5971970_21550 (1)

ภาพยนตร์อินเดียขนาด 35 มม. ที่สร้างปรากฏการณ์การฉายยาวนานที่สุด คือ ภาพยนตร์เรื่อง “ช้างเพื่อนแก้ว” ภาพยนตร์นอกสายตาที่ไม่มีบริษัทใดนำเข้ามาฉาย แต่ผู้นำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาในประเทศกลับเป็นนักพากย์ภาพยนตร์ คือ “คุณทิวาราตรี” ซึ่งเมื่อเข้าฉายภาพยนตร์ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย ทำให้ผู้นำเข้ากลายเป็นมหาเศรษฐี ภาพยนตร์เรื่องนี้มีดารานำยอดนิยมในสมัยนั้นร่วมแสดงด้วย คือ “ราเยส คานนา” แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่หลังจากการเปลี่ยนแปลงจากฟิล์มขนาด 16 มม. มาเป็นฟิล์มขนาด 35 มม. ได้เพียงไม่ถึงสิบปีกระแสความนิยมภาพยนตร์อินเดียก็เริ่มเสื่อมลง

จากบทสัมภาษณ์ทูตวัฒนธรรมประจำสถานทูตอินเดียในหนังสือตาดูตีนเดิน (2543) พบว่า ความเสื่อมถอยของกระแสนิยมอินเดียเกิดขึ้น หลังจากภาพยนตร์อินเดียได้รับความนิยมมายาวนานเกือบ 20 ปี ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความนิยมมาจากนโยบายการเก็บค่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ของผู้ส่งออกหนังในประเทศอินเดีย และสภาพสังคมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของภาพยนตร์อินเดียเอง และการเข้ามาของคู่แข่งจากประเทศอื่น ๆ

ในส่วนของการเก็บค่าลิขสิทธิ์ ประเทศอินเดียมีกฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ในสินค้าประเภทภาพยนตร์และเพลงตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2500 ซึ่งในช่วงแรกการเก็บค่าลิขสิทธิ์เป็นไปตามเกณฑ์ปกติ แต่เนื่องจากกระแสความนิยมของภาพยนตร์อินเดียในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริษัทผู้ส่งออกภาพยนตร์ในประเทศอินเดียขึ้นค่าลิขสิทธิ์ จนทำให้ผู้นำเข้าในเมืองไทยไม่สามารถนำภาพยนตร์อินเดียเกรดที่มีค่าลิขสิทธิ์เข้ามาฉายได้ เนื่องจาก ไม่คุ้มทุนนั่นเอง จึงมีการนำเข้าภาพยนตร์เกรดรองลงมาที่มีค่าลิขสิทธิ์ต่ำกว่าเข้ามาฉาย แต่คุณภาพของภาพยนตร์และดารานำแสดงที่ไม่เป็นที่รู้จัก จึงไม่เกิดกระแสความนิยม ทำให้ประสบปัญหาขาดทุน ผู้ชมไม่ประทับใจในภาพยนตร์อินเดียเช่นเดิม

นอกเหนือจากนโยบายในประเทศอินเดียแล้ว นโยบายของภาครัฐบาลในประเทศไทยก็ยังเพิ่มภาระการจ่ายภาษีนำเข้าอีกระดับหนึ่ง แต่ในสมัยแรก ๆ การนำเข้าภาพยนตร์อินเดียมีการเรียกเก็บอัตราภาษีที่ค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ การนำเข้าภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง เสียค่าอากรภาษีเพียงครั้งเดียว แต่เมื่อความนิยมมีสูงขึ้นได้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ ภาครัฐบาลในสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มีนโยบายผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ จึงออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ผ่านมาตรา 49 ซึ่งกล่าวว่า เพื่อให้ความคุ้มครองกิจการของผู้ได้รับการส่งเสริม คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้ามาในราชอาณาจักรในกรณีที่จำเป็น ผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลชนิดเดียวกันคล้ายคลึงกัน หรือทดแทนกันได้กับที่ผู้ได้รับการส่งเสริมผลิตหรือประกอบในอัตราที่เห็นสมควร คณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจพิจารณา และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด จากการพิจารณาของคณะกรรมการดังกล่าวเห็นว่า การนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน คล้ายคลึงกัน หรือทดแทนกันได้กับผลิตภัณฑ์ที่ผู้ได้รับการส่งเสริม จึงเป็นที่มาของการประกาศขึ้นภาษีการนำเข้าฟิล์มภาพยนตร์ที่ถ่ายทำแล้ว โดยปรับอัตราภาษีจาก 2 บาทต่อเรื่องเป็น 30 บาทต่อเมตรต่อเรื่องตามที่คณะกรรมการได้พิจารณา นโยบายสนับสนุนภาพยนตร์ไทยแบบสุดขั้วนี้เอง ทำให้บริษัทที่นำเข้าภาพยนตร์อินเดียหลายบริษัทเริ่มประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจาก รายได้ของการฉายภาพยนตร์ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จึงมีการนำเข้าภาพยนตร์อินเดียน้อยลง

ในส่วนของเนื้อหาภาพยนตร์และสภาพสังคมไทย แต่เดิมเอกลักษณ์เฉพาะตัวของภาพยนตร์อินเดีย คือ เนื้อหาการดำเนินเรื่องที่เข้มข้นครบทุกรสชาติ แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป รูปแบบความบันเทิงเดิมเริ่มไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ดังนั้น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอินเดียจึงต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน เนื้อหาของภาพยนตร์ที่สะท้อนภาพความเป็นจริงในสังคม จึงต้องปรับมาเป็นเนื้อหาที่ตามกระแสบริโภคนิยม อย่างไรก็ตาม การวางตัวบทที่เน้นเรื่องราวของวัยรุ่น แทนเรื่องราวของหนังแนวชีวิต ทำให้หนังอินเสดียไม่สามารถสู้คู่แข่งจากทางฝั่งตะวันตกที่มีความเชี่ยวชาญการผลิตภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาแบบนี้ได้ ปัจจัยนี้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศอินเดีย ผ่านความพยายามหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อสู้กับการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก อาจกล่าวได้ว่า การแข่งขันนี้เอง ทำให้ภาพยนตร์อินเดียสูญเสียอัตลักษณ์เดิม ซึ่งได้รับความนิยมในประเทศไทย อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการดูภาพยนตร์อินเดีย คือ สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ชมมีเวลาให้กับความบันเทิงน้อยลง แต่ภาพยนตร์อินเดียซึ่งแต่เดิมมีความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ชั่วโมง เยิ่นเย้อยาวนาน เมื่อเทียบกับภาพยนตร์จีนและฝรั่ง เนื้อหาที่แปลกใหม่น่าสนใจ และกระแสความนิยมในตัวดารานำทำให้ภาพยนตร์จีนได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าเป็นอย่างมาก ภาพยนตร์จีนเริ่มเข้าในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2493 แต่ยังไม่ได้รับความนิยม เนื่องจาก สู้กระแสนิยมจากภาพยนตร์อินเดียไม่ได้ ตลอดจนไม่มีตัวแทนนำเข้าอย่างชัดเจน ทำให้ขาดความหลากหลายจนถึงปี พ.ศ. 2510 กระแสความนิยมเริ่มมีมากขึ้น โรงภายนตร์เริ่มทยอยหยุดฉายภาพยนตร์อินเดียอย่างต่อเนื่อง โรงภาพยนตร์สุดท้ายที่ฉายภาพยนตร์อินเดีย คือ โรงภาพยนตร์ควีนส์

การลดจำนวนโรงภาพยนตร์ที่ฉายภาพยนตร์อินเดียนี้เอง ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการหายไปของภาพยนตร์อินเดีย เพราะตั้งแต่ปี 2510 มีการนำเข้าภาพยนตร์จีนจากค่ายซอร์ บราเดอร์ ผู้ได้ลิขสิทธิ์ชาวไทย คือ ค่ายนิวโอเดีย ส่วนภาพยนตร์ฝรั่งนำเข้าโดยตรงจากพาราเมาท์ ภาพยนตร์ญี่ปุ่นนำเข้าโดยแทปปิตอลฟิล์ม ต่อมาโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ได้ทำความร่วมมือกับผู้นำเข้าเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการนำภาพยนตร์เข้ามาฉาย ภาพยนตร์อินเดียไม่มีผู้นำเข้า บริษัทใดร่วมทำข้อตกลงนี้กับทางโรงภาพยนตร์ ทำให้ภาพยนตร์อินเดียพลาดโอกาสที่จะเพิ่มอำนาจการต่อรองกับโรงภาพยนตร์ จึงเป็นผลให้ช่องทางการเข้าโรงภาพยนตร์ในยุคต่อ ๆ มานั้นยากขึ้น มีเพียงหนังฟอร์มใหญ่ ๆ เท่านั้น ที่สามารถฝ่าด่านการคัดภาพยนตร์เข้ามา อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการฉายภาพยนตร์อินเดียเหล่านี้สั้นมาก หากภาพยนตร์ไม่ได้รับกระแสตอบรับในช่วงสัปดาห์แรก ปัจจัยเหล่านี้เองเป็นอุปสรรคที่ทำให้ภาพยนตร์อินเดียไม่ได้รับความนิยมต่อไป ในต่างจังหวัด ภาพยนตร์อินเดียที่ต้องพึ่งพาสายหนัง ซึ่งโดยทั่วไปจะซื้อภาพยนตร์ไทยไปฉายตามโรงภาพยนตร์ต่างจังหวัด เมื่อภาพยนตร์อินเดียได้รับความนิยม สายหนังก็ยังคงจะมีกำลังซื้อภาพยนตร์อินเดียไปฉายด้วย แต่ข้อแตกต่างที่ทำให้เกิดปัญหาด้านรายจ่าย คือ หากจะฉายภาพยนตร์อินเดียสายหนังจะต้องจ้างนักพากย์เพิ่ม ดังนั้น ในการตระเวนฉายภาพยนตร์ในแต่ละรอบเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งเดือน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม เมื่อภาพยนตร์อินเดียไม่มีกระแสความนิยมทางสายหนังจึงตัดภาระในการจ้างนักพากย์ออกไป ทำให้สายหนังเลือกที่จะซื้อเฉพาะภาพยนตร์ไทยไปฉาย

จากสภาพสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ภาพยนตร์อินเสดียไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ทำให้ไม่มีการประชาสัมพันธ์อย่างเช่นภาพยนตร์ประเภทอื่น เมื่อการประชาสัมพันธ์ขาดช่วง จึงไม่มีการกระตุ้นให้เกิดกระแสความสนใจ ภาพยนตร์อินเดียจึงค่อย ๆ ลดความนิยมลงทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด และการเปลี่ยนแปลงของโรงฉาย ซึ่งเป็นช่องทางเดียวที่ทำให้คนไทยรู้จักภาพยนตร์อินเดียมีจำนวนลดลง และการที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์กลายเป็นตลาดที่เน้นกลุ่มวัยรุ่น ทำให้กลุ่มคนดูภาพยนตร์เปลี่ยนไป ภาพยนตร์จีน และภาพยนตร์ตะวันตกได้รับความนิยมมากขึ้น การตลาดที่อาศัยภาพลักษณ์และความต่อเนื่องเป็นสำคัญ ผลักดันให้ภาพยนตร์อินเดียมีภาพลักษณ์ชั้นสาม คือ รองทั้งฝรั่ง และจีน แม้ในช่วงที่ภาพยนตร์อินเดียห่างหายไปจากโรงภาพยนตร์ แต่ก็ยังมีการนำภาพยนตร์อินเดียมาฉายเป็นรายการพิเศษในวันหยุดนักขัตฤกษ์ อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์รุ่นใหม่ที่นำเข้าโดยช่องโทรทัศน์นี้ นำเสนอภาพของภาพยนตร์อินเดียในรูปแบบเหมือน ๆ กัน คือ เป็นภาพยนตร์ที่ต้องร้องเพลงตามภูเขา หลบหลังต้นไม้ ภาพจำของภาพยนตร์อินเดียในสังคมไทยจึงมีข้อจำกัด ต่อมาช่องโทรทัศน์เหล่านี้ ก็เปลี่ยนการฉายภาพยนตร์อินเดียเป็นรายการอื่นมาแทนที่ ความทรงจำของภาพยนตร์อินเดียในไทยในปัจจุบันจึงเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์อินเดียในโทรทัศน์ในระยะเวลาสั้น ๆ[i]


[i] ขอขอบคุณที่มาบทความ จตุพร สุวรรณสุขุม. 2561. กระแสนิยมอินเดียในประเทศไทย การเปลี่ยนผ่านจากภาพยนตร์สู่ซีรีสโทรทัศน์.

ขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/free-vector/india-map_5971970.htm#query=India&position=25&from_view=search#position=25&query=India

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *