเตอร์เลี้ยงลูกหลาน เพราะเห็นว่า ลูกหลานจะไม่ไปไหน ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง
  3. ดุด่าหรือทำร้ายจิตใจลูกหลาน เพราะจะทำให้ลูกหลานรู้สึกอึดอัด และหนีไป แม้ว่า การดุด่าจะมาจากความรักแต่เด็กวัยรุ่นยังไม่สามารถเข้าใจในเจตนาของพ่อแม่ ผู้ปกครองได้ทันที
  4. หักดิบในพฤติกรรมของลูกหลาน พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ควรสั่งห้ามหรือให้เลิกเล่นในทันที ควรจะค่อย ๆ ปรับเวลาการใช้คอมพิวเตอร์หรือหากิจกรรมอื่นมาทำแทน
  5. การด่วนสรุป เพราะอาจตีความผิดพลาดไปจากเจตนาของลูกหลานได้ และเป็นการตัดตอนการพูดคุยกันโดยไม่ได้ทำความเข้าใจให้ตรงกัน จนอาจเกิดเรื่องบาดหมางกันในครอบครัวได้
  6. ติดตามควบคุมลูกหลานจนมากเกินไป โดยไม่เปิดโอกาสให้ได้อยู่กับเพื่อน เพราะจะทำให้ลูกหลานอึดอัดและพยายามหาทางออกจากบ้านไป

พ่อแม่ ผู้ปกครองควรเข้าใจ เข้าถึง และช่วยเหลือลูกหลานของตนให้ผ่านพ้นสภาพปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ หากพบสิ่งปกติหรือเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ควรจะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที

5 เรื่องที่พ่อแม่ควรสอนลูกหลานใช้โซเซียลมีเดีย

  1. อย่าบังคับลูกหลาน ควรให้ลูกหลานใช้งาน แต่คอยระวังให้อยู่ในสายตาแทนการบังคับ เพราะการบังคับลูกหลานเขาอาจจะแอบเล่นเองได้
  2. สอนให้รู้ถึงอันตราย สอนให้รู้ถึงโทษ อันตรายที่อาจเจอในโลกโซเซียลฯ พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องคอยสอนบอกวิธีรับมือ เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่ชอบมาพากล
  3. ควรตั้งสถานะความเป็นส่วนตัว เราไม่รู้ว่าใครมาติดตามบ้าง หวังดีหรือหวังร้าย จึงควรตั้งสถานะความเป็นส่วนตัว และเลือกคนที่จะมาติดตาม เป็นคนที่รู้จัก น่าเชื่อถือ
  4. อย่าเปิดการระบุตำแหน่ง เพราะการระบุตำแหน่งพิกัดการใช้งานว่าอยู่ที่ไหน อาจจะเป็นภัยมาถึงตัวได้ง่าย
  5. อย่าโพสต์ข้อมูลส่วนตัว การโพสต์ข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป อาจทำให้อันตรายมาถึงตัว เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ โรงเรียน โรงเรียนสอนพิเศษ ฯลฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *