คัมภีร์ภควัทคีตา หัวใจพระเจ้า

มหาตมะคานธีได้อ้างถึง “คัมภีร์ภควัทคีตา” ว่า เป็นเครื่องปลอบประโลมใจในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้อแท้สิ้นหวัง เพื่อให้เกิดมานะ มีกำลังใจขึ้นอีกครั้ง คัมภีร์ภควัทคีตาเป็นที่รับรู้ภายใต้หนึ่งประโยคที่ว่า “จงรบเถิด! อรชุน” เป็นความขัดแย้งทางใจที่อยู่ระหว่างความโศกเศร้าและสงคราม

คัมภีร์เล่มนี้แทรกอยู่ในมหากาพย์ “มหาภารตะ” เนื้อหากล่าวถึงพี่น้องสองตระกูลระหว่างฝ่ายเการพกับฝ่ายปาณฑพ ซึ่งต้องทำสงครามแตกหักกัน ณ ทุ่งกุระเกษตร แล้วอรชุนเกิดความท้อแท้ใจที่จะต้องรบกับญาติพี่น้องจนสิ้นเรี่ยวแรงไม่อาจกระทำการได้อีก พระกฤษณะซึ่งเป็นเทพอวตารทำหน้าที่สารถีขับรถศึกให้กับอรชุน จึงได้แสดงธรรมอันปลุกเร้ากำลังใจ ซึ่งกลายมาเป็นคัมภีร์ภควัทคีตา แสดงวจนะของพระเจ้าเพื่อให้อรชุนก้าวพ้นความโศกเศร้า

ด้านหนึ่งจึงเป็นการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างอารมณ์ความรู้สึกกับความเป็นไปของสัจธรรม ซึ่งโดยถ้อยคำอาจสมมุติเรียกว่า “พระเจ้า” การอ่านคัมภีร์ภควัทคีตาเมื่อตอนเป็นวัยรุ่นกับตอนเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นการอ่านด้วยอารมณ์ความรู้สึกกับการอ่านด้วยความเข้าใจในสัจธรรม เช่นกัน

ตอนเป็นวัยรุ่นอาจอ่านคนมีเลือดลมร้อนแรง มุ่งปะทะ เอาชนะไม่ว่าเรื่องอะไร แล้วโน้มเอียงไปทางความคิดที่ว่า ต้องไม่ยอมท้อแท้ ไม่ยอมแพ้ ต้องสู้ อาจหาญกับอุปสรรค ต้องมีทีท่าเป็นนักรบต่อชีวิต บุกตะลุยไปข้างหน้า เพื่อทำตามความมุ่งหมายให้เป็นจริง เช่นเดียวกับที่พระกฤษณะบอกให้อรชุนจงรบเถิด จงทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เป็นภาพลักษณ์ของคัมภีร์ภควัทคีตามในความเข้าใจโดยทั่วไป คือ ปลุกเร้ากำลังใจของนักปฏิบัติ และคำสอนของพระกฤษณะก็ว่า ความตายเป็นเพียงแต่การผลัดรูปหรือละสังขารเดิมเท่านั้น

หลวงวิจิตรวาทการได้แปลช่วงตอนหนึ่งจากคัมภีร์ภคัวทคีตาไว้ในหนังสือ “ลัทธิโยคีและมายาศาสตร์” ในฐานะที่เป็นภาษิตสำคัญของ “โยคี” ว่า “บุคคลใดมีดวงจิตที่ไม่รู้จักหวั่นไหว และไม่รู้จักเสียใจ เป็นคนเที่ยงตรงอยู่เสมอ บุคคลผู้นั้น ธรรมชาติได้สร้างมาสำหรับมิให้ตาย”

“…คนที่เป็นผู้ฆ่าคิดว่า ได้ฆ่าคนตาย คนที่ถูกฆ่าคิดว่า ตัวเองตาย เขาทั้งสองคิดผิดทั้งสองคน ความจริงไม่มีใครฆ่า และไม่มีใครตาย เพราะผู้ที่ล่วงลับไปย่อมได้เกิดใหม่…” สำหรับอรชุนแล้ว คงหมายถึง การทำหน้าที่ของนักรบ โดยข้ามพ้นความเป็นตายของญาติพี่น้อง หรือแม้แต่อารมณ์ความรู้สึกอันโศกเศร้าของตัวเอง คงไม่ต่างจากคนเรายามที่ต้องทำในสิ่งที่ฝืนมโนธรรมไม่มากก็น้อย และพยายามหาเหตุผลเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดบาปมากนัก อรชุนได้เลือกศรัทธาต่อพระเจ้า เพื่อกระทำการในนามของพระเจ้า เป็นการก้าวข้ามตัวเองต่อ “รูป” หรือ “ชีวิต” ด้วยการเชื่อฟังพระเจ้าอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยใช้หน้าที่เป็นหลักยึดเหนี่ยว

ตลอดมาก็ยกอ้างคัมภีร์ภควัทคีตาในความหมายนี้ เป็นส่วนมากแทบไม่เคยรับรู้ในส่วนอื่น ๆ แง่หนึ่งทำให้มองการประหัตประหารในสงครามว่าไม่เป็นบาป หรือช่วยปลดเปลื้องความรู้สึกผิดบาป เพราะการอ้างหน้าที่ทำให้คนเราสามารถกระทำการได้ในนามของสิ่งที่สูงส่งกว่าตนอย่างเช่นพระเจ้าเป็นต้น

ปราชญ์บางท่านตั้งข้อสังเกตว่า คัมภีร์ภคัวัทคีตาสอดแทรกเข้ามาในมหาภารตะภายหลังด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อต้องการปลุกระดมผู้คนขึ้นมาเพื่อเป้าหมายในการทำสงคราม จำต้องอ้างว่า การฆ่าไม่เป็นบาปหากทำเพื่อหน้าที่

แต่ถ้าอ่านเพื่อใคร่ครวญถึง “พระเจ้า” หรือสัจธรรมอันจริงแท้ สิ่งที่พระเจ้าได้บอกกับอรชุน คือ อะไรกันแน่ คือ สาระชนิดใดที่จะปลดเปลื้องคนเราออกจากสภาวะขัดแย้งคับข้องต่อการกระทำที่ฝืนมโนธรรมของตัวเอง ต้องทำอย่างไรคนเราถึงจะไม่ต้องฝืนความรู้สึกกับความเป็นไปของชีวิตนั่นคงเป็นสภาวะที่ได้ “หลอมรวม” กับพระเจ้า หรืออาจหมายถึง ความสงบใจที่แท้จริง ปรัชญาในคัมภีร์ภคัวทคีตาแง่หนึ่ง จึงสอดรับกับลัทธิโยคี

อินทรายุธ (นายผี) ได้แปลคัมภีร์ภควัทคีตามในอีกอรรถรสหนึ่ง จะกล่าวถึง ตอนที่พระกฤษณะกล่าวไม่ให้อรชุนยึดมั่นในรูปสังขาร “เธอมาเป็นทุกข์ถึงเขาเหล่าโน้น ผู้หาควรเป็นทุกข์ถึงไม่ และยังกล่าวถ้อยอันเป็นปรัชญาวาทอีก อันเหล่าบัณฑิตนั้นจะเป็นทุกข์ถึงผู้ยังอยู่หรือผู้ตายไปแล้วก็เปล่า”

“…อันที่จริงตัวของเราหามีอยู่ไม่เลยไม่ว่าเมื่อไร ตัวเธอแลประดาชนาธิปทั้งหลายเหล่านี้ก็เหมือนกัน อันที่จริงต่อแต่นี้ไปเราทั้งปวงก็จะไม่มีเวลาสิ้นความเป็นอยู่ของเราอย่างใด ผู้ที่อาศัยอยู่ในร่างกายแปรไปสู่ร่างกายอันเป็นเด็ก หนุ่ม ชราอย่างนั้น เขาแปรไปสู่ร่างกายอื่น ผู้มีความมั่นคงหาเป็นทุกข์เพราะเหตุนั้นไม่…”

หากความจริงแล้วอรชุนมิได้ติดข้องแค่เรื่องการฆ่า ทว่าเขาเกิดความสงสัยต่อการดำรงอยู่ของตัวเอง และการดำรงอยู่ของพระเจ้าด้วย จากการกระตุ้นด้วยความเศร้าสลด ทุกข์ใจมากเมื่อไม่อาจข้ามพ้นห้วงแห่งอารมณ์ความรู้สึก แล้วพระเจ้าก็ได้กล่าวถึง วิธีที่จะทำให้ข้ามพ้นรูป หรือมายาทั้งปวง และเข้าถึง หรือหลอมรวมเข้ากับพระเจ้า นั่นคือ สภาวะไร้ซึ่งพันธนาการที่เกิดจากอารมณ์ทั้งปวง แล้วมุ่งไปสู่เงื่อนไขที่ต้องกระทำไปตามความเหมาะสมในห้วงสถานการณ์นั้น ๆ โดยปราศจากความต้องการของตัวเอง

กำลังใจของอรชุนไม่ได้อยู่เพียงการพ้นจากห้วงความเศร้า หรือความรู้สึกผิดบาป แต่พระกฤษณะได้ไขข้อข้องใจต่อการดำรงอยู่ที่เชื่อมโยงเข้ากับความเป็นไปที่เหมาะสม หากว่า แง่หนึ่งของพระเจ้า ก็คือ ความเป็นไปเช่นนั้นเอง เมื่ออรชุนสามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับความเหมาะสม นับว่า หมดความสงสัยแล้ว จึงทำตามหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์

การจะเข้าถึงซึ่งความเป็นไปที่เหมาะสมต้องตัดอัตตาของตัวเองออกจากผลของการกระทำ มาบรรจบที่วิถีของการปฏิบัติโยคะ ซึ่งกล่าวถึงในคัมภีร์ภควัทคีตาว่า “ที่นี้จงสดับที่กล่าวไว้ในบทที่ว่าด้วยโยคบ้าง ย้อมด้วยคำสั่งสอนนั้น อาปารถ เธอจักปลดเปลื้องจากพันธแห่งกรรมทั้งปวง”

บทนี้พระกฤษณะกล่าวว่า ถ้อยคำในพระเวทนั้นไม่อาจเข้าถึงความรู้แจ้ง หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ต้องผ่านการปฏิบัติเท่านั้น จึงจะข้ามพ้นรูป หรือความเป็นกาย ด้วยความใคร่ในตัวตน มีสวรรค์เป็นที่มุ่งมาตร พระเวทนั้นชักว่า ความเปิดเป็นผลแห่งกรรม และบัญญัติพิธีกรรมหลายอย่างต่างชนิดในการที่จะได้มาซึ่งความสุข แลความเป็นเจ้าเป็นใหญ่

“…อันพระเวทประกอบด้วยลักษณะสาม เธอจงอยู่เหนือลักษณะทั้งสามนี้เถิด อรชุนเอย จงพ้นจากคู่ตรงข้าม ยึดมั่นอยู่เสมอในสัตตว ปลดเปลื้องความไยดีเกี่ยวข้อง ถึงซึ่งอาตมัน…”

ตอนหนึ่งอรชุนถามต่อพระกฤษณะว่า “…โยคซึ่งท่านได้กล่าวนี้ เป็นเรื่องความสม่ำเสมอของใจมธุสูทเอย เนื่องจาก ความแปรปรวนนั้น ข้ามองไม่เห็นซึ่งภาวะอันมั่นคง..เพราะใจนั้นย่อมปรวนแปรนัก กฤษณะเอย ทั้งหยาบคาย กระด้างหนา นั้นข้าเห็นว่า ย่อมเป็นดั่งลม ยากเหลือจะทำได้…”

พระกฤษณะตอบต่ออรชุนว่า “ไม่ต้องสงสัย นี่แน่ะ มหาพาหุว่า ใจนั้นย่อมยากที่จะบังคับแลย่อมแปรปรวน แต่นั่นก็ย่อมคร่าไว้ได้ ดูกรฏดนไตย ด้วยการฝึกแลด้วยความสิ้นกำหนัด ตนซึ่งมิได้บังคับอยู่แล้ว ย่อมอาจได้มาด้วยอุบายอันดี”

แท้แล้วพระกฤษณะมิได้เปล่งวจนะเพื่อปลุกเร้าใจให้อรชุนกระทำการรบเท่านั้น ทว่าได้ประกาศซึ่งหนทางแห่งการข้ามพ้นใจ เพื่อเข้าสู่สมาธิด้วยวิถีของการปฏิบัติโยคะ พระกฤษณะได้ประกาศซึ่งการฝึกตนของโยคี เพื่ออยู่ในสภาวะเดียวกับพระเจ้า หรือพรหมมัน เป็นสภาวะที่ปราสจากความสงสัยใด ๆ เพ่งจิตจดจ่ออยู่กับความสงบอันมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปด้วยอารมณ์ใด ๆ อรชุนโศกเศร้า เพราะมิอาจถอนอาลัย เมื่อมิอาจถอนอาลัยก็ไม่อาจทำหน้าที่ของนักรบ

ตอนประสบการณ์ชีวิตยังน้อย มักอ่านเพียงระดับเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการยึดติดกับการกระทำ หรือการประกอบกรรม เช่นเดียวกับการเปล่งเสียงปลุกเร้า “รบเถิด! อรชุน” แต่ที่ข้ามไม่ได้ คือ ความรู้สึกภายในของตัวเรา บางทีเราก็ยุงยงให้คนอื่นเป็นอรชุนเพื่อตัวเอง หรือแม้แต่เป็นอรชุนเสียเอง เอาความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไปฝากไว้กับคนอื่นในนามของพระเจ้า แต่แท้แล้วมาจากจิตใจของเราเอง

ความเข้าใจต่อชีวิตตามกาลเวลาที่ผันผ่าน บางครั้งอาจปรากฏความหมายอย่างที่พระกฤษณะแสดงรูปกายของพระเจ้าให้เห็น แล้วอรชุนเกิดความหวาดหวั่น ขอกลับไปเห็นพระเจ้าในรูปลักษณ์ที่ใกล้เคียงมนุษย์ดังเดิม ถ้าพระเจ้า หมายถึง ความเป็นไปที่เหมาะสม การเข้าถึง หรือหลอมรวมกับพระเจ้าก็ย่อมหมายถึง ความเหมาะสม และการกระทำในสิ่งที่เหมาะสม และมีเพียงการกระทำที่เหมาะสมเท่านั้น จึงจะไม่โศกเศร้า

ขอขอบคุณที่มาบทความ แกะรอยคัมภีร์ฉบับคนกันเอง ภาค 2 ประมวลยอดคัมภีร์ธรรมะ โดย เอื้อ อัญชลี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *