ตลาดสด น่าซื้อ สะอาดปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค

หลายท่านคงจะเคยได้ยินหรือผ่านตากับคำว่า ตลาดสด น่าซื้อ สะอาด ปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภคกันมาบ้าง และก็คงจะเกิดคำถามว่า ตลาดสดแบบนี้มีจริงหรือ แล้วมีอยู่ที่ไหนบ้าง และน่าซื้อจริง ๆ หรือเปล่า เพราะที่เคยพบมาตลาดส่วนใหญ่จะสกปรก ไม่ก็เฉอะแฉะ ไม่มีระเบียบ วางของเกะกะออกมาตามทางดิน และที่สำคัญค่อนข้างทึบและมีกลิ่นไม่สะอาด ซึ่งถ้าตลาดสดหลาย ๆ แห่งยังคงมีสภาพแบบนี้ต่อไป ผู้บริโภคก็คงจะเปลี่ยนวิถีชีวิตไปซื้อหาของในตลาดติดแอร์ ที่นับวันยิ่งขยายตัวเร็วและมีจำนวนมากขึ้นแทน

ตลาดสดยุคใหม่ใส่ใจคุณภาพสินค้า

ตลาดสดเปิดใหม่เดี๋ยวนี้ สะอาด น่าเดิน ที่สำคัญไม่โกงกิโลด้วยแหละ

ตลาดสดเดี๋ยวนี้ใส่ใจผู้บริโภคมากขึ้น ยิ่งเมื่อกระทรวงสาธารณสุขจัดโครงการ “ตลาดสดน่าซื้อ” ขึ้น ทำให้ตลาดสดพัฒนาขึ้น เพราะตลาดสดที่จะได้รับการการันตีว่า เป็นตลาดสดน่าซื้อนั้น เจ้าของตลาดสดและแม่ค้าพ่อขายในตลาดจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน ดูแลรักษาความสะอาดของอาคารสถานที่ จัดแผงขายของให้เป็นระเบียง ใส่ใจคุณภาพอาหารไม่ให้ปนเปื้อนสารอันตราย เช่น สารเร่งเนื้อแดง บอแรกซ์ สารฟอกขาว สารกันเชื้อรา ฟอร์มาลิน และยาฆ่าแมลง นอกจากนี้ ตาชั่งก็ต้องเที่ยงตรง แม่ค้าพ่อค้าต้องพูดจาไพเราะ ไม่ด่าทอกันให้ระคายหูคนซื้อ และที่สำคัญมีใบอนุญาตตลอดจนปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายสาธารณสุขด้วย

ด้วยหตุผลเพื่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค โครงการตลาดสด น่าซื้อจึงเกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาตลาดสดตามแบบวิถีไทย ให้เป็นตลาดที่สะอาดมีการจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ดี สินค้าสะอาดปลอดภัย ผู้ขายมีสุขภาพดี และมีอัธยาศัยไมตรีต่อผู้บริโภค

การพัฒนาตลาดให้เป็นตลาดสด น่าซื้อ สามารถพัฒนาตามเกณฑ์ใน 3 ด้าน ดังนี้ คือ

1.ด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยมีการตรวจสอบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค 6 ชนิด

  • ต้องตรวจไม่พบสารบอแรกซ์ในอาหารกลุ่มเสี่ยง เช่น ลูกชิ้น ทอดมัน
  • ต้องตรวจไม่พบสารฟอร์มาลินในอาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้
  • ต้องตรวจไม่พบสารไฮโดรซัลไฟด์ หรือสารฟอกขาวที่ใส่เพื่อให้อาหารดูน่ารับประทาน เช่น ยอดมะพร้าว
  • ต้องตรวจไม่พบกรดซาลิซิลิก สารกันรา ในอาหารประเภทหมักดองต่าง ๆ
  • สารตกค้างยาฆ่าแมลง ต้องไม่เกินร้อยละ 50 ในอาหารกลุ่มเสี่ยง เช่น ผัก ผลไม้ต่าง ๆ
  • สุดท้ายต้องตรวจไม่พบสารเร่งเนื้อแดง ซาลบูทามอล ในอาหารกลุ่มเสี่ยง คือ เนื้อหมู

2.ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม จะต้องมีการพัฒนาสถานที่ให้สะอาดตามเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน ได้แก่ สุขลักษณะทั่วไป โครงสร้างของตลาดที่แข็งแรง มีการจัดการขยะมูลฝอย มีน้ำดื่ม – น้ำใช้ไว้บริการอย่างเพียงพอ มีการจัดการน้ำเสีย สิ่งปฏิกูล มีการป้องกันควบคุมสัตว์ แมลง พาหนะนำโรค มีผู้ดูแลและทำความสะอาดเป็นประจำตลอดจนสุขภาพของผู้ขายต้องแข็งแรงไม่เป็นโรคติดต่อ

3.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข่าวสารเรื่องความปลอดภัยของอาหาร มีจุดทดสอบสารปนเปื้อน มีตาชั่งกลางเพื่อตรวจสอบความเที่ยงตรงได้

เห็นเกณฑ์พัฒนาตลาดสดให้เป็นตลาดสด น่าซื้ออย่างนี้แล้ว เชื่อได้แน่นอน ว่า “ตลาดสด” ที่ผ่านการพัฒนาเป็นตลาดสด น่าซื้อ จะเกิดผลดีกับทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภคผู้ประกอบการตลาดสด ชุมชน ตลอดจนประเทศชาติของเรา

จากที่เมื่อก่อนนี้ ผู้คนไม่ค่อยอยากไปตลาดสด เพราะสกปรก กลัวติดโรค แต่เดี้ยวนี้ตลาดสะอาดขึ้น เพราะมีกฎหมายสาธารณสุขที่กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล ถ้าทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายสาธารณสุข ตลาดสดก็จะน่าเดินจับจ่ายซื้อของ ตามกฎหมายสาธารณสุขนั้น จะให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อกำหนดท้องถิ่นในการควบคุมดูแลตลาด เช่น หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะ การจัดสถานที่ การดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อยภายในตลาดให้ถูกต้องตามสุขลักษณะและอนามัย มีการรวบรวมกำจัดสิ่งปฏิกูลมูลฝอย การระบายน้ำทิ้ง การระบายอากาศ การป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญ และการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ ด้วยเหตุนี้ ตลาดสดที่ประกอบการถูกต้องตามกฎหมายสาธารณสุข ก็จะสะอาดถูกสุขลักษณะ ไม่แพ้ซุปเปอร์มาร์เก็ต

ส่วนตลาดสด น่าซื้อ สะอาดปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค อยู่ที่ใดบ้าง ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0 2590 4177 – 8

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *