คัมภีร์พระเวท ปกครองด้วยปกรณ์ม

เมื่อชาวอารยันสมัยโบราณรบชนะชนเผ่าพื้นเมืองในอินเดียได้แล้ว ผสมผสานแนวคิดในทางศาสนาและการปกครอง กลายมาเป็น “คัมภีร์พระเวท” ซึ่งเป็นเหมือนกฎระเบียบข้อบังคับที่ต้องเชื่อฟัง และปฏิบัติตาม มรดกของคัมภีร์พระเวทยุคแรกที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน คือ ระบบชนชั้นวรรณะ อันประกอบไปด้วย วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพศย์ และวรรณะศูทร

วรรณะพราหมณ์เป็นชนชั้นของผู้เข้าถึงพระเวท ซึ่งอ้างว่า เป็นความรู้ที่มาจากเทพเจ้า แบ่งเป็นคัมภีร์พระเวททั้ง 4 ได้แก่ 1) ฤคเวท – บทสวดสรรเสริญเทพเจ้า 2) ยชุรเวท – คู่มือการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของพราหมณ์ 3) สามเวท – บทเพลงแห่กล่อมเทพเจ้า และ 4) อาถรรพเวท – คาถาอาคมต่าง ๆ ซึ่งพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ มีบทบาทมากที่สุดในคัมภีร์พระเวทยุคแรก

อย่างไรก็ดี ความสงสัยใหม่ ๆ หรือการเรียนรู้ใหม่ ๆ ย่อมเกิดขึ้นเสมอเกิดการวิเคราะห์ค้นคว้าใฝ่หาแนวคิดและความเข้าใจใหม่ ๆ จากคัมภีร์เดิม และเกิดเป็นคัมภีร์ที่อธิบายพระเวทด้วยแนวคิดที่แตกต่างกันออกไป

คัมภีร์ที่ถือว่า เป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งก็คือ “อุปนิษัท” นับเป็นคัมภีร์พระเวทในยุคหลัง นำเสนอพระเจ้าในรูปแบบที่ต่างจากเทพเจ้าในคัมภีร์ พระเวทยุคแรกซึ่งมีหลายองค์ และก็มีรูปลักษณ์ และเรื่องราวเหมือนมนุษย์ทว่า พระเจ้าในคัมภีร์อุปนิษัทได้กลายมาเป็นความจริงสูงสุดที่มีเพียงหนึ่งเดียว และเป็นอมตะ หรือเรียกว่า “พรหมมัน” เป็นพระเจ้าที่เป็นสภาวะข้ามพ้นจากทุกสิ่ง และอยู่เหนือทุกอย่าง และทุกสรรพสิ่งรวมถึงตัวตนของเราก็เป็นส่วนหนึ่งของพรหมมันด้วย ดังนั้น เราจึงสามารถกลับคืนสู่พรหมมัน หรือหลอมรวมกับพระเจ้า ซึ่งเป็นสภาวะที่อยู่เหนือทุกสิ่ง หรือพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

ผลจากแนวคิดเรื่องพระเจ้าที่เปลี่ยนไปทำให้เกิดสถานะใหม่ในยุคหลังคือ “โยคี (ฤษี)” ซึ่งมุ่งบำเพ็ญเพียรจนเกิดตบะฌานมีฤทธิ์เดช โยคี คือ ผู้ที่สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้เองผ่านการปฏิบัติ โดยไม่ต้องใช้พราหมณ์เป็นสื่อกลางในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งแนวคิดนี้มีพลังจนทำให้เทพเจ้าบางองค์ต้องมีสถานะเป็นโยคีด้วย เช่น พระศิวะที่เป็นเทพเจ้าของเหล่าโยคี เป็นต้น

ปกรณัมในคัมภีร์พระเวทที่เคยมีเรื่องของเทพเจ้า พราหมณ์ หรือกษัตริย์ จึงมีโยคีแทรกเข้ามาด้วย การรวบรวมปกรณัมพราหมณ์ – ฮินดู ในหนังสือ “ภารตนิยาย” โดย ศ.ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เป็นเรื่องเล่า 100 เรื่องที่นำมาจากคัมภีร์พระเวทในสมัยต่าง ๆ พอจะมองเห็นได้ว่า เรื่องไหนมาจากพระเวทยุคแรกหรือพระเวทยุคหลัง จากสองความเชื่อระหว่างความภักดีในชนชั้นวรรณะ กับพลังอิสระของฤษี – โยคีผู้ฝึกตน ยกตัวอย่างเรื่อง “เอกลัพย์” ซึ่งได้สะท้อนแนวเนื้อหาในเรื่องความภักดีต่อระบบชนชั้นวรรณะอย่างแจ่มชัด และเรามักจะคุ้นเคยกับเรื่องของ “อรชุน” จากมหากาพย์ภารตะ และรู้ว่า วิชายิงธนูของเขาจัดออยู่ใน “ขั้นเทพ” เพราะถือเป็นศิษย์เอกเพียงคนเดียวของพราหมณ์โทรณาจารย์

ทว่ายังมีเรื่องราวอื่น ๆ ที่อยู่ในคัมภีร์พระเวทฉบับต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมร้อยสัมพันธ์ถึงกัน อย่างเช่น เรื่องของ “เอกลัพย์” เอกลัพย์เป็นลูกชายหัวหน้าเผ่าคนเถื่อนที่พำนักอยู่ในป่า มีฝีมือธนูสูงส่ง เป็นที่ครั่นคร้ามเกรงขามเหนือคนในเผ่า แต่ก็เพียงมีชื่อเสียงอยู่ในป่าเท่านั้น เอกลัพย์มีความปรารถนาที่จะได้เป็นศิษย์ของโทรณาจารย์ เพื่อจะได้เป็นหนึ่งในศาสตร์การยิงธนู เขาจึงเดินทางออกจากป่า และในที่สุดก็ได้พบโทรณาจารย์ และได้แสดงฝีมือการยิงธนูของตน ซึ่งแม้แต่โทรณาจารย์ก็ยังยอมรับ

โทรณาจารย์ถามว่า เจ้าเป็นเชื้อสายกษัตริย์วงศ์ใด เอกลัพย์ตอบว่า ไม่ใช่เชื้อสายกษัตริย์แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงชาวป่าที่แสวงหาอาจารย์ดี ฟังดังนั้น โทรณาจารย์ก็โล่งอก เพราะในใจนั้นรักในฝีมือของเอกลัพย์ยิ่งนัก แต่เพราะเอกลัพย์ไม่ใช่เชื้อสายกษัตริย์ เขาจึงรับเป็นศิษย์ไม่ได้ เพราะพราหมณ์นั้นมีหน้าที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่คนในวรรณะกษัตริย์เท่านั้น และโทรณาจารย์ก็เป็นอาจารย์ของเจ้าชายแห่งปาณฑพทั้งห้า โดยมีอรชุนเป็นศิษย์เอกที่จะสืบทอดวิชาธนูชั้นเอกไปจากอาจารย์แต่เพียงผู้เดียว เอกลัพย์จึงได้เดินทางกลับสู่ป่า ขอเพียงยึดถือโทรณาจารย์เป็นอาจารย์ของตน และปั้นรูปเคารพไว้ทำการสักการะบูชา

ต่อมา เจ้าชายแห่งปาณฑพทั้งห้าพากันท่องเที่ยวล่าสัตว์มาจนถึงป่าที่เอกลัพย์พำนัก สุนัขล่าเนื้อเห็นเอกลัพย์นั่งสมาธิอยู่ก็กระโจนปรี่เข้าไปหมายจะกัด ทว่าเอกลัพย์หยิบธนูในชั่วพริบตา ปากของสุนัขมีธนูง้างอยู่ 7 ดอก อรชุนเห็นดังนั้น ก็ทราบได้ทันทีว่า เจอเทพธนูที่มีฝีมือเหนือกว่าตนเข้าให้แล้ว เหลือบไปเห็นรูปปั้นโทรณาจารย์เข้า เอกลัพย์ก็แจ้งว่า เป็นผู้ซึ่งตนสักการะเป็นอาจารย์

กลับเข้าเมือง อรชุนเร่งไปพบกับโทรณาจารย์เพื่อตัดพ้อต่อว่า เพราะเข้าใจว่า อาจารย์แอบถ่ายทอดวิชาเอกแห่งธนูให้กับชาวป่าอย่างเอกลัพย์ ซึ่งทำให้เขาหาใช่จอมขมังธนูอันดับหนึ่งอีกต่อไป แล้วโทรณาจารย์ก็ว่า อย่าได้วิตกกังวลไปเลย เพราะถึงอย่างไรอรชุนก็เป็นศิษย์เอก และจะเป็นหนึ่งเดียวในแผ่นดินที่หาผู้ทัดเทียมเชิงธนูมิได้เลย

ต่อมาโทรณาจารย์จึงได้ไปพบกับเอกลัพย์ยังป่าที่พำนัก เอกลัพย์ต้อนรับขับสู้ด้วยความปลื้มปีติ แล้วโทรณาจารย์ก็ว่า หากเจ้าเห็นว่าข้าเป็นอาจารย์แล้ว ข้าย่อมมีสิทธิเรียกสิ่งอันเป็นคุรุทักษิณา หรือค่าบูชาครูจากศิษย์ เอกลัพย์มิได้บ่ายเบี่ยงเลย ออกปากว่า อาจารย์เรียกร้องสิ่งใดก็จะหามาให้ท่าน แล้วโทรณาจารย์ก็เอ่ยปากขอนิ้วหัวแม่มือข้างขวาจากเอกลัพย์เป็นคุรุทักษิณา แทบไม่ต้องคิด เอกลัพย์คว้าดาบมาตัดฉับเข้าที่นิ้วหัวแม่มือข้างขวา

เห็นภาพนั้น โทรณาจารย์ก็ต้องกลั้นน้ำตา และได้แต่ย้ำถึงหน้าที่อันพึงมีของตัวเองว่า อรชุนจะต้องเป็นเอกในฝีมือธนูแต่เพียงผู้เดียว ถ้าไม่ทำแบบนี้ วันหน้าจะเกิดการชิงดีชิงเด่นขึ้นมาได้ จึงต้องหักใจทำลายศิษย์คนหนึ่งเพื่อศิษย์อีกคนหนึ่ง แล้วโทรณาจารย์ก็จากไปพร้อมกับอนาคตที่ไม่มีเหลืออยู่อีกแล้วสำหรับเอกลัพย์ในฐานะยอดนักธนูเอก

เรื่องของเอกลัพย์ก็เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ เรื่องที่มีแก่นอยู่ที่ “ความภักดี” และมีแนวโน้มว่า จะเป็นเรื่องเล่าในพระเวทยุคแรก เพราะได้สะท้อนถึงความภักดีของพราหมณ์โทรณาจารย์ที่มีต่อวรรณะกษัตริย์ หรือความภักดีของเอกลัพย์ที่มีต่ออาจารย์ เช่นเดียวกับการยอมรับในระบบชนชั้นวรรณะ ซึ่งต้องผ่านพิธีกรรมของพราหมณ์ให้เข้าถึงความรู้แจ้ง และยังต้องยอมสละทุกอย่าง เช่นเดียวกับเอกลัพย์ที่ยอมสละนิ้วมือและความสามารถของตัวเองเพื่อแสดงความภักดีต่ออาจารย์

วิถีโยคีจึงเป็นอิสระที่มีสถานะอยู่นอกระบบชนชั้นวรรณะ ด้วยเสรีภาพในการเข้าถึงสภาวะของเทพ จำเป็นอยู่เองที่โยคีต้องข้ามพ้น เริ่มจากการพ้นจิตของตัวเอง จากนั้น จึงข้ามพ้นสิ่งที่อยู่ภายนอก รวมทั้งระบบชนชั้นวรรณะ ด้วยเข้าถึงสภาวะของเทพแล้ว

ดังนั้น ในปกรณ์มหลาย ๆ เรื่องจึงเป็นเรื่องของเทพเจ้าที่ต้องคอยตามทำลายการบำเพ็ญของโยคี เช่น พระอินทร์ที่ต้องส่งนางอัปสรมาทำลายตบะฤษีอยู่เนือง ๆ เพราะหากปล่อยให้มีฤทธิ์แก่กล้า พระฤษีจะมีวาจาเป็นอาญาสิทธิ์ สาปแช่งใครก็ได้ หรือไม่ก็เล่าถึงผู้บำเพ็ญพรตที่เกือบจะข้ามพ้น แต่มีบางอย่างมาทำให้มิอาจข้ามพ้น เช่นเรื่อง “ภรต” ซึ่งเป็นพระราชาที่เกิดเบื่อหน่ายโลก และมุ่งสู่ป่าเพื่อบำเพ็ญเพียร จนเกือบจะหลุดพ้นอยู่แล้ว ทว่าเกิดมีใจเวทนาสงสารต่อลูกกวางน้อยที่พลัดจากอกแม่แต่แรกเกิด พระฤษีภรตจึงต้องกลับมาเกิดใหม่อีกหลายชาติภพ เหตุเพราะอารมณ์รักใคร่ผูกพันนั่นเอง ทำให้เห็นว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องของใจและการข้ามพ้นใจเท่านั้น

ปกรณัมพอจะให้เค้าลางของรูปแบบการกำหนดกฎเกณฑ์ในโลกยุคโบราณที่ใช้จัดระเบียบสังคม ซึ่งการจรรโลงความเชื่อผ่านเรื่องเล่า พราหมณ์เป็นผู้เล่าเรื่องของเทพเจ้าต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อกล่อมเกลาผู้คนให้อยู่ในความเชื่อ รวมถึงเป็นผู้จรรโลงไว้ซึ่งสถานะของการปกครองโดยการควบคุมปวงชนไว้ด้วยพลังที่มองไม่เห็นของเทพเจ้า ต่อมาก็มีการเล่าเรื่องในแบบอื่น ๆ ที่แตกต่างออกไป ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อและการปกครองที่แตกต่าง เล่าเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ยาวนาน กระทั่งถึงเวลาหนึ่งก็มีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย เช่น คัมภีร์พระเวทที่มีการแบ่งเป็นคัมภีร์พระเวทยุคต่าง ๆ และมีความพยายามที่จะแก้ไขในค่านิยมเก่า ผ่านการอธิบายพระเวทด้วยแนวคิดใหม่ ๆ

คัมภีร์พระเวทในยุคหลัง มีแนวคิดที่ก้าวหน้าเกี่ยวกับพระเจ้าซึ่งอยู่ในสภาวะเดียวกับจักรวาล หรือพรหมมัน รวมถึงเชื่อมร้อยเอาความดำรงอยู่ของมนุษย์ เทพเจ้า โลก และสวรรค์เข้าไว้ด้วยกัน และเกิดสถานะใหม่ของผู้ที่อยู่พ้นระบบชนชั้น ซึ่งก็คือ “นักพรต” ที่มุ่งบำเพ็ญเพียรเพื่อความหลุดพ้นอย่างโยคีหรือฤษีซึ่งปรากฏในปกรณัมว่า มีฤทธิ์อำนาจมาก และสามารถสาปแช่งเทพก็ได้ เพราะถือว่า การบำเพ็ญนั้นนำไปสู่สภาวะที่สูงกว่าความเป็นเทพเจ้า คือ สามารถหลอมรวมเข้ากับพรหมมันได้โดยวิถีของโยคะหรือการปฏิบัติด้วยตนเอง หรือในระดับชาวบ้านก็มีทางเลือกจากความภักดีต่อเทพเจ้าที่พึงเคารพบูชา มาเป็นการอุทิศตนให้กับการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพรหมมันด้วยตนเอง โดยที่ความเชื่อทั้งสองแนวทางมิได้หักล้างกันแต่อย่างใด กลับประสมประสานกันอยู่ภายใต้อารยธรรมอินเดีย

ขอขอบคุณที่มาบทความ แกะรอยคัมภีร์ฉบับคนกันเอง ภาค 2 ประมวลยอดคัมภีร์ธรรมะ โดย เอื้อ อัญชลี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *