hands-waving-flags-india (1)

ภาพยนตร์อินเดียเข้าสู่วิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่ช่วงประมาณปลายพุทธศักราช 2480 ในสมัยสงครามหมาเอเชียบูรพา ภาพยนตร์ในสมัยนั้นเป็นฟิล์มขาวดำขนาด 16 มม. โดยเหตุที่มีการนำเข้า เนื่องจาก กองกำลังของประเทศภายใต้อาณานิคมของอังกฤษได้ถูกเกณฑ์เข้ามาสนับสนุนการรบจากทางประเทศสิงคโปร์ ส่วนหนึ่งของกองกำลังเหล่านั้นเป็นทหารเชื้อสายอินเดีย และเป็นธรรมดาที่การพำนักอยู่ต่างถิ่นเป็นเวลานาน ทำให้ขวัญกำลังใจของทหารถดถอย เนื่องจาก ภาพยนตร์เป็นความบันเทิงยอดนิยมของคนอินเดีย ผู้นำทหารของประเทศเจ้าอาณานิคมจึงได้นำภาพยนตร์อินเดียเข้ามาฉาย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับกองกำลังสนับสนุนเหล่านี้ โดยตั้งโรงฉายภาพยนตร์บริเวณถนนประมวญและบริเวณสถานเสาวภาใกล้โรงพยาบาลจุฬา หรือบางครั้งก็เดินสายฉายบริเวณแคมป์ทหาร นี่เองเป็นโอกาสแรกที่ทำให้คนไทยได้รู้จักกับภาพยนตร์อินเดีย[i]

จากนั้น ต่อมาสังคมไทยก็ได้ใกล้ชิดกับภาพยนตร์อินเดียมาโดยตลอด ภาพยนตร์อินเดียได้เปรียบภาพยนตร์จากประเทศอื่น ๆ ตรงที่ผู้ชมชาวไทยมีรากฐานทางวัฒนธรรมใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมความเชื่อที่ซึมซับอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน อีกทั้งอิทธิพลด้านสุนทรีย์ศาสตร์ที่ได้รับมาจากประเทศอินเดีย ดังนั้น เมื่อดูภาพยนตร์ที่แม้จะไม่มีการพากย์เสียงก็สามารถเข้าใจได้ง่ายกว่าภาพยนตร์จากทางยุโรปหรืออเมริกา

หลังจากที่คนไทยได้รู้จักหนังอินเดียจากการนำเข้ามาเพื่อให้ความบันเทิงกับบรรดาทหารที่เข้ามาประเทศแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังอินเดียได้รับความนิยมในเมืองไทยมากขึ้น มีจุดเริ่มต้นจากนายทุนชาวอินเดียนำหนังเข้ามาฉาย โดยเหมาโรงหนังเท็กซัส เพื่อฉายภาพยนตร์ให้กับกลุ่มคนชาวอินเดียพลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะนั้น ได้รับชมเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ ช่วงเวลาสี่โมงเย็น การฉายในวันและเวลาดังกล่าว ทำให้หนังแต่ละเรื่องมีผู้เข้าชมชาวไทยที่มาโรงหนังได้รับชมหนังอินเดียไปด้วย การฉายหนังในยุคนี้ในเบื้องต้น คาดว่า ไม่มีการพากย์เสียงภาษาไทย แต่ด้วยเนื้อหาและอวัจนภาษาที่ใช้ ทำให้สามารถเดาเรื่องโดยรวมได้ จุดเด่นที่ทำให้ภาพยนตร์อินเดียมีความแตกต่างจากภาพยนตร์ที่ฉายในสมัยนั้น เนื่องจาก มีเนื้อเรื่องเข้มข้น อีกทั้งมีเพลงให้ฟัง และมีฉากการเต้นที่สนุกสนาน ปัจจัยที่แปลกใหม่แตกต่างจากภาพยนตร์จากที่อื่น ๆ เหล่านี้เองเป็นสาเหตุให้เกิดกระแสความนิยมตามมาเป็นลำดับ โรงหนังเท็กซัสเปรียบเสมือนโรงหนังยุคบุกเบิกของภาพยนตร์อินเดียในไทยก็ว่าได้ หนังที่นำเข้ามาฉายอย่างเป็นทางการเรื่องแรกได้ รามเกียรติ ซึ่งมีเนื้อเรื่องที่เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของคนไทยทั่วไป ความคุ้นเคยทางวัฒนธรรมนี้เองเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ภาพยนตร์อินเดียได้รับความนิยม เนื่องจากการรับชมของผู้ชมต้องผ่านกระบวนการตีความและผู้ชมใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละบุคคลในการถอดรหัสจากการแสดงที่ชม[ii] ภาพยนตร์อินเดียได้เปรียบภาพยนตร์จากประเทศอื่น ๆ ตรงที่ผู้ชมชาวไทยมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมความเชื่อที่ซึมซับอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน อีกทั้งอิทธิพลด้านสุนทรียศาสตร์ที่ได้รับมาจากประเทศอินเดีย ดังนั้น เมื่อดูภาพยนตร์ที่แม้จะไม่มีการพากย์เสียงก็สามารถเข้าใจได้ง่ายกว่าภาพยนตร์จากทางยุโรปหรืออเมริกา

อีกปัจจัยที่ทำให้ภาพยนตร์อินเดียได้รับความนิยม เนื่องจากในสมัยนั้นมีภาพยนตร์ต่างชาติที่เป็นตัวเลือกให้รับชมมีค่อนข้างน้อย เนื่องจาก ช่องทางการนำเข้านั้นค่อนข้างจำกัด แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีตัวแทนนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ ได้แก่ ภาพยนตร์จากประเทศฟิลิปปินส์ ยุโรป และอเมริกา เป็นที่น่าสังเกตว่า ลักษณะของหนังเหล่านั้น ยังไม่ถูกใจผู้ชมชาวไทย จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ในช่วงเวลาดังกล่าว หนังอินเดียได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ประเภทที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ หนังแนวอภินิหาร ซึ่งถือเป็นรูปแบบการนำเสนอที่แปลกใหม่ มีความแตกต่างจากภาพยนตร์ของประเทศอื่น ๆ ที่ฉายอยู่ในสมัยนั้น ปัจจัยเหล่านี้เอง เป็นตัวช่วยให้เกิดกระแสความนิยมอย่างรวดเร็ว มีผู้ชมแน่นทุกรอบจนโรงภาพยนตร์เท็กซัสมีนโยบายที่จะงดฉายภาพยนตร์จากประเทศอื่น ๆ ทั้งหมด เหลือเพียงภาพยนตร์อินเดียเท่านั้น บริษัทที่นำเข้าภาพยนตร์อินเดียในสมัยแรกนั้น ได้แก่ บริษัทของมิสเตอร์มิสซาร่า ซึ่งต่อมา คือ อินเดียฟิล์ม และบริษัท ดีวันจันทร์ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่หลังศาลาเฉลิมกรุงในปัจจุบัน ความนิยมของหนังอินเดียที่เกิดขึ้นทำให้เกิดบริษัทที่นำเข้าหนังอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ตลอดจนโรงฉายก็ขยายตัวออกไปเพิ่มมากขึ้น

อุตสาหกรรมหนึ่งที่เติบโตมาควบคู่กันกับหนังอินเดีย คือ อุตสาหกรรมเพลง หลังจากหนังได้รับความนิยม เพลงประกอบภาพยนตร์ก็พลายได้รับความนิยมตามไปด้วยเช่นกัน ถึงขนาดมีการจัดรายการวิทยุที่เปิดเฉพาะเพลงอินเดียผ่านสถานีวิทยุทหารอากาศ ชื่อรายการเพลงภารตะ กระแสที่ภาพยนตร์อินเดียได้รับความนิยมมาถึงจุดสูงสุด ทำให้นักแสดงนำในสมัยนั้นเป็นที่รู้จักในประเทศไทย นางเองยอดนิยมในยุคนั้นคือ นีรูปารอย ส่วนพระเอก ได้แก่ ราชการ์ปู ราชกุมาร ดาราตลกคือ เมห์มูด และนางระบำยอดฮิต คือ เฮเลน ในยุคต่อมา พระ – นางของภาพยนตร์อินเดียยังคงเป็นที่รู้จักในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็น ราเยส คานนา มีนากุมารี เฮม่า มาลินี ซึ่งเป็นนักแสดงที่ได้รับความนิยมและเป็นที่กล่าวถึงมาตลอดเวลากว่าสิบปี

หากพิจารณาจากเนื้อหาของภาพยนตร์อินเดียที่เข้ามาสู่สังคมไทยในช่วงแรกที่มักเน้นแนวเทพเจ้า อภินิหาร ที่มีเนื้อเรื่องตื่นตาตื่นใจ ได้เห็นอิทธิฤทธิ์อภินิหารของบรรดาเทพเจ้า ข้อสังเกตที่น่าสนใจในช่วงต่อมา คือ เนื้อหาของภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมในเวลาต่อมาเริ่มเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในสังคมมากขึ้น และปัญหาที่ภาพยนตร์อินเดียนำเสนอล้วนเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย อาทิ การถูกเอารัดเอาเปรียบ ความอยุติธรรมในสังคม และนายทุนที่ข่มเหงเกษตรกร และการต่อสู้ของเกษตรกรกับภัยธรรมชาติ

ตัวอย่างของภาพยนตร์อินเดียที่ได้รับความนิยมสูงสุดเรื่องหนึ่ง คือ Mother India หรือที่มีชื่อภาษาไทยว่า “ธรณีกรรแสง” ภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นเรื่องราวชีวิตที่แสนเข็นของราธา หญิงชาวนายากจนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเศรษฐีจอมโกง แม่ของเธอนำที่ดินไปจำนองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในงานแต่งงาน วันหนึ่งสามีราธาประสบอุบัติเหตุต้องตัดแขนทั้งสองข้างกลายเป็นคนพิการ แล้วหายสาบสูญไป ราธาต้องเลี้ยงลูกตามลำพังอย่างแสนสาหัส ต่อมาลูกสาวคนเล็กเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมใหญ่ เหลือเพียงรานูและบียูลูกชายสองคนที่ต้องช่วยกันทำนาโดยไม่มีวัว ต้องใช้แรงของตนเองไถนา ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากยากแค้น เศรษฐีตั้งเงื่อนไขว่า หากราธาอยากมีฐานะดีขึ้น เธอต้องตกเป็นเมียเขา ราธาจำใจยอม แต่เมื่อถึงเวลาเธอเปลี่ยนใจกะทันหัน จึงต้องทนจ่ายผลผลิตที่ได้ 3 ใน 4 เพื่อเป็นดอกเบี้ยให้กับเศรษฐีมาโดยตลอด เมื่อรานูกับบียูโตเป็นหนึ่ง บียูทนไม่ไหวที่แม่ของเขาถูกเศรษฐีดูถูกเหยียดหยาม จึงหนึเข้าป่าและเป็นโจร[iii] สันนิษฐานว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถสะท้อนความรู้สึกร่วมกันระหว่างชนชั้นเกษตรกรรมของอินเดีย และไทย ที่ต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน คือ ความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ความอยุติธรรมในสังคม สภาพสังคมที่นายทุนเป็นใหญ่ ไม่สามารถพึ่งพากระบวนการของรัฐได้ เหล่านี้เป็นปัญหาของประเทศด้อยพัฒนาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ระบบทุนนิยมซึ่งสนับสนุนโดยรัฐ เอื้อให้นายทุน (เศรษฐี) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐ และสามารถใช้ความได้เปรียบนี้หาผลประโยชน์กับตัวเกษตรกรได้

ความสำเร็จของหนังอินเดียเรื่องนี้ในฐานะหนังชีวิตที่ครบรส กล่าวคือ มีส่วนผสมที่ลงตัวจากบทประพันธ์ การแสดงผ่านสีหน้า แววตา ท่าทาง น้ำเสียง และการพูดของนักแสดง และดนตรีประกอบ ทำให้ระยะเวลาการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ยาวนานติดต่อกันถึงกว่าสองเดือน “ธรณีกรรแสง” ถือเป็น ภาพยนตร์อินเดียเรื่องแรกที่ไม่ต้องใช้ฉากอภินิหาร ของวิเศษ เพื่อดึงดูดผู้ชม แต่เป็นที่พูดถึงผ่านเนื้อเรื่องที่เข้มข้น และการแสดงที่เข้าถึงบทบาท ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำรายได้เกิดหนึ่งล้านบาทในสมัยนั้น นอกเหนือจากลักษณะของภาพยนตร์อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จในประเทศไทย คือ ทีมพากย์เสียง การฉายภาพยนตร์สมัยนั้น จะต้องพากย์สดทุกรอบ และทีมพากย์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ รุจิรา – มารศรี นักพากย์ประจำโรงหนังศาลาเฉลิมกรุงที่สามารถสร้างความแตกต่างโดดเด่นจากทีมพากย์ของโรงอื่นด้วยการด้นสดร่วมไปกับภาพยนตร์ ทำให้ภาพยนตร์สนุกสนานครบรส ต่อมา การพากย์แบบด้นสดนี้เองกลายเป็นเสน่ห์ของภาพยนตร์อินเดียที่ฉายในประเทศไทย[iv]


[i] ภาณุ มณีวัฒนกุล, 2543, ตาดูตีนเดิน หน้า 68

[ii] สมสุข หินวิมาน. 2558. อ่านทีวีการเมืองวัฒนธรรมในจอโทรทัศน์.

[iii]ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว, 2555. บทวิจารณ์หนังสือ เพศจากธรรมชาติสู่จริยธรรมมนุษยศาสตร์สาร ปีที่ 13 ฉบับที่ 1.

[iv] ขอขอบคุณที่มาบทความ จตุพร สุวรรณสุขุม. 2561. กระแสนิยมอินเดียในประเทศไทย การเปลี่ยนผ่านจากภาพยนตร์สู่ซีรีสโทรทัศน์.

ขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/rawpixel-com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *