“ทะเบียนสมรส” สำคัญอย่างไร

การจดทะเบียนสมรสของชายหญิงทำให้เป็นสามีภรรยากันโดยถูกต้องตามกฎหมาย คู่สมรสมีสิทธิร่วมใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่ง ตามที่ตกลงกันหรือต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลของตน สามีภรรยามีสิทธิรับเงินสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐ หรือภาคเอกชนที่ให้สวัสดิการกับคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย สามีภรรยาสามารถนำหลักฐานการสมรสไปลดหย่อยภาษีได้สามีภรรยามีสิทธิจัดการสินสมรสร่วมกันนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนสมรส ซึ่งเรียกว่า เป็น “สินสมรส” สามีหรือภรรยามีสิทธิรับมรดก กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถึงแก่กรรมในฐานะทายาทโดยธรรม สามีหรือภรรยามีสิทธิฟ้องดำเนินคดีหรือร้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากผู้ที่ทำให้คู่สมรสของตัวเองบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ สามีหรือภรรยามีสิทธิอนุญาตให้แพทย์ทำการผ่าตัดรักษาอีกฝ่ายหนึ่งได้ สามีภรรยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน กรณีคู่สมรสมีชู้ก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งจากคู่สมรสของตัวเอง และเรียกค่าเสียหายจากชู้ได้ด้วย สามีภรรยามีสิทธิขอสัญชาติตามสามีหรือภรรยาได้ บุตรมีสิทธิขอสัญชาติตามบิดามารดาได้ การจดทะเบียนสมรสทำให้บุตรเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาด้วย และบุตรสามารถมีสิทธิได้รับสวัสดิการจากหน่วยงานรัฐ หรือภาคเอกชนที่ให้สวัสดิการกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดามารดามีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกัน

การสมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องมีองค์ประกอบครบถ้วนตามเงื่อนไขของกฎหมาย ดังนี้

  1. คู่สมรสชายและหญิงจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  2. คู่สมรสชายและหญิงจะต้องแสดงความยินยอมโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและพยานอย่างน้อย 2 คน
  3. นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนสมรส แลได้ออกใบสำคัญการสมรส (คร.3) และทะเบียนสมรส (คร.2) ให้กับคู่สมรสไว้เป็นหลักฐาน เพื่อรับรองสิทธิและสถานภาพของคู่สมรส

คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส

ชายหรือหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ แต่ในกรณีที่มีเหตุอันควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนชายและหญิงมีอายุครอบ 17 ปีบริบูรณ์ได้ กรณีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมายไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมบิดาหรือมารดา ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น ผู้รับบุตรบุญธรรมจะทำการสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้ หญิงหม้ายที่จะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน

เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส

บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ สำเนาหนังสือเดินทางกรณีชาวต่างประเทศ และหนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือองค์การของรัฐบาลประเทศนั้นมอบหมายพร้อมแปล (กรณีชาวต่างประเทศขอจดทะเบียนสมรส)

ขั้นตอนในการจดทะเบียนสมรส

คู่สมรสยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอเมือง หรือ สำนักทะเบียนเขตได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส คู่สมรสที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องนำบิดาและมารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมมาให้ความยินยอม พยานบุคคลจำนวน 2 คน และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียน หากขอจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนต้องเสียค่าธรรมเนียม 200 บาท พร้อมจัดยานพาหนะ รับ – ส่ง นายทะเบียนการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกล เสียค่าธรรมเนียม 1 บาท และกรณีการจดทะเบียนสมรสในเขตชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่เหมาะสม เช่น ภูกระดึง หากสมิหลา เสียค่าธรรมเนียม 20 บาท

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *