ความเชื่อในโหราศาสตร์ไทย

จากข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของ “โหราศาสตร์ไทย” นั้นเกี่ยวโยงมาจากศาสนา และเป็นที่ทราบกันดีว่า “โหราศาสตร์” ได้รับอิทธิพลมาจากโหราศาสตร์อินเดียหรือที่เรียกกันว่า “โชติยศาสตร์” ซึ่งสาขาหนึ่งในบรรดา 18 ศาสตร์ที่พระพุทธเจ้าเคยเรียนเมื่อครั้งเป็นพระราชกุมาร แต่อย่างไรก็ตามโหราศาสตร์ไทยก็ยังไม่เหมือนของอินเดีย โดยทีเดียว เพราะไทยไม่ได้รับโดยตรงจากอินเดีย แต่ได้รับสืบทอดต่อจากพม่าและมอญ ผู้ที่เรียนวิชานี้ก็คือ ผู้ที่อยู่ในวังและพระสงฆ์ จากหลักฐานที่พอเป็นตัวอย่าง คือ ศิลาจารึก วัดป่ามะม่วง ด้านที่สองมีคำกล่าวสรรเสริญพระปัญญาของพระยาลิไทยว่า “เรียนพระวินัย พระอภิธรรม โดยโลกาจารย์มีพราหมณ์แลดาบส” เนต้น สมเด็จบพิตรทรงพระราชบัญญัติคัมภีร์ เพทศาสตราคม ธรรมนิยม มีโชคศาสตร์ (ตำราโหร) เป็นต้น โหราศาสตร์ไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตน โดยนำความเชื่อในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้[1]

  1. ภาคคำนวณ เป็นเรื่องของการคำนวณตัวเลข การนับตัวเลข และกฎเกณฑ์ในเรื่องของการหาตำแหน่งของดวงดาวต่าง ๆ เช่น กฎเกณฑ์ในการผูกดวง โดยใช้คัมภีร์หรือตำราเป็นหลักในการพยากรณ์ เช่น คัมภีร์สุรยาตร์ เป็นคัมภีร์สำหรับคำนวณหาจุดเถลิงศก วัน ยาม ราศี เป็นต้น
  2. ภาคพยากรณ์ เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงกฎเกณฑ์ในการตีความและเชื่อมโยง ความหมายออกเป็นลักษณะของคำทำนาย อาจแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ 1) การพยากรณ์ในด้านอดีต 2) การพยากรณ์ปัจจุบัน และ 3) การพยากรณ์ในด้านอนาคต
  3. ภาคพิธี เป็นการนำหลักของไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หรือเรียกว่า “พิธีสะเดาะเคราะห์” โดยนำพิธีกรรมทั้งของพราหมณ์กับพุทธศาสนามาประสมกันเพื่อให้เกิดศรัทธากับผู้มารับบริการ อนึ่งสำหรับพระสงฆ์นั้นใช้ดูฤกษ์ดี ไม่ดี เพื่อนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาด้วย

สุดถนอม เอี่ยมละออ (2558)[2] ได้สรุปว่า ความเชื่อในโหราศาสตร์ได้รับอิทธิพลมาจากโหราศาสตร์อินเดียซึ่งสาขาหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเคยเรียนเมื่อครั้งเป็นพระราชกุมาร โหราศาสตร์กับสังคมไทยแยกจากกันไม่ออก ในสมัยโบราณการดำเนินชีวิตของบุคคลหรือเหตุการณ์บ้านเมือง โหราศาสตร์จะนำมาใช้อย่างเข้มงวดกวดขัน โดยแสดงออกในรูปของพิธีกรรม ความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณี ตั้งแต่การเกิด การมีคู่ครอง การทำบุญอายุ การตาย การทำศึกสงครา การวางศิลาฤกษ์ฝังเสาหลักเมือง ในพุทธศาสนามีทัศนะอย่างไรบ้างต่อความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์เป็นเรื่องที่ชาวพุทธควรศึกษาเพื่อเพิ่มสติปัญญาบารมีของตนเองและจะได้กำหนดท่าทีที่ถูกต้องต่อโหราศาสตร์อีกด้วย


[1] มานพ นักการเรียน. (2554). พระพุทธศาสนากับความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย.

[2] สุดถนอม เอี่ยมละออ. (2558). การศึกษาวิธีการดำเนินธุรกิจและปัจจัยความเชื่อทางด้านโหราศาสตร์ ประเภทไพ่ยิปซีในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *