ความเชื่อโหราศาสตร์ในสังคมไทใหญ่และบทบาทของความเชื่อโหราศาสตร์

ความเชื่อโหราศาสตร์เป็นความเชื่อที่มีบทบาทในสังคมไทใหญ่มาช้านาน เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ความเชื่อดั้งเดิมของชาวไทใหญ่ ความเชื่อโหราศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากจีนและความเชื่อโหราศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย (พราหมณ์ – ฮินดู) และพุทธศาสนา

ประการแรก ความเชื่อแบบบรรพกาลหรือความเชื่อดั้งเดิม ส่วนใหญ่เป็นความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชติคติผีขวัญ ไสยศาสตร์ รวมถึงการพยากรณ์ด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อนนัก ความเชื่อลักษณะนี้แพร่หลายในกลุ่มใหญ่และกลุ่มชาติพันธ์อื่นก่อนการรับเอาความเชื่อจากวัฒนธรรมภายนอกเข้ามา แต่เดิมไทใหญ่เชื่อว่า สถานที่สำคัญทางธรรมชาติ อาทิ ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ใหญ่ จอมปลวก รวมถึงสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต อาทิ บ้าน เมือง ไร่นา มีผีหรือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เฝ้ารักษาอยู่ ผีเหล่านี้สามารถให้คุณและโทษแก่มนุษย์ได้ มนุษย์จึงต้องเซ่นสรวงเพื่อให้ผีพอใจ และในพิธีกรรมดังกล่าวมักจะมีการทำนาย เพื่อให้ทราบความเป็นไปในอนาคต เช่น ปริมาณผลผลิตในแต่ละปี สภาพดินฟ้าอากาศ และอาจรวมถึงวิธีการรักษาโรคด้วย การทำนายเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการสื่อสารระหว่างผีกับมนุษย์ ต่อมา เมื่อพุทธศาสนาขยายเข้ามาในสังคมไทใหญ่ ความเชื่อเกี่ยวกับผี ถูกลดบทบาทลง และมีการปรับโดยอธิบายความหมายใหม่ให้สอดคล้องกับพุทธศาสนา เช่น ผีที่สถิตอยู่ ณ ต้นไม้ ได้อธิบายใหม่ว่า เป็นรุกขเทวดา ผีเมือง อธิบายใหม่ว่า เป็นภุมมเทวดาหรืออารักษ์ประจำเมือง

ประการที่สอง ความเชื่อโหราศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากจีนและความเชื่อโหราศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย (พราหมณ์ – ฮินดู) ด้วยลักษณะที่ตั้งของชุมชนไทใหญ่ใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญมายาวนาน จึงรับภูมิปัญญาและความเชื่อโหราศาสตร์จากจีนเข้ามาปรับใช้ หากพินิจผ่านการใช้ปฏิทินระบบวันไทของไทใหญ่ และกลุ่มชาติพันธุ์ไทอื่น ๆ จะพบว่า ปฏิทินระบบ 60 วัน ซึ่งแพร่หลายในกลุ่มไทได้รับอิทธิพลจากปฏิทินระบบกานจือของจีน (ทวี สว่างปัญญากุล, 2532) และสิ่งที่น่าสนใจ คือ การปรับเพิ่มคำทำนายประกอบวันทั้ง 60 ในรอบปฏิทิน ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิต สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม คำทำนายไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิต แต่อีกด้านหนึ่ง คำทำนายสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมสังคม โดยเฉพาะในด้านการจัดสรรเวลาและแรงงาน กล่าวได้ว่า ไทใหญ่ได้สร้างชุดข้อตกลงทางสังคมผ่านปฏิทินระบบวันไท โดยใช้ความเชื่อโหราศาสตร์เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการ ถึงแม้ว่า ปัจจุบัน การนับวันตามระบบปฏิทินวันไทจะลดบทบาทลงไปมาก เนื่องจาก ชาวไทใหญ่หันไปใช้ปฏิทินจันทรคติและปฏิทินสากลแทน แต่ทว่าคำทำนายที่ประกอบวันในปฏิทินระบบวันไทยังคงมีบทบาทและมีอิทธิพลต่อการคิดและการตัดสินใจของชาวไทใหญ่ตามหลักความเชื่อโหราศาสตร์ ซึ่งเห็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ปฏิทินระบบวันไทสามารถธำรงอยู่ได้ถึงปัจจุบัน

อิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เป็นความเชื่อสำคัญที่แผ่ขยายจากอินเดีย และเกาลังกา ผ่านมอญและพม่าเข้ามาสู่สังคมไทใหญ่ (หม่องทินอ่อง, 2548) ความเชื่อโหราศาสตร์ที่มีรากฐานมาจากศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เป็นชุคดวามรู้ที่มีความเป็นสากลและได้รับการยอมรับในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เรื่องดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ ที่สามารถอธิบายฤดูกาลในการเพาะปลูก การพยากรณ์ปริมาณน้ำ และผลผลิตที่จะได้ในปีนั้น ๆ ความรู้ที่ทำให้สามารถพยากรณ์ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและอนาคตได้ผ่านหลักวิชาสถิติ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ชนชั้นปกครองนำไปใช้ในการสร้างความชอบธรรมและควบคุมสังคม จากนั้นจึงขยายตัวสู่ชนชั้นใต้ปกครองหรือไพร่ และได้รับความนิยมควบคู่ไปกับความเชื่อผี ยิ่งไปกว่านั้นโหราศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากพราหมณ์ – ฮินดู ยังเป็นแหล่งความรู้ที่อธิบายเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต และเสนอแนะแนวทางแก้ไขเมื่อเกิดปัญหานั้น ความรู้ดังกล่าวไทใหญ่ได้รับอิทธิพลมาปรับสร้างเป็นประเพณีและพิธีกรรมในแต่ละช่วงของชีวิต

ชาวไทใหญ่ได้นำองค์ความรู้ที่เกิดจากความเชื่อโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมซึ่งเป็นปัจจัยภายใน นำมาปรับให้เข้ากับปัจจัยจากภายนอก คือ การรับเอาอิทธิพลความเชื่อโหราศาสตร์จากจีนและศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ที่มาจากอินเดียโดยผ่านมอญและพม่าให้เหมาะสมกับวิถีการดำเนินชีวิต สภาพแวดล้อม สร้างเป็นชุดความรู้ใหม่ทางด้านโหราศาสตร์ขึ้น เช่น วันหัวเข้าหัวออก และวันหัวเรียงหมอน เดิมเป็นความเชื่อเรื่องวันที่กำกับติดอยู่กับปฏิทินระบบวันไท ต่อมาเมื่อไทใหญ่หันมาใช้ปฏิทินแบบจันทรคติ ซึ่งไม่มีความเชื่อเรื่องวันหัวเข้าหัวออก และวันหัวเรียงหมอน แต่ไทใหญ่ไม่อาจละเลยความเชื่อเรื่อง วันทั้ง 2 ประเภทได้ จึงพบว่า มีการให้ปฏิทินระบบจันทรคติ มีความเชื่อเรื่องวันทั้ง 2 ประเภทกำกับอยู่ทั้งเดือนข้างขึ้นและข้างแรม กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการสร้างชุดความเชื่อใหม่ ซึ่งเป็นชุดความเชื่อเฉพาะของชาวไทใหญ่

ประการที่สาม พุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาในสังคมไทใหญ่อย่างน้อย 3 ช่วง ได้แก่ การขยายตัวของพุทธศาสนาเถรวาทในสมัยพุกาม ซึ่งเป็นพุทธศาสนาที่รับอิทธิพลมาจากมอญ แพร่ขยายบริเวณตอนใต้ของรัฐฉานและบริเวณอังวะ แต่ไม่แพร่หลายมาถึงตอนเหนือของไทใหญ่ (เสมอชัย พูลสุวรรณ, 2552) ต่อมา ราวพุทธศตวรรษที่ 22 พุทธศาสนาจากเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชาวไทยวนหรือโยน ได้ขยายเข้ามาสู่ดินแดนไทใหญ่ทางตอนเหนือ โดยมีจุดเริ่มต้นจากเมืองแสนหวีและขยายไปสู่บริเวณอื่น (สมพงษ์ วิทยศักดิ์พันธุ์, 2544) พุทธศาสนาที่เผยแพร่มาจากไทยวน เรียกว่า “เกิงโยน” ใช้อักษรตัวธรรมในการจารคัมภีร์ ในช่วงเวลาที่ไม่ต่างกันมากนัก พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าได้ขยายอำนาจเข้ามาสู่ดินแดนไทใหญ่ โดยมีนโยบายให้เผยแพร่พุทธศาสนาเถรวาทที่มีศูนย์กลางจากพม่าเข้ามาด้วย (หม่องทินอ่อง, 2548) พุทธศาสนาที่ไทใหญ่รับมาจากพม่าเรียกว่า “เกิงม่าน” ใช้อักษรบาลีพม่าในการจารคัมภีร์ ทั้งสองนิกายยังคงมีบทบาทสืบมาถึงปัจจุบัน และพบว่า มีความเชื่อโหราศาสตร์ปรากฏอยู่อย่างเด่นชัดในพุทธศาสนาทั้งสองนิกาย สะท้อนผ่านความเชื่อเกี่ยวกับลักษณะเด่นของความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาทั้ง 2 นิกายผ่านความเชื่อโหราศาสตร์ดังคำกล่าวว่า “อินปะหม่า กะถ่าโยน” (ยันต์ของพม่าและคาถาของโยน (ไทยวน) มาจากความเชื่อโหราศาสตร์ที่เชื่อว่า ตำรายันต์หากจารด้วยอักขระพม่าจะมีความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง และใน่ส่วนของคาถาอาคม หากบริกรรมด้วยอักขระหรือภาษาโยน (ไทยวน) จะมีความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ระหว่างทั้งสองนิกายผ่านความเชื่อโหราศาสตร์ และในขณะเดียวกันก็สะท้อนลักษณะการปรีประนอมของการอยู่ร่วมกันระหว่างพุทธศาสนาทั้งสองนิกายในสังคมไทใหญ่ นอกจากนี้ ยังพบว่า พระสงฆ์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสืบทอดความเชื่อโหราศาสตร์มาถึงปัจจุบัน

ที่มาบทความ ธรรศ ศรีรัตนบัลล์ และนันท์ชญา มหาขันธ์. (2560). การสร้างความเป็นไทใหญ่แม่ฮ่องสอนผ่านความเชื่อโหราศาสตร์. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยธนบุรี. https://www.thonburi-u.ac.th/journal/Document/11-26/Journal11_26_4.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *